Vanich house คาเฟ่ที่เกิดจากการรีโนเวตบ้านไม้เก่าและธุรกิจโรงกลึงของครอบครัว เพื่อต่อยอดสู่การฟื้นคืนชีวิตให้อาคารกลับมามีสีสันพร้อมฟังก์ชันใหม่
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Physicalist
เดิมทีบ้านไม้เก่าหลังนี้ เป็นบ้านของครอบครัวของเจ้าของ ซึ่งเคยประกอบกิจการโรงกลึงผลิตเครื่องจักรไอน้ำที่นำไปใช้ในธุรกิจโรงสีข้าว ที่มีชื่อว่า “หลียุ่นเชียง” ในยุคสมัยที่ชิ้นส่วนของเครื่องจักรนั้นกลึงด้วยมือ จากหลักฐานที่พบเจอในบ้าน คือปี ค.ศ.1927 ซึ่งเกือบครบร้อยปีในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า




บ้านหลังนี้เป็นบ้านของสมาชิกหลายคนในครอบครัว โดยบรรยากาศของบ้านหลังนี้ในยุคนั้นเมื่อเข้าไปสู่พื้นที่ภายใน ก็จะพบกับพื้นที่ทำงานของช่าง ซึ่งกินพื้นที่ส่วนใหญ่ของตัวบ้าน ตัวอาคารฝั่งหน้าบ้านมีลักษณะแบบห้องแถวไม้เรียงตัวแบบหน้ากระดานขนานไปกับซอย และเมื่อเข้าไปด้านในบ้าน จะพบอาคารแบบโกดังที่หลังคาสูงโปร่งมีฟังก์ชั่นสำหรับเก็บของ และใช้ทำงาน สำหรับส่วนพักอาศัยจะอยู่ในบริเวณตัวอาคารที่ชั้น 2 เรียกได้ว่าเป็นการใช้งานหลายรูปแบบในพื้นที่เดียว เป็นทั้งบ้านของครอบครัวใหญ่ และเป็นกิจการในที่เดียวกัน ซึ่งสำหรับครอบครัวนี้ เป็นที่รู้จักกันดีในอีกชื่อหนึ่ง คือ “อู่” เวลาจะไปที่บ้านหลังนี้ทุกคนก็จะพูดกันว่า “ไปอู่”






คุณกาจวิศว์ ริเริ่มวนิชย์ สถาปนิกผู้ก่อตั้ง Physicalist คือสถาปนิก และเจ้าของบ้าน ได้รีโนเวทบ้านไม้หลังนี้ ด้วยแนวคิดการออกแบบฟังก์ชั่นใช้งานใหม่ในสเปซเดิม ให้โครงสร้าง บรรยากาศ และความรู้สึกเดิมของอาคารยังคงอยู่ แต่เปลี่ยนหน้าที่ใหม่ไปอย่างสิ้นเชิง
จากครั้งหนึ่งที่บ้านเคยถูกใช้งานเป็นโรงงาน ห้องนอน และออฟฟิศของโรงกลึง สู่การใช้งานเป็นคาเฟ่ที่ชั้นล่าง สำนักงานของบริษัทสถาปนิก Physicalist ที่ชั้นสอง และยังคงความเป็นบ้านพักอาศัยที่แยกเป็นพื้นที่ส่วนตัวชัดเจน และมีโรงแรมที่เปิดให้แขกได้เข้ามาพัก 1 ห้องที่บริเวณหลังบ้าน
ด้วยรูปแบบการใช้งานที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ทำให้บ้านไม้เก่าหลังนี้จำเป็นต้องเปลี่ยนหน้าที่ โดยความตั้งใจที่จะเก็บรักษาสภาพอาคารเดิมของคุณกาจวิศว์ นำไปสู่การเลือกรีโนเวทครั้งใหญ่ ที่เรียกได้ว่าเป็นงานออกแบบเพื่ออนุรักษ์อาคารเลยก็ว่าได้ การเก็บรักษาอาคารไม้ที่มีอายุราวร้อยปีนั้นมีความท้าทายเป็นอย่างมาก เนื่องจากสภาพอาคารค่อนข้างทรุดโทรมจากการใช้งานมาเป็นระยะเวลานานเกือบศตวรรษ วัสดุต่าง ๆ จึงเสียหายมาก
ขั้นตอนการรีโนเวทเริ่มจากการดีดบ้านเพื่อทำงานฐานรากให้แข็งแรง และปรับพื้นใหม่ให้ใช้งานได้ ส่วนวัสดุหลังคาจากเดิมที่เป็นแผ่นสังกะสีที่ค่อนข้างผุพัง เปลี่ยนวัสดุใหม่ให้คงทนขึ้นด้วยแผ่นเมทัลชีท ในบางจุดที่มืดทึบเลือกใช้แผ่นหลังคาแบบโปร่งแสงเพื่อเพิ่มแสงสว่างให้บรรยากาศของพื้นที่ภายในมีคุณภาพการใช้งานที่ดีขึ้น สำหรับห้องชั้นบนที่ใช้งานเป็นออฟฟิศของบริษัทสถาปนิกทำการกั้นห้องกระจกอยู่ข้างในตัวอาคารไม้อีกชั้นหนึ่ง เว้นระยะจากผนังไม้ของอาคารเดิมให้กลายเป็นห้องที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศได้ และในบริเวณพื้นชั้น 2 ของช่องว่างที่เว้นระยะห่างนั้นติดตั้งตระแกรงเหล็กฉีกทำให้เกิดเป็นช่องโล่ง ทำให้แสงสว่างจากชั้นบนส่องลงสู่พื้นที่ชั้นล่างได้




ในเชิงสเปซนั้นการใช้งานยังคงเหมือนเดิม คือพื้นที่ชั้นล่างใกล้กับทางเข้าเป็นส่วนที่ทำงาน เป็นโซนที่ค่อนข้าง Public และส่วนชั้นบนที่เคยเป็นห้องนอนก็ใช้งานใหม่เป็นออฟฟิศ ซึ่งเป็นโซน Private พื้นที่โกดังก็ยังคงเป็นโถงสูงเช่นเดิม ในมิติหนึ่งยังคงเป็นบ้านหลังเดิมด้วยบรรยากาศและพื้นที่อาคาร แต่อีกมิติหนึ่งก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงด้วยการประกอบกิจกรรมใหม่ ๆ
วัสดุเดิมที่ยังใช้งานได้ ก็เอามาใช้ในงานตกแต่ง เช่นสังกะสีหลังของเดิมที่ผุเป็นรู ก็นำมาใช้กรุผนังสำหรับตกแต่ง เป็นการเก็บกลิ่นอายของบ้านด้วยวัสดุเก่าในครั้งที่นำมาสร้างบ้าน เป็นการพาภาพทรงจำของบ้านเมื่อครั้งอดีตกลับมาสู่ปัจจุบัน



Vanich House เป็นคาเฟ่ที่ตั้งอยู่ชั้นล่างของบ้าน สถาปนิกให้คำนิยามพื้นที่นี้ว่า ‘สเปซใต้ถุนบ้าน’ เกิดจากการที่เจ้าของมองเห็นความเป็นไปได้ของการสร้างสเปซแบบคาเฟ่ในช่วงระหว่างที่อาคารกำลังรีโนเวท มีบรรยากาศเป็นกันเอง โดยวางผังแบบเปิดโล่ง ใช้เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวเดิมของบ้านมาวาง สามารถขยับปรับเคลื่อนย้ายได้ มีพื้นที่วางขายของแบบ Selected Shop ที่ขายงานศิลปะ งานทำมือ มีตู้เกมให้เด็ก ๆ รวมถึงลูก ๆ ของเจ้าของร้านให้ได้มาเล่น เป็นสเปซที่ไม่ตายตัว ให้บรรยากาศที่เป็นเหมือนบ้านของครอบครัวให้ได้มาเยี่ยมเยียน



ไอเดียของเมนู เริ่มต้นจากเมนูชาสกัดเย็น ซึ่งเป็นเมนูที่เจ้าของร้านมีความสนใจ และชงดื่มอยู่แล้วใช้ชีวิตประจำวัน จนมาต่อยอดใช้วัตถุดิบตามฤดูกาลที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น สมจี๊ด ดอกไม้ และผลไม้ต่าง ๆ ออกมาเป็นเมนูหลายรูปแบบ ทั้งชา น้ำแข็งใส และอื่น ๆ



สถาปนิกออกแบบพื้นที่ซึ่งเดิมเป็นห้องนอนของช่างในโรงกลึง ที่อยู่ฝั่งด้านหลังให้เป็นห้องพักส่วนตัวจำนวน 1 ห้อง เริ่มต้นจากความพยายามให้เป็นพื้นที่ที่ชวนเพื่อน ๆ ที่ทำงานศิลปะมาพัก และอาจจะทำงานศิลปะในระหว่างที่พักผ่อนอยู่ที่นี่ และได้สัมผัสกับบรรยากาศของ Vanich House ได้ตลอดทั้งวัน
DesignTips
สถาปนิกออกแบบอาคารให้โปร่ง และติดตั้งระแนงโปร่งที่บริเวณด้านล่างของตัวอาคารจากการที่ดีดบ้านขึ้น ให้พื้นที่ชั้นล่างบริเวณคาเฟ่ได้รับลมตลอดทั้งวัน ทำให้ไม่รู้สึกร้อน เป็นสเปซแบบใต้ถุน ให้แสงสลัว ๆ เข้าสู่ภายใน เป็นแสงที่สร้างบรรยากาศที่กลมกล่อมเคล้าไปกับบรรยากาศของบ้านไม้ และเข้ากันกับบริบทของชุมชนตลาดน้อย
ที่ตั้ง
722 ซอยวานิช 2 ตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ
พิกัด https://g.co/kgs/TRQDff2
เปิดวันพฤหัสบดี-วันอังคาร เวลา 10.30-17.30 น. (ปิดทุกวันพุธ)
โทร. 09-7298-2655
ออกแบบ: Physicalist
ภาพ: Soopakorn Srisakul
เรื่อง: Natthawat Klaysuban
Tao Hong Tai : d Kunst Art Space and Cafe แกลเลอรี่ผสานคาเฟ่ริมแม่น้ำราชบุรี
