CAPA Dance Studio สตูดิโอสอนเต้น ออกแบบตามจังหวะของนักเต้น

CAPA Dance Studio สตูดิโอสอนเต้น ออกแบบตามจังหวะการเคลื่อนกายของนักเต้น

ที่นี่คือพื้นที่ปลดปล่อยพลังของนักเต้น CAPA Dance Studio แห่งนี้ ได้รับการออกแบบให้มีจังหวะของสเปซลื่นไหลตามการโยกย้ายของร่างกาย อาคารตั้งอยู่อย่างถ่อมตนใต้ร่มเงาไม้ บนที่ดินผืนหนึ่งในตำบลสันผีเสื้อ จังหวัดเชียงใหม่

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: MITR ARCHITECTS
ตกแต่ง: Studio Sifah

โดยผู้ริเริ่มโปรเจ็กต์นี้คือเจ้าของโครงการอย่าง คุณไฟฟ้า เปรมประชา ครูสอนเต้นผู้เก็บประสบการณ์การสอนมายาวนานในกรุงเทพฯ ที่ใฝ่ฝันอยากเปิดสตูดิโอสอนเต้นของตัวเอง เพื่อถ่ายทอดทักษะการเต้นให้คนทุก ๆ วัย พร้อม ๆ กับการได้กลับคืนบ้านเกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ และดูแลพ่อแม่อย่างใกล้ชิด

อาคารวางตัวในแนวราบขนานไปกับแลนด์สเคปและต้นไม้เดิมที่มีในไซต์ เพื่อเชื่อมบรรยากาศภายนอกเข้าสู่ภายใน
มุมมองในส่วนต้อนรับ โปร่งโล่งเพราะรับทิวทัศน์ผ่านกระจกใสโดยรอบ
พื้นที่นั่งสำหรับผู้ปกครองบริเวณโซนต้อนรับ สามารถมองเห็นพื้นที่สีเขียวรอบ ๆ โครงการได้
ระเบียงด้านนอกยื่นออกมาสัมผัสธรรมชาติโดยรอบ เป็นพื้นที่ผ่อนคลายสำหรับผู้ที่เรียนเต้นและผู้ปกครอง ใช้เฟอร์นิเจอร์สีเทา-เงินช่วยสร้างความกลมกลืนไปกับอาคารและบรรยากาศโดยรวม

สถาปนิกจากเชียงใหม่ Mitr Architects ร่วมด้วยนักออกแบบภายใน Studio Sifah เริ่มร่างงานออกแบบด้วยการเรียนรู้การเคลื่อนไหวของนักเต้น และสัมผัสความรู้สึกที่ส่งออกมาจากท่าทางของการขยับร่างกาย เพื่อดีไซน์สู่อาคารที่มีฟังก์ชันในการรองรับการเต้นทุกสไตล์ ทั้งบอร์ดเวย์ บัลเล่ต์ แจ๊ส เคป๊อป ฮิปฮ็อป และโยคะ ขณะเดียวกันบรรยากาศและอารมณ์ที่อบอวลภายในอาคารต้องส่งความรู้สึกให้ผู้เต้นเกิดความมั่นใจและสบายใจ จนสามารถปล่อยปลอยพลังได้อย่างไม่เคอะเขิน ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถแบบใดก็ตาม

เจาะช่องแสงสกายไลต์เพิ่ม เพื่อดึงแสงธรรมชาติเข้ามาในอาคารที่มีโถงสูงร่วมกับบานกระจกที่กรุโดยรอบ

ทิวทัศนธรรมชาติที่แวดล้อมและต้นไม้เดิมที่มีในไซต์ คือข้อได้เปรียบในแง่บริบทที่ตั้งของสตูดิโอแห่งนี้ ขณะเดียวกันการออกแบบอาคารให้เคารพต่อบริบทและดูไม่แข็งกร้าวกลืนไปกับธรรมชาติรอบ ๆ ได้กลายเป็นความท้าทายที่ผู้ออกแบบต้องนำมาขบคิดร่วมกับการออกแบบฟังก์ชั่นอาคารให้สอดคล้องกับลักษณะการเต้น จึงได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นอาคารในลักษณะแนวราบขนานไปกับวิวภูเขาด้านหลังที่อยู่ไกลออกไป

ตัดองศาของหลังคาให้ลาดเอียงเพื่อไม่ให้อาคารดูเทอะทะ โดยยังดึงจุดเด่นและเพิ่มมิติด้วยไดนามิกที่สูง-ต่ำของอาคารซึ่งตีความมาจากจังหวะการเต้น เจาะช่องเปิดที่กรอบอาคารและสกายไลท์ให้ต้นไม้และธรรมชาติได้ไหลเข้ามาสอดประสานพื้นที่ภายใน ร่วมกับการใช้ร่มเงาของต้นไม้ในการกำหนดบรรยากาศที่ทำให้ความรู้สึกผ่อนคลายเมื่อกำลังเต้น ก่อนจะฉาบอาคารทั้งหลัง และทาทับด้วยสีขาว – เทาเพื่อให้ดูเป็นมิตรเช่นเดียวกับบริบทที่ตั้ง

ห้องสอนเต้นรับแสงธรรมชาติผ่านร่มไม้ กรุพื้นระบบ Sprung Floor ภายในประกอบด้วยวัสดุปูพื้น 3 ชั้น มีไม้สานกันสอดอยู่ด้านในช่วยซับแรงกระแทกสำหรับการเต้นโดยเฉพาะ
สตูดิโอเรียนเต้นฮิปฮ็อป ปรับมู้ดและโทนให้ดูเท่ผ่านฝ้าสีดำและงานออกแบบแสงเข้ากับสไตล์การเต้น

นอกจากความใส่ใจต่อการออกแบบอาคารให้เคารพต่อบริบทแล้ว การออกแบบสเปซภายในให้นักเต้นสามารถแสดงทุกอิริยาบถได้นำมาสู่โจทย์ข้อถัดมา โดยผู้ออกแบบได้เลือกที่จะปล่อยสเปซภายในให้โล่งและยืดโถงสูง เพื่อให้พื้นที่มากพอต่อการกระโดดและเคลื่อนไหว เน้นการใช้เส้นสายและองค์ประกอบที่เรียบง่าย ไม่หวือหวา เพื่อให้เกิดบรรยากาศสบาย ๆ แก่ผู้ที่เรียนเต้นทุก ๆ วัย ไม่ว่าจะเด็ก หรือผู้ใหญ่ก็ตาม

ใช้เส้นโค้งไปกับองค์ประกอบของงานออกแบบและโลโก้ เพื่อสื่อถึงสตูดิโอสอนเต้นที่เป็นมิตร 
โซนต้อนรับอยู่ติดกับประตูทางเข้า ทำให้ลูกค้าสามารถติดต่อกับครูสอนเต้นและเจ้าหน้าที่ได้ง่ายเมื่อเดินเข้ามา

จากนั้นแบ่งพื้นที่ภายในออกเป็น 3 ห้อง ที่ออกแบบตกแต่งภายในต่างกัน เพื่อรองรับการเต้นในแต่ละสไตล์ โดยออกแบบให้ทุกห้องที่เป็นสตูดิสอนเต้นเป็นโถงยืดสูง ก่อนค่อย ๆ ลดระดับลงมาในพื้นที่ห้องอื่น ๆ ที่เป็นฟังก์ชันพื้นฐาน เช่น ห้องต้อนรับ ห้องพักครู ห้องแต่งตัว และโถงทางเดิน ซึ่งทั้งหมดก็เกิดจากการตีความไดนามิกสูงต่ำของการเต้น จนสำเร็จออกมาเป็นภาพรวมของอาคารที่ดูมีมิติและสมดุล

กรุกระจกให้คนนอกมองเห็นกิจกรรมภายในโดยไม่เกิดการรบกวนคนที่เรียนเต้น

นอกจากนี้ ภายในยังมีองค์ประกอบเสริมที่ช่วยให้นักเรียนทุกคนเกิดความรู้สึกที่ปลอดภัยและมั่นใจขณะเต้น เช่น พื้นของอาคารที่ควรมีความยืดหยุ่นและลดแรงกระแทกเมื่อกระโดด และไม่ทำให้คนเรียนเต้นเกิดอาคารบาดเจ็บง่าย ในส่วนนี้ผู้ออกแบบได้ทำงานร่วมกับเจ้าของที่เป็นครูสอนเต้นมืออาชีพ นำมาสู่การใช้พื้นที่มีระบบ Sprung Floor ที่ภายในประกอบด้วยวัสดุปูพื้น 3 ชั้น มีไม้สานกันสอดอยู่ด้านในช่วยซับแรงกระแทกสำหรับการเต้นโดยเฉพาะ

ใช้เฟอร์นิเจอร์บิวท์อินช่วยเพิ่มสเปซภายในให้กว้างขวาง เหมาะแก่การเรียนเต้น

แล้วติดกระจกขนาดใหญ่ไว้ในสตูดิโอสอนเต้น ให้ผู้เรียนสามารถมองเห็นทั้งตัวเองและผู้ปกครอง ช่วยลดความตื่นเต้นเมื่อจะต้องแสดงโชว์บนเวที จากนั้นดึงธรรมชาติให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวร่างกายผ่านหน้าต่างบานกระจก นอกจากนี้ ยังออกแบบชั้นดาดฟ้าให้เป็นลานแสดงโชว์ ให้ผู้เรียนสามารถซ้อมเต้นก่อนขึ้นแสดงจริงได้อีกด้วย

บันไดขึ้นไปสู่พื้นที่ซ้อมเต้นบนชั้นดาดฟ้า
(ซ้าย) คุณไฟฟ้า เปรมประชา เจ้าของโครงการ และ (ขวา) คุณวรรัตน์ รัตนตรัย สถาปนิกจาก Mitr Architects

CAPA Dance Studio นับเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมที่เล่าเรื่องราวเป็นหนึ่งเดียวกับการเคลื่อนไหวร่างกายของนักเต้น เพื่อสื่ออารมณ์และความรู้สึกให้ผู้มาเยือนรู้สึกคุ้นเคย ในขณะเดียวกันก็ผสานเป็นหนึ่งเดียวกับทิวทัศน์สีเขียวที่โอบล้อมอาคาร แสดงถึงศักยภาพของงานออกแบบที่ช่วยถ่ายทอดและส่งเสริมศิลปะของการเต้น ให้เจ้าของท่วงท่านั้นสามารถสัมผัสถึงประสบการณ์ทางอารมณ์ ที่สะท้อนจากทุกองค์ประกอบของงานออกแบบทั้งภายในและภายนอก จนหลอมรวมเป็นจังหวะของการเคลื่อนไหวตามเสียงเพลงได้อย่างมั่นใจ

ที่ตั้ง
ซอยบ้านกลางสวน ตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่
พิกัด https://maps.app.goo.gl/vcadM4LwgfYuvoNE7
เปิดวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 13.00 – 21.00 น.
และวันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 9.00 – 21.00 น.
โทร. 09-3390-9111

เจ้าของ: คุณไฟฟ้า เปรมประชา
ออกแบบ: MITR ARCHITECTS
ตกแต่ง: Studio Sifah

ภาพ: Soopakorn, กรานต์ชนก บุญบำรุง
เรื่อง: Kangsadan K., Natthawat Klaysuban


Lavanda Hotel สัมผัสการพักผ่อนในโรงแรมสีขาวกลางเมืองเชียงราย