บ้านต่างจังหวัด ใช้ตากอากาศหลังนี้ เป็นของกราฟิกดีไซเนอร์ที่มีความต้องการสร้างบ้านพักตากอากาศเป็นของตนเอง เพื่อค้นหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ในการทำงาน และสำหรับไว้ใช้พักผ่อนหนีความวุ่นวายจากเมืองใหญ่ สู่อ้อมกอดของธรรมชาติในเมืองแห่งขุนเขา
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: IS Architects
โดยเจ้าของได้เลือกทำเลสร้าง บ้านต่างจังหวัด ที่ค่อนข้างท้าทายอยู่ไม่น้อย กับสถานที่ซึ่งตั้งอยู่ติดกับทางหลวง และมีลักษณะเป็นเนินเขาลาดเอียงจากทิศตะวันออกไปตะวันตก กับวิวที่มองเห็นทุ่งนาสีเขียวในฤดูฝนก่อนจะเปลี่ยนเป็นรวงข้าวสีทองในฤดูหนาวเพื่อรอการเก็บเกี่ยว เปรียบเสมือนภาพวาดศิลปะแนวธรรมชาติที่มีชีวิต
แม้สถานที่จะเป็นทำเลน่าประทับใจ แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีอุปสรรคให้สถาปนิกจาก IS Architects ในการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อลดอุปสรรคด้านการใช้งานอาคารที่ต้องมาพร้อมกับความสวยงาม ความปลอดภัย สอดประสานการอยู่อาศัยในรูปแบบสมัยใหม่เข้ากับวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม เนื่องจากตัวบ้านต้องตั้งอยู่ตามลักษณะของเนินดินที่มีความลาดชันสูง แนวอาคารจึงต้องขนานไปกับระดับความลาดชัน เพื่อควบคุมงานโครงสร้างไม่ให้เกิดความซับซ้อนในด้านวิศวกรรม แล้วจัดเรียงฟังก์ชันตามลำดับความสำคัญ
จากทางเข้าหลักสิ่งแรกที่จะได้พบเห็น ก็คือสวนเล็ก ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาการอยู่ติดกับถนนทางหลวง การวางตำแหน่งของอาคารจึงต้องออกแบบให้เว้นระยะห่างประมาณ 1 เท่าของความสูงอาคาร แล้วเว้นพื้นที่ไว้ให้กับงานออกแบบภูมิทัศน์และการปลูกต้นไม้ เพื่อช่วยกรองมลภาวะทางเสียงและฝุ่นควัน และทำหน้าที่ยืดระยะทางการเดินเข้าสู่ตัวบ้าน ปรับสภาวะจิตใจก่อนเข้าสู่พื้นที่ภายในบ้าน พร้อมกันนั้นยังสร้างกำแพงแนวยาวช่วยให้เกิดความเป็นส่วนตัวจากภายนอก และบังคับทิศทางลมในการนำพากลิ่น หรือควันจากการทำอาหารให้พัดออกไปตามทิศทางลมประจำถิ่น ช่วยไม่ให้รบกวนพื้นที่อยู่อาศัย นับเป็นการใช้ลมธรรมชาติให้เป็นประโยชน์เกิดสุขภาวะที่ดี
ด้านการออกแบบทางสัญจรของบ้าน มีทั้งบันไดด้านนอกที่สามารถเดินลงมายังพื้นที่สวนหลังบ้านได้เลยโดยไม่ต้องเดินผ่านภายในบ้าน สำหรับทางสัญจรในบ้านสถาปนิกได้วางตำแหน่งเส้นทางสัญจรทั้งทางราบและทางสัญจรทางตั้งให้สัมพันธ์กัน โดยมีบันไดทอดยาวจากทิศเหนือไปทิศใต้ แล้วขึ้นไปยังชั้น 2 โดยมีการออกแบบพื้นที่ไว้เพื่อให้ความรู้สึกคล้ายกับทางเดินในห้องจัดแสดงงานศิลปะ เป็นพื้นที่สำหรับพักความรู้สึกต่าง ๆ สู่การพักผ่อนที่ต้องการความสงบนิ่ง
ฟังก์ชันภายในบ้านจะพบกับพื้นที่นั่งเล่นที่เชื่อมต่อกับทั้งครัวและห้องทำงานศิลปะ รวมถึงระเบียงภายนอกขนาดใหญ่ช่วยให้ผู้ใช้พื้นที่ได้ปลดปล่อยจินตนาการไปกับศิลปะและธรรมชาติ การวางตำแหน่งระเบียงขนาดใหญ่ให้อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้นี้ ทำให้สามารถหันหน้ารับวิวธรรมชาติอย่าง วิวนาข้าว และต้นไม้ริมไหล่เขาที่สวยงามเต็มตา แถมยังเปิดรับแสงแดดยามเย็นให้เข้ามามีส่วนร่วมกับสถาปัตยกรรม เกิดความเคลื่อนไหวของแสงเงาตกกระทบราวกับงานศิลปะที่มีพระอาทิตย์เป็นจิตรกรมือเอก
ทั้งยังได้ใช้หลักของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ ให้ลมธรรมชาติรวมไปถึงแสงแดดเข้ามาช่วยลดความชื้น อากาศปลอดโปร่ง เพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้อยู่อาศัย พร้อมกันนั้นยังเน้นแนวคิดการนำสถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่น มาผสมกับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ผ่านรูปทรงอาคารที่เรียบง่าย โดยใช้อัตลักษณ์วัสดุพื้นถิ่นมาร่วมในการออกแบบ เช่น วัสดุมุงหลังคา งานไม้เก่า งานโครงสร้างไม้ตกแต่ง กระเบื้องดินเผาสีน้ำตาลเทา กระเบื้องเคลือบสีเขียว งานหินขัด และทรายล้าง มาสร้างสรรค์ โดยผ่านฝีมือช่างท้องถิ่นผสานเข้ากับรูปทรงและพื้นที่ใช้สอยทันสมัย
การทำงานครั้งนี้ จึงนับว่าเป็นการช่วยพัฒนาฝีมือของช่าง และสามารถดึงศักยภาพความชำนาญของช่างออกมา ทำให้เกิดความพิเศษและความงามในงานสถาปัตยกรรม ซึ่งปรากฏผ่านกายภาพภายนอก ช่วยให้ผู้พบเห็น หรือผู้คนในท้องถิ่นรับรู้ถึงความร่วมสมัยของสถาปัตยกรรมที่อยู่กับบริบทได้อย่างลงตัวไม่แปลกแยก
เป็นเสมือนสิ่งช่วยสะท้อนเรื่องราวที่ว่า เมื่อธรรมชาติดลบันดาลสรรพสิ่งให้กับบ้าน เจ้าของบ้านและสถาปนิกจึงเลือกที่จะเปิดรับสิ่งเหล่านี้อย่างเต็มที่ ดังนั้น การจัดการกับจุดด้อยให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด และการผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมสมัยใหม่กับกลิ่นอายความเป็นพื้นถิ่นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของบ้านหลังนี้
ออกแบบ-ตกแต่ง: IS Architects
ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม: DipdeeDesign Studio Limited
ภาพ: Rungkit Charoenwat
เรียบเรียง: Phattaraphon