Little Ground Common Spaces Cafe คาเฟ่อุดร ใต้เงาไม้ใหญ่ - room

Little Ground Common Spaces Cafe คาเฟ่ไม้ ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ พื้นที่พบปะกลางแจ้งในเมืองอุดร

เปลี่ยนที่ดินรกร้างให้กลายเป็นที่พบปะกลางแจ้งของชาวเมืองอุดร กับ คาเฟ่ไม้ หลังเล็ก Little Ground Common Spaces Cafe สถานที่ที่จะทำให้ทุกคนได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศแสนร่มรื่น ท่ามกลางสนามหญ้าและต้นไม้ใหญ่ที่ผสานตัวอาคารเข้ากับพื้นที่สวนให้บรรยากาศแสนผ่อนคลาย

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Poonsook Architects

Little Ground Common Spaces Cafe คือ คาเฟ่ไม้ ที่สร้างขึ้นบนที่ดินขนาด 2 ไร่ ในเขตเมืองอุดรธานี ที่เจ้าของตั้งใจเปลี่ยนที่ดินว่างเปล่าอันรกครึ้มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะกลางแจ้ง หรือที่นิยามว่าเป็น “Public Play Space” ที่เปิดให้คนอุดรได้เข้ามาใช้งานและทำกิจกรรมนอกบ้านร่วมกัน โดยมีอาคารในร่มคือคาเฟ่ไม้ขนาดพอเหมาะสำหรับนั่งพัก หรือคุยงาน ออกแบบโดย Poonsook Architects และพื้นที่สวนออกแบบโดยคุณวัชรพงศ์ พาดี จาก PAD

ที่ดินของคาเฟ่อยู่ใกล้กับสวนสาธารณะหนองบัว กลางอำเภอเมืองอุดรธานี อันเป็นที่ดินที่ถูกทิ้งร้าง มีลักษณะเป็นแนวยาวลึก ด้านหน้าที่ติดกับถนนมีความกว้างประมาณ 5 เมตร และลึกเข้าไป 45 เมตร ภายในที่ดินมีต้นไม้ใหญ่ของเดิมตั้งอยู่ ด้านหน้าทางเข้าเป็นซุ้มอุโมงค์ต้นไม้ อันเป็นจุดเด่นของโครงการ

เมื่อแสงแดดพาดผ่านต้นไม้ใหญ่ลงมาจะเกิดร่มเงา โดยมีแสงและเงากระทบลงบนพื้นที่ภายใน เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้สถาปนิกเลือกเก็บต้นไม้ใหญ่นี้ไว้ให้เคียงคู่ไปกับการออกแบบอาคาร โดยออกแบบผังที่ดินออกเป็น 3 โซน ได้แก่ ส่วนคาเฟ่ที่อยู่ติดกับถนนด้านหน้าทางเข้า ต่อมาเป็นพื้นที่สวน หรือ Common Space อยู่ตรงกลาง และมีร้านอาหารอยู่ด้านในสุดของที่ดิน แบ่งเฟสการก่อสร้างในปัจจุบันเริ่มจากส่วนคาเฟ่และสวนตรงกลางก่อน โดยออกแบบที่จอดรถไว้ด้านถัดจากสวนให้รถเข้ามาจอดได้ และสามารถเข้าถึงทุกพื้นที่ของตัวโครงการได้สะดวก

ตัวอาคารออกแบบโดยใช้โครงสร้างฐานเป็นคอนกรีต ขึ้นเสาด้วยเหล็ก วางตัวอาคารให้รับกับต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่เดิม จากแนวที่ดินบิดตัวอาคารเล็กน้อยเพื่อให้บังแสงแดดช่วงบ่าย

อีกทั้งยังเปิดพื้นที่ให้รถสามารถสัญจรเข้าไปด้านในของที่ดินได้ที่ด้านข้าง จุดเด่นของอาคารคาเฟ่เมื่อมองจากภายนอกจะเห็นผนังไม้ขนาดใหญ่ โดยเป็นผนังที่สูงถึง 5.5 เมตร ที่ใช้เป็นแนวสร้างความโดดเด่นให้พื้นที่ภายนอกกับกั้นพื้นที่ภายในร้านไปในตัว

ผนังนี้กรุด้วยไม้เก่าที่ไม่ได้ขัดผิวหน้าไม้ จัดเรียงซ้อนเป็นเหมือนกับบานเกล็ด มีผลลัพธ์น่ามองด้วยเป็นสีตามธรรมชาติของไม้จริง ๆ ช่วยสร้างบรรยากาศของตัวอาคารให้เป็นส่วนหนึ่งไปกับต้นไม้ใหญ่โดยรอบ รายละเอียดการออกแบบอาคารให้ได้ผลลัพธ์ดังกล่าว ส่วนหนึ่งเกิดจากกระบวนการคุยร่วมกันระหว่างสถาปนิกกับช่างไม้ และทดลองทำต้นแบบที่หน้างานจริง ๆ ท้ายที่สุดก็ทำให้ได้ผนังอันโดดเด่นที่ได้กลายเป็นจุดเด่นของร้านที่คนมักจะมาถ่ายรูปด้วย

ทางเข้าคาเฟ่ออกแบบเป็นทางลาดเชื่อมต่อกับชานและพื้นที่กลางแจ้งของร้าน เป็นไอเดียที่สถาปนิกบอกว่า หากมีเด็ก ๆ หรือสัตว์เลี้ยงมาก็สามารถวิ่งไปเล่นที่สนามหญ้าได้เลยโดยไม่ต้องเข้าไปด้านในร้าน ส่วนพ่อแม่ก็สามารถแยกเข้าไปสั่งเครื่องดื่มด้านใน แล้วมองผ่านกระจกใสออกมาเห็นลูก ๆ หรือสัตว์เลี้ยงของตนได้

โครงสร้างหลังคาออกแบบให้ลาดเอียงเข้ามาที่ฝั่งสวน เมื่อเข้าไปด้านในร้านจะสามารถรับรู้ได้ถึงสเปซของสวนที่อยู่ภายนอก ด้วยมุมมองที่เป็นเหมือนกับกรอบรูปแนวนอนที่ชี้ชวนไปยังวิวสีเขียวด้านนอก ให้ความรู้สึกเหมือนกับได้นั่งอยู่ในป่า และเมื่อเข้าสู่ช่วงเวลาประมาณบ่ายสามโมงครึ่ง พื้นที่สวนก็จะค่อย ๆ เริ่มร่มขึ้นจากเงาของต้นไม้ใหญ่ และอาคารช่วยกันบังแดด ช่วยให้ผู้ที่มาใช้งานก็จะเริ่มออกไปนั่งเล่นที่ชานด้านนอกอาคารและไปเดินเล่นที่สนามหญ้าได้เช่นกัน

ในส่วนของการออกแบบสวน องค์ประกอบสำคัญที่ต่อเนื่องจากการออกแบบตัวอาคาร ภูมิสถาปนิกคือ คุณวัชรพงศ์ พาดี จาก PAD ได้ออกแบบเส้นสายของสวนมาจากการวางตัวอาคารที่บิดจากแนวที่ดินเล็กน้อย จึงใช้เส้นเรขาคณิตมาแบ่งสเปซของสนามหญ้าออกให้มีลักษณะคล้ายกับแบ่งเป็นห้องแต่ละห้องให้ตรงกลางเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุด ส่วนสเปซอื่น ๆ แบ่งย่อย ๆ โดยใช้วัสดุที่แตกต่างกัน

พื้นที่วิ่งเล่นสำหรับเด็กออกแบบให้เป็นเหมือนเนินภูเขาขนาดย่อมอยู่ฝั่งตรงข้ามกับตัวอาคาร โดยแยกส่วนให้เด็กโต และเด็กเล่นเล่นแยกกัน พร้อมกับมีพื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยง โดยออกแบบรั้วเตี้ย ๆ กั้นไว้สำหรับคนที่ไม่ชอบสัตว์ และยังมีการแยกโซนสำหรับสัตว์เลี้ยงที่ค่อนข้างซนออกจากตัวอื่น ๆ อีกด้วย

องค์ประกอบและวัสดุแต่ละจุดที่ใช้ในสวน เช่น รั้วกั้น ใช้วัสดุเดียวกับที่ใช้กับอาคารคาเฟ่ ทำให้เกิดบรรยากาศที่กลมกลืนกัน สำหรับต้นไม้หลักก็ใช้เป็นต้นไม้ใหญ่ของเดิมที่มีอยู่แล้ว แทรกด้วยพรรณไม้ท้องถิ่น เช่น ทองกวาว เสี้ยวดอกขาว พะยอม ทำให้ไม่ต้องดูแลมาก

บรรยากาศโดยรวมของคาเฟ่แห่งนี้ จึงเป็นเหมือนกับสนามหญ้าหลังบ้านขนาดย่อมให้คนได้เข้ามาเดินเล่น ที่สามารถพาลูกๆ หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงให้เข้ามาวิ่งเล่นได้อย่างอิสระ เป็นพื้นที่ให้ผู้คนได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ พาตัวเองออกจากโลกของหน้าจอ หรือห้องสี่เหลี่ยมออกไปเหยียบสนามหญ้า สัมผัสกับผืนดินและต้นไม้ใหญ่ มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและสิ่งแวดล้อมรอบตัว พร้อมกับการได้ดื่มกาแฟแก้วโปรด อันเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการหาสถานที่พักผ่อนในวันหยุดของชาวเมืองอุดรที่จะต้องเป็นที่นิยมมากขึ้นอย่างแน่นอน

ที่ตั้ง
Little Ground Common Spaces Cafe
139/4 รอบสวนสาธารณะหนองบัว อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
พิกัด: https://maps.app.goo.gl/oA1a36bi523qVGjH9
ร้านเปิดทุกวัน 10.00 – 18.00 น. โทร. 06-3929-6993
.
เรื่อง: Natthawat Klaysuban
ภาพ: PanoramicStudio


HOTEL MOCO โรงแรมสไตล์โคโลเนียลกลางเมืองอุดรธานี