Aluminum Grotto and Public Ground สถาปัตยกรรมหุบเขาจากอลูมิเนียม-room

Aluminum Grotto and Public Ground สถาปัตยกรรมหุบเขาจากอลูมิเนียม

” Aluminum Grotto and Public Ground ” เป็นงานสถาปัตยกรรมที่ออกแบบอย่างพิถีพิถัน โดยคำนึงถึงทั้งรูปลักษณ์ทางสามมิติ ศักยภาพวัสดุ และความลื่นไหลของการใช้งาน ถูกสร้างขึ้นในงานนิทรรศการสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ 2024 (ASA Architect Expo 2024) ซึ่งเกิดจากการร่วมมือกันระหว่างบริษัทอลูมิเนียมของไทย S-ONE Group และ KIN โดยมี HAS Design and Research เป็นผู้ออกแบบ 

Aluminum Grotto and Public Ground พื้นที่นี้ผู้ออกแบบตั้งเป้าหมายให้พื้นที่นี้ไม่พียงสะท้อนสถานะของประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์โลหะรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่พักผ่อนสำหรับสาธารณะในงานสถาปนิกสยาม ในโอกาสครบรอบ 90 ปี (ASA 90th Anniversary Architect Expo) ซึ่งเปิดให้ผู้คนที่เดินผ่านไปมานั่งเสวนาแลกเปลี่ยน  ทำให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่กิจกรรมที่มีการแลกเปลี่ยนแนวคิดและการเรียนรู้อย่างหลากหลาย 

Aluminum Grotto and Public Ground

จากแนวคิดนี้ HAS Design and Research ได้เสนองานออกแบบที่เป็นนวัตกรรมจากวัสดุสมัยใหม่ ลักษณะคล้ายถ้ำในหุบเขา ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติท่ามกลางความคึกคักและแออัดของงานแสดงนิทรรศการ  อาคารชั่วคราวนี้ไม่เพียงแต่สร้างบรรยากาศเทียบเคียงอดีตที่คนไทยเคยพึ่งพาภูมิทัศน์ธรรมชาติในการอยู่อาศัยและดำรงชีวิต แต่ยังสะท้อนถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่พื้นที่สีเขียวเปิดโล่งเฉลี่ยต่อหัวประชากรในกรุงเทพมหานครมีเพียง 6.99 ตารางเมตร ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดไว้ที่ 9 ตารางเมตร 

Aluminum Grotto and Public Ground
Aluminum Grotto and Public Ground

โครงสร้างนี้ยกสูงเพื่อสร้างพื้นที่เปิดโล่งด้านล่าง ซึ่งก่อให้เกิดพื้นที่ ที่เรียกว่า “gray space” เป็นจุดดึงดูดความสนใจให้ผู้คนภายนอก และผสานพื้นที่แวดล้อมระหว่างพื้นที่ทั้งภายในกับภายนอกเข้าหากัน การออกแบบนี้ยังสะท้อนถึงพื้นที่อเนกประสงค์ “ใต้ถุน” ของเรือนไทยโบราณอีกด้วย บรรยากาศในพื้นที่ที่คล้ายกับถ้ำนี้ไม่เพียงแต่เอื้อการใช้งานด้านการศึกษา การเรียนรู้ และการจัดฟอรั่มเท่านั้น แต่ยังสร้างบรรยากาศทางประสาทสัมผัสที่พิเศษและไม่เคยมีมาก่อนอีกด้วย 

อาคารชั่วคราวนี้สร้างขึ้นจากแท่งอลูมิเนียมหลายแสนแท่ง มีแนวคิดการออกแบบซับซ้อน โดยตั้งใจสะท้อนการผสานกันของพื้นผิววัสดุ โครงสร้าง และฟังก์ชันที่หลากหลาย ซึ่งเรียกว่า “Total-ness Design” โดยแท่งอลูมิเนียมนี้ แต่ละแท่งมีความยาวที่ไม่เท่ากัน ทุกแท่งถูกตัดและประกอบอย่างพิถีพิถันโดยช่างฝีมือ ซึ่งชวนให้นึกถึงความประณีตในงานฝีมือของวัดไทย ท่ามกลางการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว จึงเรียกว่าเป็นแนวคิดที่พยาามผสมผสานประเพณีดั้งเดิมกับความร่วมสมัย เสมือนได้กลับมาค้นพบงานฝีมือท้องถิ่นที่มีศักยภาพในเวลาปัจจุบัน 

พื้นที่นี้ยังได้รับรางวัล “Thematic Pavilion of the Year Award” ในงานนิทรรศการสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ 2024 (ASA Architect Expo 2024) ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับบริษัท TTF International Company Limited รางวัลอันทรงเกียรตินี้เน้นย้ำถึงผลงานผู้ออกแบบ Jenchieh Hung และกุลธิดา ทรงกิตติภักดี จาก HAS Design and Research ซึ่งนำเสนอมุมมองใหม่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ และแนวโน้มการอยู่อาศัยในอนาคต สถาปัตยกรรมของพวกเขามุ่งเน้นความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างธรรมชาติและโครงสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยมีเป้าหมายในการสร้างสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ที่ผสมผสานเข้ากับเมืองได้อย่างกลมกลืน


ออกแบบ: HAS design and research
Lead architects: Jenchieh Hung, Kulthida Songkittipakdee.



ภาพ: SkyGround architectural film & photography

Forest Villa บ้านโมเดิร์นกลางธรรมชาติ ที่พลิกมุมมองการอยู่อาศัยของครอบครัวจีนยุคใหม่