หากใครติดตามเว็บไซต์บ้านและสวน คงเคยพอจะเห็นหน้าค่าตาของสถาปนิกท่านนี้จาก CASE Studio มาบ้าง เพราะนอกจากที่อยู่อาศัยของคนทั่วไปแล้ว บ้านและสวนยังให้ความสนใจการออกแบบที่คำนึงถึงผู้มีรายได้น้อยหรือชนชั้นกลาง ที่เราเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิ์ในการมีที่อยู่อาศัยที่ดี ถูกสุขลักษณะ และสามารถตอบโจทย์การใช้งานได้แม้ในพื้นที่จำกัด
รวมไปถึงการทำงานร่วมกับชุมชนที่ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งหนึ่งในสำนักงานออกแบบที่โดดเด่นในประเด็นเหล่านี้คือ CASE Studio นำทีมโดย คุณป่อง-ปฐมา หรุ่นรักวิทย์ ผู้คร่ำหวอดในวงการออกแบบและคลุกคลีอยู่กับการทำงานเชิงทดลองอยู่เสมอ
“ความสนใจเรื่องงานชุมชม เริ่มมาตั้งแต่สมัยเรียน เราจะสนใจงานสเกลเล็ก งานที่เป็นบ้าน งานที่ข้องเกี่ยวกับผู้คนตลอดเวลา ไม่ชอบงานสเกลใหญ่ ตอนไปเรียนต่อต่างประเทศ เราก็ยังสนใจเรื่องบ้านอยู่ พอระหว่างที่ไปเรียนก็จะต้องมาทํางาน ตอนเรียนก็กลับมาทําเรื่องเกี่ยวกับชุมชนคือเราเรียนสถาปัตยกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศโลกที่ 3 ที่ต้องคำนึงถึงผู้อพยพ การออกแบบในภาวะฉุกเฉิน พอใกล้จะจบก็มาทําวิทยานิพนธ์ที่ประเทศไทย แล้วตั้งแต่นั้นก็ทำเรื่องนี้มาเรื่อย ๆ”
ผลลัพธ์คือผลงานการออกแบบที่ภายนอกอาจดูเหมือนอาคารกึ่งสำเร็จรูปพร้อมยก พร้อมย้าย ทว่าถูกจัดการบริหารพิกัดมาแล้วเป็นอย่างดี เพื่อให้บ้านแต่ละหลังตอบโจทย์การใช้งานของเจ้าของบ้านมากที่สุด ภายใต้เงื่อนไขของงบประมาณ ระยะเวลาก่อสร้าง และการเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมต่อระบบแบบโมดูลาร์
ดังจะเห็นได้จากงานออกแบบบ้านตัวอย่าง ภายในงานบ้านและสวนแฟร์ 2022 ที่ออกแบบภายใต้แนวคิด Worthy Living โดยออกแบบเป็นโมดูลาร์ตามขนาดมาตรฐานของวัสดุที่หารลงตัวในขนาดของวัสดุหลากชนิด
นั่นคือ 1.20 เมตร ตัวบ้านก้อนหลักจึงเริ่มต้นที่ขนาด 3.60×3.60 เมตร แต่สามารถเพิ่มขนาดได้ตามต้องการออกไปเป็น 3.60 × 3.60 + 1.20 เมตร หรือจะเป็นการต่อกันสองก้อนที่ 3.60 × 7.20 เมตร ก็ได้ ทำให้เกิดวัสดุเหลือทิ้งน้อยและได้พื้นที่ที่คุ้มค่า พร้อมกับชานเชื่อมต่อได้ในสัดส่วนเดียวกัน
ขณะนี้ room Books ได้ร่วมกับแบรนด์ ตราเพชร เปิดพื้นที่ในการแสดงแนวคิดทางสถาปัตยกรรมในแคมเปญ “3 ARCHITECTS : INNOVATION THROUGH IMAGINATION” ที่เราเชื่อว่างานออกแบบที่น่าสนใจทั้งหมด มีจุดเริ่มต้นจากจินตนาการและแรงบันดาลใจของนักออกแบบ
สำหรับแคมเปญนี้ room Books ชวน คุณป่อง-ปฐมา หรุ่นรักวิทย์ เป็นหนึ่งในสถาปนิกที่มาเล่าถึงแนวคิดการออกแบบในระบบโมดูลาร์ถึงความเป็นไปได้ในอนาคต ที่นอกจากจะเป็นพื้นที่อยู่อาศัยแล้ว ยังสามารถต่อยอดไปยังพื้นที่ธุรกิจ เช่น คาเฟ่ ร้านอาหาร หรือบ้านสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการความเรียบง่าย ก่อสร้างไว มีความปลอดภัย
สตูดิโอที่ทำงานร่วมกับผู้คน
คุณป่องเริ่มพาเราย้อนเวลาไปถึงจุดเริ่มต้นของ CASE Studio ว่าทํางานกับคน กับชุมชนมาตั้งแต่แรก ทำให้การออกแบบในแต่ละครั้งเรื่องของงบประมาณและข้อจำกัดต่าง ๆ จึงถูกนำมาคิดเป็นประเด็นหลักก่อนเสมอ
“พวกเราทํางานกับขีดจํากัดมาตลอด เราจะมองเรื่องนี้เป็นสําคัญ ขีดจำกัดทั้งในเรื่องของงบประมาณ พื้นที่ และอื่น ๆ สิ่งนี้ก็เลยกลายเป็นรูปแบบการทํางานของเรา ด้วยความที่ไม่สามารถละเลยอะไรได้เลย เราจะเสียข้อจำกัดเหล่านี้ไปกับเรื่องไร้สาระไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะตอบโจทย์ได้ดีหรือทําได้ถูกต้องก็คือ เราก็ต้องมองวิถีของคนที่อยู่ตรงนั้นด้วย ไม่ใช่ออกแบบบ้านมาแล้วไม่เหมาะกับคนตรงนั้นหรือครอบครัวนั้น มันก็เสียประโยชน์โดยใช่ที่ ดังนั้นวิถีของคนก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นสําคัญเลยที่เราเน้น ถ้าเราทํางานกับใครก็ตาม เราจะมองเรื่องคนเข้ามาในทุกส่วนของกระบวนการทั้งหมด”
หลายชุมชนหลากเรื่องราวสู่ผลลัพธ์แบบไม่ซ้ำ
เมื่อต้องทำงานกับชุมชนอยู่เสมอ ก็กลายมาเป็นความท้าทายในการทำงาน เนื่องจากแต่ละชุมชนก็มีคาแรกเตอร์ของพื้นที่ที่แตกต่างกัน ความต้องการของผู้คนก็ต่างกัน ทำให้การทำงานแต่ละครั้ง CASE Studio ต้องหาสมการใหม่ ๆ อยู่เสมอ
“การทํางานเชิงทดลองเป็นอะไรเราทําตั้งแต่สมัยทําชุมชนอยู่แล้ว เพราะว่าตอนทำชุมชนขีดจํากัดเยอะมาก ทั้งในเรื่องของงบประมาณ วัสดุ สถานที่ พื้นที่ แม้กระทั่งการคุย การสื่อสารกับคนตรงนั้นก็ค่อนข้างยาก ฉะนั้นด้วยความที่มันจํากัดมาก มันต้องปรับใช้ หาวิธีใช้ทดแทน ก็เลยเกิดวัสดุที่เอามาทดแทน หรือวัสดุที่หาได้ทั่วไปไม่ต้องซื้อหา เริ่มจากการทดลองเยอะมากเลย ใช้ทั้งกล่องนม ถุงพลาสติก ขวด กระป๋อง ป้ายโฆษณา เอาลองมาใช้ เพราะพวกนี้ไม่ต้องซื้อหา เอามาใช้ได้เลย
แล้วแต่ละชุมชนไม่เหมือนกันเลย และพอไม่เหมือนกันเลย ปัญหาต่าง ๆ ก็ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว เวลาทําก็เหมือนเราทํางานสั่งตัด (Taylor Made) เราก็คุยใหม่ คุยให้เข้าใจ เนื้อหาเป็นอย่างไร ปัญหาคืออะไร ขีดจํากัดของชุมชนนี้เป็นอย่างไร คนตรงนี้เป็นอย่างไร แล้วก็หาวิธีทํางานให้เหมาะสม”
ใช้ระบบโมดูลาร์ในการออกแบบที่ยืดหยุ่น
เมื่อแต่ละชุมชนมีความแตกต่างกันทำให้ CASE Studio ต้องหาเครื่องมือกลางในการปรับใช้ไปในแต่ละพื้นที่ให้มีความยืดหยุ่น ก่อสร้างได้รวดเร็ว และสามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทนั้น ๆ
“ถ้ามองในเรื่องของการทํางานชุมชน ในแง่ของการสื่อสาร หากเราสามารถตีความพื้นที่ออกมาเป็นก้อน ๆ ได้มันก็จะสื่อสารง่าย ถ้าอยู่ในกระบวนการออกแบบ จะเรียกว่า Modular ที่พูดในเชิงของขนาดต่าง ๆ ในการที่จะใช้สื่อสาร แต่พอเสร็จแล้วมันไม่ได้ออกมาเป็นบ้าน Modular
ซึ่งตอนหลังที่เรามาพัฒนาหรือมองในเรื่องของบ้านระบบโมดูลาร์ เราย้อนกลับไปเอาโมดูลาร์เพื่อไปตอบโจทย์กับเจ้าของบ้านว่าเขาสามารถที่จะปรับตัวนี้ให้เหมาะสมกับวิถีการใช้ชีวิตในบ้านของเขา เหมาะกับงบประมาณของเขาได้ ซึ่งพอมองในเรื่องของโมดูลาร์ ประเด็นเรื่องวัสดุก็ตามมาทันทีเลย ว่าจะต้องทํางานได้ง่าย เพราะระบบโมดูลาร์คือมีพิกัดชัดเจนอยู่แล้ว สามารถเอามาต่อ ถอดออก ถอดเข้า ประกอบกันได้ ตอบโจทย์เรื่องความรวดเร็วด้วย เพราะฉะนั้นการเลือกใช้วัสดุให้เหมาะสมกับระบบของอาคารที่เราได้ออกแบบไว้ก็สําคัญ
ระบบโมดูลาร์ดีตรงที่สามารถต่อประกอบได้ หมายถึงมันจะเป็นลักษณะเหมือนเล่นตัวต่อ Lego คือในหนึ่งก้อนมันมีขีดจํากัดก็จริง แต่มันต่อกันได้หลายก้อน สมมุติว่าก้อนหนึ่งเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ถ้าไม่พอ มันก็ต่อเพิ่มเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าได้ หรือเอาชานมาเชื่อม มันก็มีอีกเรือนมาต่อได้อีก เพราะฉะนั้น มันค่อนข้างยืดหยุ่น ในเรื่องของการสร้างผัง ทําแปลนบ้าน การสร้าง Space ให้สําหรับผู้อยู่อาศัย”
และเพื่อให้เห็นภาพระบบโมดูลาร์ชัดเจนยิ่งขึ้น คุณป่องจึงขอเล่าผ่านกรณีศึกษา 2 กรณี ที่ทั้งสองโครงการก่อสร้างในเวลาที่ต่างกัน หากยังใช้ระบบโมดูลาร์ร่วมกันในบริบทแวดล้อมและโจทย์ที่ต่างกันได้อย่างน่าสนใจ
บ้านเท็น
“โครงการบ้านเท็น โจทย์เริ่มมาจากคน 10 คน จะมาอยู่ด้วยกันในพื้นที่จํากัด ก็คือประมาณ 234 ตารางวา ตอนคุยเรื่องความต้องการ 10 คนก็ 10 อย่าง ไม่มีอะไรเหมือนกันเลย
พอทํากระบวนการไปสักพักก็จบลงที่ว่า มันต้องมีพิกัดร่วมที่ชัดเจน เราก็เลยใช้พิกัด 4×4 เมตร เป็นการเริ่มต้น ซึ่งจะนำพิกัดที่กําหนดขึ้นนี้มาจัดเรียงให้เหมาะสําหรับ 10 คน ผลลัพธ์ก็เหมือนการเอาก้อนสี่เหลี่ยมขนาด 4×4 เมตร ของแต่ละคนมาประกอบกัน เเล้วก็ไปเชื่อมกับบ้านหลังอื่น ๆ ในระบบเดียวกัน
ซึ่งจริง ๆ ถ้าดูจากที่ดินมีลักษณะเหมือนทาวน์เฮาส์ แต่ละคนก็จะได้หนึ่งล็อก แล้วในหนึ่งล็อกขนาด 4×20 เมตร จะสร้างอย่างไรโดยที่โครงสร้างมันต้องเชื่อมกัน มันก็เลยจบที่ 4×4
เพราะฉะนั้นด้านสกัดเป็น 4 เมตรอยู่แล้ว แต่ในส่วนของความลึกจะวางกล่องตรงไหน เว้นตรงไหน หรือจะเพิ่มด้านไหนกี่กล่อง โดยกล่องที่กล่าวถึงคือคอนกรีต ที่สามารถเอามาเชื่อมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นเชื่อมผนังเชื่อม หรือที่ว่างเชื่อมกัน หรือผนังเชื่อมกับที่ว่างในพิกัดที่เรากําหนดไว้”
Tsumiki Udonthani
“โครงการนี้คือบ้านของคุณกีร์และครอบครัวที่จังหวัดอุดรธานี เป็นงานที่เราเริ่มทํา Tsumiki ซึ่งถ้าแปลเป็นไทย ก็คือบ้านบล็อกไม้ โดยเราคิดถึงเรื่องระบบโมดูลาร์ตั้งแต่ต้น เริ่มจากว่าเรามีก้อนพิกัดอย่างนี้ แล้วก็คุยกับเจ้าของบ้าน จากนั้นก็เอาก้อนพวกนี้มาจัดเรียงกันให้ได้บ้านตามที่เขาต้องการ ที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตเขา มันก็เลยออกมาเป็นบ้านโมดูลาร์แบบชัดเจน ซึ่งหลังนี้เป็นโครงการแรกที่เราทดลองทํา เริ่มตั้งแต่ตอนออกแบบมันมาจากกล่อง ที่เอามาคลี่คลาย เอามาประกอบกัน พอเสร็จแล้ว ในแต่ละก้อนก็ประกอบไปด้วยวัสดุและลักษณะของการสร้าง เรื่องโครงสร้าง เทคนิค วิธีการก่อสร้างเป็นระบบโมดูลาร์ซึ่งค่อนข้างชัดมากกว่าบ้านเท็น เพราะมันออกมาในรูปแบบตั้งแต่ต้น ส่วนบ้านเท็นมันจะเริ่มจากแปลน”
ต่อยอดระบบโมดูลาร์สู่พื้นที่เชิงพาณิชย์
ด้วยรูปแบบของระบบโมดูลาร์ที่มีความยืดหยุ่น ส่งผลให้การออกแบบพื้นที่มีความยืดหยุ่นตามไปด้วย ก่อให้เกิดการต่อยอดแตกหน่อไปสู่อาคารใช้งานประเภทอื่น ๆ ได้มากกว่าที่อยู่อาศัย
“รูปแบบของพื้นที่ที่เกิดขึ้น มันเกิดได้หลากหลายมากเลย เพราะฉะนั้นพอมันได้หลากหลาย ก็สามารถทําได้เป็นหลาย ๆ สิ่ง จากที่เคยคุยกับเจ้าของบ้านหลายท่านเขาก็มองในเชิงว่าไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย บางทีก็บอกว่า ในอนาคตเขาขอทําเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ หรือที่เจอบ่อยที่สุดก็คือเอาแบบที่ให้คนแก่สามารถอยู่ได้โดยปลอดภัย เหมาะสมสําหรับสําหรับผู้สูงอายุ
ตอนนี้เราทําบ้านหลายหลังมากเป็นบ้านเตรียมเกษียณ ก็มานั่งคุยกันเรื่องการเข้าถึงจะใช้เป็นทางลาดทุกหลังเลย เอื้อกับผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็นหรือแม้กระทั่งคนปกติธรรมดายังแข็งแรง เวลาขนของมันลากขึ้นลากลงได้โดยง่าย อันนี้เป็น core concept ของเราอยู่แล้ว นอกจากว่าถ้าเขาต้องการบันได เขาจะทําบันไดเอง”
ภาพ: Spaceshift Studio, อนุพงษ์