Nachan The Antique Courtyard โรงแรมเชียงคาน เชื่อมโยงกับธรรมชาติ

Nachan The Antique Courtyard โรงแรมริมแม่น้ำโขง ออกแบบเชื่อมโยงกับธรรมชาติด้วยวัสดุที่มีชีวิต

Nachan The Antique Courtyard โรงแรมที่นำเสนอความงามในความไม่สมบูรณ์แบบผ่านวัสดุที่มีชีวิตอย่าง “ไม้เก่า” ด้วยการนำมาออกแบบเป็นงานสถาปัตยกรรม ณ ที่ตั้งริมแม่น้ำโขง อำเภอเชียงคาน

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: PAVA architects

ริมปากแม่น้ำเลย ณ จุดต่อกับแม่น้ำโขงในอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย มีโรงแรมขนาดย่อม Nachan The Antique Courtyard ซึ่งซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่ ที่นี่เริ่มต้นมาจากแรงบันดาลใจของเจ้าของโครงการผู้ต้องการใช้ชีวิตเนิบช้าหลังเกษียณ จนได้มาพบกับที่ดินริมแม่น้ำซึ่งเต็มไปด้วยธรรมชาติอันสวยงาม แล้วเกิดความตั้งใจอยากเปลี่ยนที่ดินนี้ให้เป็นโรงแรมขนาดเล็ก เพราะต้องการชักชวนให้คนอื่นได้มาสัมผัสกับความสงบของบริบทรอบ ๆ ที่ตั้งเช่นเดียวกับเขา

อาคารที่พักไม้สองชั้น ตั้งเรียงกันริมบ่อน้ำ มีสะพานไม้ทอดยาวข้ามผืนน้ำ เป็นทางเดินเชื่อมพื้นที่เข้าด้วยกัน

เนื่องจากความสนใจร่วมกันของเจ้าของโครงการและสถาปนิก ในแนวทางการออกแบบที่นำ “ไม้” และเรื่องราววัฒนธรรมท้องถิ่นมาผสมผสานกับสถาปัตยกรรม สถาปนิกจาก PAVA architects ผู้รับหน้าที่ออกแบบ จึงทำงานกับวัสดุอย่าง ไม้ เพื่อสะท้อนวิถีชีวิตและบริบท ด้วยการใช้ไม้เก่าที่เจ้าของชื่นชอบและเก็บสะสมไว้นำมาเป็นวัสดุหลักในการออกแบบก่อสร้าง ควบคู่ไปกับการค้นคว้าและออกแบบสถาปัตยกรรมที่นำภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาผสมผสาน เกิดผลลัพธ์กลายเป็นหมู่อาคารที่อยู่ร่วมกับบริบทได้อย่างกลมกลืน

ภาพมุมสูง แสดงมุมมองของโรงแรม ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง อาคารไม้หลายหลังตั้งเรียงรายอยู่ท่ามกลางความสงบของธรรมชาติ มองเห็นทางเดินสอดคล้องไปกับองค์ประกอบเดิมในที่ดิน เช่น ต้นมะม่วงคู่ และต้นตะแบก จึงสัมผัสถึงความสงบตั้งแต่เดินเข้าสู่โครงการก่อนจะพบกับวิวแม่น้ำโขง

จุดตั้งต้นของโครงการ

จากความท้าทายของสถานที่ตั้ง ซึ่งเป็นที่ดินที่มีทรัพยากรอันสวยงามและเปี่ยมคุณค่า รายล้อมไปด้วยต้นไม้ดั้งเดิมในพื้นที่ ประกอบกับทัศนียภาพของแม่น้ำที่รับกับสายตาชวนพาใจให้สงบ ไปจนถึงบรรยากาศที่แปรผันไปตามแต่ละฤดู การออกแบบงานสถาปัตยกรรมจึงต้องเกิดขึ้นบนความตั้งใจที่จะส่งเสริมความงามของธรรมชาติ และทำให้สิ่งที่มีอยู่แล้วมีคุณค่ามากขึ้น ทั้งสถาปนิกและเจ้าของจึงมีจุดประสงค์ตรงกัน นั่นคือการทำให้ที่พักแห่งนี้มีความสงบ โดยไม่ต้องการทำอาคารหลังใหญ่จนไปรบกวนธรรมชาติ เพื่อให้ผู้เข้าพักและเจ้าของได้ใช้เวลาอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ พักฟื้นฟูร่างกายและจิตวิญญาณอย่างเต็มที่

แต่ละห้องได้รับวิวธรรมชาติที่เหมาะสมเป็นของตัวเอง จนออกมาเป็นการจัดวางอาคารล้อมกลุ่มกันเป็นสามเหลี่ยม เพื่อให้แต่ละห้องหันหน้าเปิดออกสู่วิวที่ดีที่สุด

การวางผังที่คำนึงถึงบริบท

สิ่งแรกที่สถาปนิกให้ความสำคัญ คือลำดับการเข้าถึงโครงการ โดยต้องการให้ผู้มาพักได้ไล่เรียงความรู้สึกและประสบการณ์ตั้งแต่การเดินทางมาจากในเมือง แล้วมาพบกับความสงบที่โรงแรมนอกเมืองแห่งนี้ ประกอบกับตัวที่ดินที่มีลักษณะหน้าแคบแต่ลึก สถาปนิกจึงได้ออกแบบผังโครงการให้ที่จอดรถอยู่ด้านหน้าติดกับถนนหลัก เพื่อให้ไม่รบกวนกับส่วนที่พักด้านใน แล้วให้ผู้เข้าพักค่อย ๆ ปรับตัวเองให้ช้าลง ด้วยการเริ่มต้นจากการเดิน หรือใช้รถขนาดเล็กค่อย ๆ พาตัวเองเข้ามาด้านในของโครงการ ผ่านทางเดินที่ปูด้วยอิฐทำมือซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น โดยเส้นทางที่ว่านี้จะค่อย ๆ เปิดมุมมองออกไปสู่แม่น้ำโขงในที่สุด

ในขณะเดียวกันลักษณะของที่ดินหน้าแคบก็เป็นข้อจำกัดทำให้ไม่สามารถวางตำแหน่งอาคารให้ทุกห้องรับวิวที่ดีที่สุดอย่างแม่น้ำได้ จึงเป็นสาเหตุให้สถาปนิกเลือกวางตำแหน่งอาคารให้แต่ละห้องได้รับวิวธรรมชาติที่เหมาะสมเป็นของตัวเองโดยอาคารไม้ 7 หลัง รวมทั้งหมด 14 ห้องพัก ถูกจัดวางให้ไม่หันประจันหน้ากัน โดยยังคงได้รับทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงาม จนสำเร็จออกมาเป็นการจัดวางอาคารล้อมกลุ่มกันเป็นสามเหลี่ยม เพื่อให้แต่ละห้องหันหน้าเปิดออกสู่วิวที่ดีที่สุด เช่น วิวเขียวชอุ่มของแนวต้นไม้เดิม บ่อน้ำตรงกลางของที่ดิน วิวภูเขา และวิวแม่น้ำโขง นอกจากนั้นกลุ่มอาคารสามเหลี่ยมยังก่อให้เกิดคอร์ตกลางที่ช่วยให้เกิดความเป็นส่วนตัวระหว่างอาคารด้วย

ที่นี่เกิดจากความสนใจร่วมกันของเจ้าของโครงการและสถาปนิกในแนวทางการออกแบบที่นำ “ไม้” และเรื่องราววัฒนธรรมท้องถิ่นมาผสมผสานกับสถาปัตยกรรม
ห้องพักฝั่งที่หันมุมมองหน้าห้องออกรับวิวส่วนตัว ใช้หน้าต่างกระจกใสเปิดรับมุมมองธรรมชาติตลอดแนวอาคาร กั้นด้วยม่านเพื่อความเป็นส่วนตัว

รูปแบบอาคารที่ลดการสัมผัสพื้นดิน

รูปแบบอาคารเกิดจากแนวความคิด 2 ประการ ประการแรก คือการได้รับแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในท้องถิ่นจังหวัดเลย ในแง่ของรูปทรงหลังคา แสงเงา และงานช่างฝีมือ ประการที่ 2 คือ ผู้ออกแบบต้องการที่จะลด Footprint ของอาคาร หรือให้อาคารสัมผัสพื้นดินให้น้อยที่สุด โดยออกแบบระบบโครงสร้างภายในแต่ละอาคารให้มีโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กอยู่เฉพาะบริเวณ Core กลางอาคาร แล้วกำหนดพื้นที่ส่วนนี้ให้เป็นห้องน้ำและงานระบบ จากนั้นได้วางสแปนโครงสร้างไม้ออกไปโดยรอบเป็นระยะ 4 เมตร สำหรับเป็นพื้นที่ใช้สอยสำหรับพักผ่อน ส่วนพื้นที่ที่เลยออกไปนอกระยะ 4 เมตร นี้ เป็นโครงสร้างยื่นออกไป หรือ Cantilever Structure เช่น ทางเดิน และระเบียง เพื่อให้เกิดโครงสร้างอาคารที่มีประสิทธิภาพ และสัมผัสพื้นดินเท่าที่จำเป็น นอกจากนี้ ยังได้ออกแบบให้หลังคาเปิดออก และมีหน้าต่าง อยู่ที่ด้านสกัด เพื่อให้สามารถมองขึ้นเห็นทิวทัศน์ ท้องฟ้าและดวงดาวได้ขณะพักผ่อน ตามชื่อโรงแรม “นาจันทร์”

จากมุมหลังคาจั่วของอาคารห้องพัก แสดงให้เห็นไม้เก่าที่ทิ้งร่องรอยการใช้งาน ซึ่งแต่ละแผ่นมีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำกัน

วัสดุเก่าเผยความงามในความไม่สมบูรณ์แบบ

วัสดุหลักที่ใช้ในโครงการเป็นไม้เก่าที่เจ้าของค่อย ๆ สะสมจากหลายแหล่งที่มาไม้แต่ละแผ่น ซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งเรื่องของสี ขนาด พื้นผิว และมีตำหนิจากร่องรอยการใช้งาน สถาปนิกมองเห็นว่านี่คือคุณค่าของวัสดุที่ผลิตซ้ำไม่ได้ และหาไม่ได้จากวัสดุใหม่ โดยการเลือกใช้วัสดุเหล่านี้ ถึงแม้จะมีความท้าทายด้านฝีมือช่าง และใช้เวลานานกว่าการใช้วัสดุอุตสาหกรรมอื่น ๆ แต่หากเรายอมรับในตำหนินั้นได้ ก็จะได้สัมผัสกับความงามในความไม่สมบูรณ์แบบ ทั้งในเรื่องของหน้าตา ผิวสัมผัส และประสบการณ์ที่ได้รับจากวัสดุไม้เก่า เช่น การสัมผัสแผ่นไม้ที่มีอุณหภูมิกำลังดี ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป หรือ การยืดหดตัวของไม้ที่ค่อนข้างคงที่กว่าไม้ใหม่ ความงามของสีไม้ที่แปรเปลี่ยนตามฤดูหรือความชื้นที่เปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้ถือเป็นประสบการณ์ที่ไม่อาจหาได้จากวัสดุอุตสาหกรรมประเภทไหน ๆ เป็นความงามของความไม่สมบูรณ์แบบที่เกิดขึ้น อันสอดคล้องกับกาลเวลาที่ทั้งเจ้าของและสถาปนิกอยากจะสื่อสารให้คนทั่วไปได้เข้าใจผ่านการออกแบบอาคารนี้

วิธีการใช้งานไม้เก่าที่แต่ละแผ่นมีความแตกต่างกันก็มีความท้าทาย เพราะต้องได้รับการจัดการเพื่อให้งานออกแบบและก่อสร้างสอดคล้องกัน โดยสถาปนิกได้แบ่งกลุ่มไม้ประเภทเดียวกันให้อยู่ด้วยกัน เช่น ไม้เต็ง ไม้สัก เพื่อให้สีและคุณสมบัติของไม้ไม่ขัดแย้งกันเอง นอกจากนั้น ไม้ซึ่งเป็น “Weathering Material” หรือเป็นวัสดุที่แปรเปลี่ยนได้ตามสภาพอากาศ ที่มีทั้งการยืดและหดได้ หรือสีสันเปลี่ยนไปได้เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยน แม้จะต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอเพื่อรักษาให้อาคารคงอยู่ได้นาน แต่ก็เป็นคุณสมบัติที่ทำให้ไม้เป็นวัสดุที่มีชีวิต สร้างเสน่ห์ให้อาคารได้เสมอไม่ว่าสภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม

ภายในห้องพักที่อยู่ชั้นสอง ผนังห้องและใต้หลังคาแสดงให้เห็นโครงสร้างไม้เก่า เป็นแรงบันดาลใจที่ได้จากงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในพื้นที่

สถาปัตยกรรมที่มีชีวิต

นอกจากเรื่องของวัสดุ การก่อสร้างอาคารยังใช้ทีมช่างจากในพื้นที่มาทำงาน โดยเป็นการพึ่งพาเทคนิคงานช่างท้องถิ่นซึ่งนับวันจะมีให้เห็นน้อยลง เพื่อให้อาคารได้สำแดงเรื่องราวของที่ตั้งให้ได้มากที่สุด ซึ่งสถาปนิกและเจ้าของต่างมองเห็นตรงกันว่า ต้องการให้สถานที่แห่งนี้ได้เป็นพื้นที่บันทึกองค์ความรู้เกี่ยวกับงานไม้และงานฝีมือ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการส่งต่อองค์ความรู้ไปยังคนรุ่นถัดไป เป็นอีกหนึ่งความตั้งใจให้ที่นี่ไปไกลมากกว่าการเป็นที่พักเพียงอย่างเดียว

นอกจากนั้น ในมุมมองของสถาปนิกเองยังมองว่างานสถาปัตยกรรมแห่งนี้ไม่ได้จบลง ณ วันที่อาคารสร้างเสร็จ แต่มองว่างานออกแบบนั้นควรเติบโตไปพร้อมกับที่ตั้ง งอกงามไปพร้อมกับต้นไม้และวัสดุที่เลือกใช้ ให้คนที่เข้าพักในแต่ละช่วงเวลาและในแต่ละฤดูกาลได้รับความรู้สึกที่ต่างกัน เป็นสถาปัตยกรรมที่เปลี่ยนไปตลอดเวลาในทิศทางที่ดี เหมือนอาคารก็มีชีวิตไม่ต่างจากวัสดุที่นำมาใช้

จากห้องน้ำมองออกไปสู่ภายนอก สามารถเปิดหน้าต่างออกรับวิวได้จากหน้าต่างทั้งสองฝั่งให้อากาศ ลม และแสงแดดจากภายนอก

โดยสรุป Nachan The Antique Courtyard เป็นที่พักที่ใช้พื้นที่ธุรกิจอย่างโรงแรมเพื่อมอบคุณค่าในด้านอื่น ๆ ให้กับผู้เข้าพักได้อย่างมีชั้นเชิง เป็นการมอบประสบการณ์ที่เหนือไปกว่าการพักผ่อนทางร่างกาย แต่ฟื้นฟูจิตใจได้ผ่านงานสถาปัตยกรรม และธรรมชาติที่โอบล้อมรอบตัว โดยเฉพาะการสื่อสารว่าวัสดุอย่าง ไม้เก่า นั้น สามารถนำมาออกแบบได้อย่างน่าสนใจ บอกเล่าหน้าที่อีกมิติหนึ่งของวัสดุที่ไม่ได้มีเพียงฟังก์ชั่นสำหรับใช้งานเพียงหน้าที่พื้นฐาน หรือตกแต่งเพื่อความสวยงาม หากแต่สามารถเชื่อมโยงผู้ใช้งานเข้ากับบริบทรอบที่เป็นธรรมชาติได้ในมิติที่ลึกซึ้ง หากได้เข้ามาใช้เวลาในสถานที่แห่งนี้จะสังเกตเห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และเมื่อผู้ใช้งานได้เชื่อมโยงตัวตนเข้ากับธรรมชาติในที่สุดก็จะนำไปสู่ความสงบ ทำให้ได้ฟื้นฟูร่างกายและจิตใจอย่างเต็มอิ่ม อันเป็นไปตามจุดประสงค์ของโครงการที่ได้ตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้น

ที่ตั้ง
12/3 หมู่ 3 ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
พิกัด https://maps.app.goo.gl/JMKYddymFB6wFmwQ8
โทร. 09-8958-1248

เจ้าของ: คุณสมเกียรติ โพธิ์เวียง
ออกแบบ: PAVA architects

เรื่อง: Natthawat Klaysuban
ภาพ: Spaceshift Studio


GRAPH Baankangwat คาเฟ่เชียงใหม่ คราฟต์ทุกรายละเอียด ยั่งยืนผ่านประสบการณ์กาแฟ