The Head and The Heart Studio ตั้งอยู่ในตึกแถวเก่าอายุกว่า 30 ปี ของซอยเจริญนคร 10 ที่ได้รับการรีโนเวตใหม่ให้มีฟังก์ชันเป็นออฟฟิศออกแบบ และที่พัก ควบรวมสองฟังก์ชันในอาคารเดียว เพื่อมอบประสบการณ์ใหม่ให้ผู้เข้าพักและคนทำงานได้มีพื้นที่ปฏิสัมพันธ์กัน
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Poonsook Architects และ HAM Architects
ตึกแถวขนาด 5 ชั้น ที่มีชั้นลอย สร้างขึ้นในยุคสมัยที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังเติบโต ใช้เป็นทั้งที่อยู่อาศัย และพื้นที่ธุรกิจในชั้นล่างมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี ก่อนที่เจ้าของเดิมจะย้ายออกไป เพราะต้องการขยับขยายพื้นที่อยู่อาศัยออกไปนอกเมือง จนได้รับการปรับปรุงให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยมีเจ้าของใหม่อย่าง The Head and The Heart Studio ที่ต้องการสร้างพื้นที่ออฟฟิศของตัวเอง



หลังจากสำรวจอาคารมาหลายแห่ง กระทั่งมาเจอกับอาคารหลังนี้ ที่มาพร้อมกับความลงตัวหลายด้าน ที่สามารถเชื่อมต่อกับโซนธุรกิจอย่างสาทรและสีลมได้ เป็นย่านที่มีเสน่ห์เต็มไปด้วยอาคารเก่า และมีโอกาสเป็นย่านสร้างสรรค์ในอนาคต ทั้งยังเป็นแหล่งชุมชน แต่ยังไม่พลุกพล่าน จึงเหมาะเป็นจุดหมายในการสร้างออฟฟิศ





ประสบการณ์พิเศษเมื่อที่พักอยู่ร่วมกับออฟฟิศออกแบบ
ทางเจ้าของ และสถาปนิกได้วางรูปแบบการใช้งานอาคารได้ตั้งแต่แรกให้เป็นพื้นที่ทำงาน และที่พักสำหรับให้เช่าชื่อว่า Stupid stay เป็นการใช้งานพื้นที่ให้คุ้มค่า โดยออฟฟิศจะอยู่ที่ชั้น 1 และชั้นลอย และโซนที่พักเริ่มตั้งแต่ชั้นลอยไปจนถึงชั้นดาดฟ้า มีห้องพักทั้งหมด 6 ห้องพร้อมห้องน้ำในตัว ซึ่งแยกประตูทางเข้าออกส่วนทำงาน และโซนที่พักออกจากกันให้เกิดความเป็นส่วนตัว โดยโจทย์ในการออกแบบคือ การผสานพื้นที่พักเข้ากับพื้นที่สร้างสรรค์ หรือ Creative Space สร้างประสบการณ์การเข้าพักในพื้นที่สร้างสรรค์ซึ่งเป็นตัวตนของออฟฟิศ
สถาปนิกก็ได้ใช้จุดนี้เป็นแกนหลักในการออกแบบพื้นที่ใหม่ให้อาคาร เช่น ให้พื้นที่ส่วนกลางบริเวณชั้นลอยของโซนที่พักเชื่อมต่อกับโซนห้องสมุดของออฟฟิศ ให้ผู้เข้าพักสามารออกมาสัมผัสบรรยากาศการทำงานได้จากพื้นที่นี้ โดยการเดินผ่านระเบียงบริเวณชั้นลอย แต่ยังคงเว้นระยะห่างจากโซนทำงานไว้เพื่อความเป็นส่วนตัว เป็นจุดเชื่อมต่อที่ทำให้ทั้งสองสเปซผสานกัน หรือ Blend กันอย่างที่เจ้าของ และผู้ออกแบบต้องการ





พิเศษแตกต่างในห้องทุกห้อง
ด้วยความที่เจ้าของเป็นนักออกแบบที่ทำงานสร้างสรรค์ การทำที่พักสำหรับให้เช่าจึงมีไอเดียว่าจะทำออกมาให้ไม่เหมือนใคร โดยสรุปกับสถาปนิกว่าต้องการทำห้อง 6 ห้อง จึงออกมาเป็น 6 ห้องที่มีดีไซน์ และผังห้องไม่ซ้ำกัน มีแผนสำหรับทำเป็นโปรแกรม Artist In Residence หรือโครงการศิลปินในพำนัก ซึ่งจะเชื้อเชิญให้ศิลปินจากต่างประเทศมาพักอาศัย สร้างผลงาน ในที่พักแห่งนี้ จึงออกแบบพื้นที่รองรับ เป็นห้องพักแบบสตูดิโอ แต่ละห้องแตกต่างกันไปให้ผู้เข้าพักเกิดแรงบันดาลใจขณะที่ได้มาที่นี่ และเป็นเหมือนการได้ค้นพบสิ่งใหม่ ๆ เมื่อเปิดไปจะเจอกับห้องต่าง ๆ และมีผลงานศิลปะของศิลปินไทยอยู่บริเวณโดยรอบทั้งในห้องพัก และพื้นที่ส่วนกลาง ทำให้ได้บรรยากาศเหมือนแกลเลอรี่แสดงผลงานไปในคราวเดียวกัน



เลือกเก็บของเดิมและเพิ่มของใหม่
เมื่อสถาปนิกออกแบบ และเข้ามาดูตึกในตอนที่รื้อของเดิม ก็มีจุดที่ต้องตัดสินใจหน้างานหลายจุด จากปัญหาโครงสร้างเดิม เช่น พื้นเสียหาย คานมีปัญหา เป็นต้น บางจุดจึงต้องเสริมวัสดุใหม่ เช่น เหล็กเสริมคาน หรือในเรื่องของดีไซน์ที่เพิ่มคาแร็กเตอร์ให้อาคาร เช่น ด้านหน้าอาคารที่ใช้วิธีการใส่กรอบบานกระจกใสโครงเหล็กสีดำเข้ามา เป็นการแทรกดีไซน์ใหม่เข้าไปในอาคารเก่าให้เกิดความพอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไปทยังคงกลิ่นอายของอาคารเดิม สำหรับในส่วนที่เก็บไว้ได้ และทำให้อาคารมีเสน่ห์ เช่น ผนังเดิม ฝ้า คาน สีเดิมของผนัง พื้นหินขัดจากบ้านเดิม สถาปนิก และเจ้าของเลือกที่จะเก็บไว้ไปพร้อมกับดีไซน์ของใหม่ให้ทั้งคู่ดำเนินไปพร้อมกัน ทำให้สามารถดึงเสน่ห์ของอาคารเดิมไปพร้อมกับสร้างคาแร็กตอร์ให้กับการใช้งานใหม่



โดยพื้นที่ออฟฟิศจะใช้วัสดุเหล็กสีดำกับอาคารเดิมที่เป็นคอนกรีตเป็นองค์ประกอบพื้นหลัง และเพิ่มสีสันเข้าไปที่เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งที่เจ้าของเป็นคนเลือก เป็นเหมือนการที่สถาปนิกออกแบบบโครงหลัก ๆ คร่าว ๆ ไว้ให้ แล้วมีพื้นที่ให้ทางเจ้าของได้สร้างสรรค์ออกมาเป็นสีสันต่าง ๆ เหมือนเป็นการ “เติมคำลงในช่องว่าง” เช่นเดียวกับในส่วนที่พักที่สถาปนิกวางผังแต่ละห้องไว้ และทำงานร่วมกับเจ้าของในการเลือกดีไซน์หน้าตา คาแร็กเตอร์ของแต่ละห้องว่าจะเป็นอย่างไร จนเกิดเป็นห้องพักที่ดีไซน์ไม่ซ้ำกัน ซึ่งมีทั้งของเก่า และใหม่ผสานกันออกมาอย่างลงตัว
DesignTips
แก้ปัญหาอาคารด้วยการดึงแสงธรรมชาติเข้าพื้นที่ภายใน
ตึกแถวเก่าในยุคอายุประมาณ 30 ปี มักจะสร้างลักษณะคล้ายกัน คือ สูง และลึก เน้นพื้นที่ใช้งานให้คุ้มค่า มีช้้นลอย มักใช้เป็นที่พักอาศัยของครอบครัวขนาดใหญ่ และทำธุรกิจในชั้นล่างไปในคราวเดียวกัน ในปัจจุบันความต้องการใช้งานเปลี่ยนแปลงไป ตึกแถวถูกนำมารีโนเวตใช้งานใหม่มากขึ้น ซึ่งด้วยความลึก และสูงทำให้แสงไม่สามารถส่องเข้าไปยังส่วนต่าง ๆ ภายในอาคารได้


สถาปนิกจึงออกแบบเจาะช่องแสงกลางอาคาร บริเวณเดียวกับโถงบันได ให้แสงส่องลงมาจากด้านบนเป็น Skylight และเปิดช่องแสงจากฝั่งหน้าอาคารที่ช่องหน้าต่างบานใหญ่ และจากด้านหลังอาคาร ได้แสงส่องเข้าถึง 3 ฝั่ง ทำให้พื้นที่ภายในสว่าง และโปร่งขึ้น เหมาะกับการใช้งานที่หลากหลายขึ้นทั้งการเป็นสถานที่ทำงาน ที่พัก รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ อันสร้างสรรค์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ที่ตั้ง
The Head and the heart studio & Stupid Stay
162 เจริญนคร ซอย10 แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กรุงเทพฯ
E-mail (Stupid Stay) : [email protected]
ออกแบบ: Poonsook Architects Co., Ltd. และ HAM Architects
เรื่อง: Natthawat Klaysuban
ภาพ: นันทิยา
Vanich house คาเฟ่ในบ้านไม้เก่า ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นโรงกลึงให้คงบรรยากาศในย่านตลาดน้อย
