สุสานดิจิทัล – SEE ME AGAIN VIA DIGITAL WORLD
หากเราต้องสูญเสียคนที่รักไป แล้วยังทำใจไม่ได้ 5 สุสานดิจิทัล อาจเป็นคำตอบที่คุณกำลังตามหา อนาคตของโลกใบนี้กำลังพึ่งพาปัจจัยที่ 5 อย่างอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่มีอิทธิพลมากเสียจนกลายเป็นโลกเสมือนจริงอีกใบ อย่าเพิ่งคิดว่าสื่อเหล่านี้มีแต่ด้านดราม่าไร้สาระ เพราะยังมีนักคิดและนักออกแบบอีกหลายคนที่ใช้ประโยชน์ของการเข้าถึงผู้ใช้งานโดยตรง เพื่อสร้างสรรค์อนุสรณ์สถานที่เราเข้าถึงได้โดยไม่ต้องเสียเวลาออกเดินทางตามหา
1 – สุสานดิจิทัลโดย HADES ARNON จากประเทศ อิสราเอล
แผ่นหินรูปทรงสี่เหลี่ยมปลายมนบนหลุมฝังศพ สลักชื่อและวันมรณะของผู้เสียชีวิต คือตัวแทนความระลึกถึง
สำหรับครอบครัวที่เห็นกันชินตาในยุโรป แปรเปลี่ยนมาเป็นดีไซน์ของเมมโมรี่สติ๊กจากแนวคิดของ Hades Arnon แทนที่รูปทรงแบบนี้จะเป็นตัวแทนของความเศร้าสร้อย เขาอยากให้สิ่งนี้เป็นตัวแทนของช่วงเวลาแห่งความสุขของสมาชิกครอบครัวกับผู้เสียชีวิตผ่านข้อมูลดิจิทัลที่บรรจุความทรงจำสุดวิเศษ เช่น รูปภาพ วิดีโอ เพลงโปรด โดยจะเก็บรักษาไว้ในห้องสมุดประชาชน คิดถึงเมื่อไหร่ เพียงกดเสิร์ชหาแล้วนำไปเปิดดูในห้องฉาย ก็จะพบกับรอยยิ้มและความสุขของเขาคนนั้นส่งตอบกลับมาให้คุณได้ทันทีที่ต้องการ
2 – THE GEOMETRY OF CONSCIENCE โดย ALFREDO JAAR
อาคารถัดจากพิพิธภัณฑ์ความทรงจำและสิทธิมนุษยชนในประเทศชิลี เพียงลงบันไดไป 33 ขั้น ความมืดมิดคือสิ่งแรกที่สัมผัสได้เมื่อเข้าไปข้างใน ก่อนจะพบกับผนังเรืองแสงที่บรรจุรูปร่างหน้าตาของมนุษย์กว่าร้อยใบหน้า ทั้งหมดเป็นเหยื่อจากสงครามปฏิวัติโค่นล้มอำนาจของอดีตประธานาธิบดีนายพลเอากุสโต ปิโนเชต์ (Augusto Pinochet) ที่ยาวนานถึง 17 ปี จากผนังที่มืดมิด รูปใบหน้าทั้งหมดจะค่อย ๆ ปรากฏขึ้นตามความเข้มของแสงจาก 0 ไปถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในเวลา 90 วินาที แล้วฉับพลันจะกลับเข้าสู่ความมืด เกิดเป็นภาพติดตาที่ยังคงค้างอยู่ อันเกิดจากธรรมชาติของสายตามนุษย์ที่ยังคงค้างภาพที่เคยมองเห็นเอาไว้ในช่วงเวลาหนึ่ง Alfredo Jaar ศิลปินผู้ออกแบบกล่าวว่า ผลงานชิ้นนี้ไม่ได้เป็นเพียงอนุสรณ์สำหรับผู้วายชนม์ หากแต่ยังเป็นเครื่องเตือนใจให้ประชาชนชาวชิลีได้หวนกลับไปนึกถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน
3- VIRTUAL CONVERSATION : CHAT BOT โดย EUGENIA KUYDA
เป็นเวลา 3 เดือนที่ Eugenia Kuyda วิศวกรสาวบรรจงเก็บรวบรวมข้อความสนทนาระหว่างเธอกับ Roman Mazurenko เพื่อนสนิทที่สุดซึ่งได้จากโลกนี้ไป เธออ่านข้อความเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะนี่คือสิ่งที่คงเหลืออยู่ระหว่างเธอกับเขา เธอจึงไหว้วานให้ทีมวิศวกรช่วยประดิษฐ์โปรแกรมแชตบอต หรือระบบตอบโต้อัตโนมัติที่ทำให้เธอรู้สึกเหมือนได้คุยกับเขาจริง ๆ โดยได้รับความร่วมมือจากเพื่อน 10 คนและครอบครัวของโรมันในการเก็บรวบรวข้อความที่เขาเคยส่งให้ เพื่อบันทึกรูปภาพและจับคู่บทสนทนาเพื่อสร้างการโต้ตอบที่ตรงกับบุคลิกของเขามากที่สุด ความสำเร็จของปัญญาประดิษฐ์ชิ้นนี้คือ การที่เธอและครอบครัวของโรมันได้กลับมาพูดคุยกับเขาอีกครั้ง รวมทั้งแม่ของเขายังได้รับรู้ถึงความนึกคิดบางเรื่องที่เขาไม่เคยเล่าให้เธอฟัง เสมือนว่าตัวเขายังคงอยู่ตรงนี้
4 – 12TH HOUR โดย MURAD SOBAY
นี่อาจจะไม่แหล่งเก็บข้อมูลที่เป็นดิจิทัล แต่ใช้ดิจิทัลเป็นสื่อ! ประเด็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศเยเมน ได้รับการสะท้อนออกมาผ่านเสียงของประชาชนจากโปรเจ็กต์ 12TH HOUR นำทีมโดย MuradSobay ศิลปินสตรีทอาร์ต ที่ได้ชักชวนเพื่อน ๆ ศิลปินและประชาชนทั่วไปผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อมารวมตัวกันวาดรูปใบหน้าบุคคลในครอบครัวที่ถูกจับหรือหายตัวไปอย่างลึกลับพร้อมวันที่ที่เขาหายไปบน The Walls Remember แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกสูญเสียว่าไม่เพียงเป็นความโศกเศร้าที่เกิดขึ้นกับครอบครัว หากแต่ยังเป็นการสร้างแรงขับเคลื่อนให้สังคมได้ตระหนักถึงเหตุการณ์ที่กำลังขึ้นและหาทางหยุดยั้งมันเสีย!
5 – #HASHTAG
ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ การสร้างอนุสรณ์อะไรสักอย่างดูจะไม่ใช่เรื่องยากอีกแล้ว เพราะเพียงคุณคิดค้นคำใหม่สักหนึ่งคำเพื่อแทนความทรงจำของคุณแล้วติดแฮชแท็กนี้ในทุกรูปและคำบรรยาย เมื่อคลิกที่แฮชแท็ก ข้อความและรูปทั้งหมดก็จะปรากฏให้เห็นในครั้งเดียว อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อความนึกคิดของบุคคลอื่นผ่านคำเดียวกันนี้ได้ด้วย นับเป็นการสร้างความทรงจำร่วมจากหลายบุคคลที่มีต่อเรื่องเดียวกัน ซึ่งน่าจะดีหากเราได้เห็นมุมมองที่ต่างออกไปจากสายตาของเพื่อนคนอื่นดูบ้าง
เรื่อง skiixy, polarpoid
ภาพ เอกสารประชาสัมพันธ์, แฟ้มภาพนิตยสารบ้านและสวน , designboom.com , creativemove.com , theverge.com
เรียบเรียบ Parichat K.