ไอเดียทำชั้นวางของ เก๋ๆ 10 แบบนี้ เต็มไปด้วยประโยชน์ใช้สอยมาให้ชมรับรองว่า ใช้งานสะดวก แถมยังสวยมีสไตล์อีกด้วย
ชั้นเก็บของเหนือเพดาน
บ้านที่มีเพดานสูง 3 เมตรขึ้นไป สามารถใช้ความสูงของฝ้าให้เป็นประโยชน์โดยการทำชั้นวางของสำหรับเก็บของที่นานๆ ใช้ที ด้วยการยึดชั้นไม้หน้ากว้าง30 เซนติเมตร ระหว่างผนังและคาน ติดตั้งที่ระดับความสูงตั้งแต่ 2.20 เมตรขึ้นไป หรือจะก่อครีบปูนหน้ากว้าง 30 เซนติเมตร ให้ยาวต่อเนื่องกับชั้นวางของที่หล่อปูนแบ่งเป็นช่องๆ ฉาบและแต่งผิวพร้อมทาสีเดียวกันทั้งหมดเพื่อให้ดูต่อเนื่องและเรียบเนียนไปกับผนัง ไอเดียนี้สามารถทำได้ทั้งฝ้าเพดานระหว่างห้องผนังมุมใดมุมหนึ่ง หรือจะเป็นพื้นที่เหนือหน้าต่างและประตูก็ได้
ชั้นสวยแบบคลาสสิก
ชั้นวางของยอดนิยมที่ยังดูสวยและคลาสสิก ไอเดียนี้เหมาะกับบ้านที่มีหนังสือหรือของใช้ที่มีน้ำหนักมาก โดยออกแบบชั้นเก็บของให้ยาวจนสุดผนัง แล้วตีเหล็กกล่องเป็นโครงจากพื้นจรดผนัง วางแผ่นไม้อัดหนา 6 มิลลิเมตรบนโครงเหล็กเป็นชั้นวางของ นอกจากจะแข็งแรงแล้วยังได้เส้นสายที่สวยงามอีกด้วย จากนั้นติดอุปกรณ์รางเลื่อนและบันไดเหล็กติดล้อเลื่อนเพื่อความสะดวกในการปีนไปเก็บหรือหยิบของ
ลูกเล่นในชั้นเก็บของ
ทำชั้นเก็บของขนาดเล็กให้ดูมีลูกเล่น ด้วยการใช้เหล็กแผ่นหนา 4 มิลลิเมตรพับเป็นสี่เหลี่ยมขนาดต่างๆ สูงประมาณ 20เซนติเมตร แล้วพ่นสีดำ สามารถนำไปติดไว้ได้หลายมุม เช่นเหนือโต๊ะคอนโซล ผนังห้องน้ำ หรือมุมทำงาน
ชั้นเก็บของแสนสนุก
ออกแบบชั้นวางของให้ดูเสมือนงานศิลป์บนผนังที่ดูสนุกสนาน ด้วยการนำไม้อัด MDF มาดัดโค้งเป็นทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลาง 50 เซนติเมตร สูง40 เซนติเมตร แล้วนำไม้อัด MDF มาต่อกันเป็นกล่องสี่เหลี่ยมไว้ภายใน เก็บความเรียบร้อยที่พื้นที่ขอบด้านข้างแล้วทาสีให้สวยงาม จากนั้นกรุกระจกใสเป็นฐานที่กล่องสี่เหลี่ยมด้านในกันสีหลุดลอก แนะนำให้ทำหลายๆ ชิ้นแล้วนำมาติดสลับกันไปบนผนัง ช่วยเติมลูกเล่นให้ผนังธรรมดามีดีเทลน่าสนใจขึ้น
ตู้เก็บของในห้องน้ำ
เปลี่ยนผนังห้องน้ำให้กลายเป็นมุมเก็บอุปกรณ์และของใช้ต่างๆให้ดูเป็นระเบียบ ด้วยการทำตู้บิลท์อินที่ผนังหลังชักโครกยาวตลอดแนว หนา 15 เซนติเมตร สูง 2 เมตร ตีแบ่งช่องตามความต้องการ โดยเว้นระยะห่างระหว่างตู้และโถชักโครกข้างละ 15 – 20 เซนติเมตร เพื่อติดสายชำระ และความสูงของตัวตู้เหนือชักโครกควรสูงประมาณ 1.30 เมตร เพื่อความสะดวกเวลาลุกนั่ง ส่วนหน้าบานตู้ แนะนำให้กรุกระจกเงาเพื่อใช้ส่องหน้าและช่วยลวงตาทำให้ห้องกว้างขึ้น
All in One
ออกแบบตู้ให้มีฟังก์ชันการใช้งานเพิ่มขึ้นด้วยการใช้หน้าบานตู้เป็นโต๊ะทำงานไปในตัว สามารถพับเก็บได้ แถมยังประหยัดพื้นที่ โดยเจาะช่องกลางตู้ให้เป็นแนวยาวระดับความสูง 75 เซนติเมตร แล้วติดบานพับแบบเปิดลงที่ข้างผนังตู้กับตัวหน้าบานด้านใน ใช้เก็บอุปกรณ์และของจุกจิกเมื่อเราไม่ได้ใช้งาน และยังสามารถปรับเป็นมุมทำงานได้อีกด้วย
ตู้เก็บของข้างบันได
ใช้พื้นที่บริเวณบันไดบ้านให้เป็นประโยชน์ด้วยการออกแบบตู้บิลท์อินขนาดใหญ่ เพิ่มความเก๋ด้วยการแบ่งหน้าบานลิ้นชักเล็กๆแล้วติดป้ายชื่อให้คล้ายตู้ยาจีนในสมัยก่อน ติดตั้งระบบหน้าบานแบบกดกระเด้งเพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน ส่วนอื่นๆ แบ่งขนาดช่องตามความเหมาะสม ช่องด้านบนเลือกใช้หน้าบานกระจกเพื่อป้องกันฝุ่น เนื่องจากชั้นที่อยู่สูงขึ้นไปจะทำความสะอาดได้ยากกว่าชั้นที่อยู่ด้านล่าง
ชั้นเก็บของฝังผนัง
ชั้นเก็บของที่ซ่อนตัวอยู่ในผนัง ไอเดียดีๆ ที่ทำให้ห้องดูไม่ทึบตัน เพราะไม่มีตู้วางของขนาดใหญ่ที่ดูเทอะทะ สามารถทำได้โดยการเจาะผนังให้ลึกลงไป 20 – 30 เซนติเมตร และสูงจากระดับพื้น 1 เมตร ใช้ไม้โอ๊กเข้มทำเป็นชั้นวางของ โดยกำหนดให้แต่ละชั้นห่างกัน 30 – 40 เซนติเมตร จากนั้นหาคิ้วไม้หน้ากว้าง3 นิ้วตีเป็นกรอบขนาด 0.90 x 1.20 เมตร ปิดมุมทั้ง 4 ด้านทำให้ชั้นวางของกลายเป็นเหมือนกรอบรูป ดูเท่ไปอีกแบบ
ผนังโค้งเพิ่มไอเดียจัดเก็บ
บ้านไหนมีบันไดเวียนสามารถเพิ่มประโยชน์ใช้สอยให้มุมนี้ด้วยการทำช่องเก็บของตามระดับขั้นบันได เริ่มจากตีโครงไม้ตามความสูงของผนัง แล้วแบ่งเป็นช่องขนาด 30 x 30 x 25เซนติเมตร กรุผิวด้วยวีเนียร์ เทคนิคอยู่ที่การเจาะช่องเก็บของให้มีลักษณะเหลื่อมกันไปมา ช่วยสร้างเส้นสายที่น่าสนใจ
ชั้นเอียงแบบมีศิลป์
ทำชั้นเก็บของให้ดูสะดุดตา โดยการตีกล่องไม้หนา 1 นิ้วหลายขนาดมาวางทับซ้อนกัน แล้วยึดกล่องกับผนังห้องที่ต้องการ เทคนิคคือ กล่องชั้นล่างให้ยึดแบบตั้งฉากปกติ จากนั้นค่อยๆ ยึดกล่องในชั้นถัดไปให้เอียงไปมาตามความต้องการทำให้มุมเก็บของดูสนุกและเท่ไม่เหมือนใคร
เรื่อง วิลาสินี ภาพ แฟ้มภาพนิตยสาร room
เรียบเรียง Parichat K.