ชวนคุยเรื่องคราฟท์ๆ ในบ้านดินหลังเล็กกับสองศิลปิน นักออกแบบ Slow Hands Studio - room life

ชวนคุยเรื่องคราฟท์ๆ ในบ้านดินหลังเล็กกับ Slow Hands Studio

SLOW HANDS STUDIO

ถิง-ชลธิชา สุจริตพินิจ (ถิง ชู) และ เจิน-กฤชนันท์ ศรีระกิจ สองศิลปินต่างสไตล์ที่จะมาสะท้อนอีกมุมมองของคนคราฟท์เมืองเชียงใหม่ สตูดิโอย่านวัดอุโมงค์ของพวกเขาคือฐานที่มั่นสำหรับการสร้างสรรค์ผลงานเซรามิกที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร ทั้งยังเป็นสตูดิโอสอนงานปั้นสำหรับทุกคนที่สนใจ

ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแห่งคราฟท์ ผู้คนมากมายล้วนมุ่งหน้ามาที่นี่เพื่อเสพกลิ่นอายวัฒนธรรมพื้นถิ่น และสัมผัสกับเสน่ห์ของศิลปะแฮนด์เมด งานนี้ Slow Hands Studio ตอบรับคำเชิญเป็นตัวแทนบอกเล่าถึงมุมมองของคนเมืองเหนือรุ่นใหม่ที่คลุกคลีกับงาน “ทำมือ” มากว่าทศวรรษ

สตูดิโอออกแบบ ของ นักออกแบบ เซรามิก SLOW HANDS STUDIO

Q:  คราฟท์คืออะไร

ชลธิชา: คราฟท์คือสิ่งที่เราใช้ฝีมือในการสร้างสรรค์มันขึ้นมา เป็นสื่อกลางของเราในการแสดงความคิด   แต่เดี๋ยวนี้ความหมายของคราฟท์มันถูกลดทอนเหลือแค่ “งานประดิษฐ์” เนื่องจากเขาเน้นกันว่างานคราฟท์ต้องเกิดประโยชน์ใช้สอย จนบางทีคราฟท์ถูกแยกจากศิลปะมากเกินไป แต่จริงๆ เราว่าคนที่ทำกับข้าวเขาก็ทำงานศิลปะ คนซ่อมของก็เป็นการสร้างสรรค์อะไรบางอย่าง

กฤชนันท์: ผมไม่ได้จำกัดความว่ามันจะเรียกว่าคราฟท์หรืออาร์ตหรืออะไร ผมแค่ทำในสิ่งที่ผมชอบและรู้สึกดีกับมัน อาจมีแค่เส้นบางๆ กั้นงานแต่ละหมวดหมู่ออกจากกัน ซึ่งก็คือแนวความคิดที่มาจากความตั้งใจของคนทำ อย่างถ้าอยู่ในสังคมไทย ทำอย่างนี้มันอาจจะดูเป็นคราฟท์แมน แต่ถ้าอยู่อีกที่ก็อาจเป็นอาร์ตติสก็ได้ มันขึ้นกับการยอมรับของคนในสังคม

สตูดิโอออกแบบ ของ นักออกแบบ เซรามิก SLOW HANDS STUDIO
“ผมชอบลองเทคนิคใหม่ๆ อยากรู้ว่ามันทำบางได้แค่ไหน เพราะนี่คือดินพื้นถิ่นไม่ใช่ดินพอร์ซเลน ถ้าเป็นดินพอร์ซเลน เราต้องทำให้บางมาก ๆ เพื่อให้แสงผ่าน แต่ดินแบบนี้ผมทำเพราะผมอยากทดลอง” – กฤชนันท์ ศรีระกิจ

Q:  แฮนด์คราฟท์จำเป็นต้องใช้ “มือ” เท่านั้นไหม

กฤชนันท์: มันขึ้นกับเจตนาของเขา ไม่ใช่แค่ผลลัพธ์สุดท้าย ความตั้งใจในที่นี้ต้องสื่อสารกับคนดูหรือคนซื้อด้วย

ชลธิชา: กระบวนการสำคัญกว่า เขาอาจจะมีข้อจำกัดเยอะจนต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือในการถ่ายทอด แต่ต้องจริงใจกับตัวเอง ไม่หลอกตัวเอง ว่าฉันทำงานคราฟท์ หรือทำงานอุตสาหกรรม

สตูดิโอออกแบบ ของ นักออกแบบ เซรามิก SLOW HANDS STUDIO
บ้านดินหลังน้อยที่เป็นทั้งที่พักอาศัยและสตูดิโอสร้างสรรค์
สตูดิโอออกแบบ ของ นักออกแบบ เซรามิก SLOW HANDS STUDIO
เจิน-กฤชนันท์ ศรีระกิจ กับมุมนวดดินในสตูดิโอกะทัดรัดที่โปร่งโล่งเชื่อมต่อกับธรรมชาติ

 

Q: Slow Hands เติบโตมาถึงจุดไหนแล้ว

ชลธิชา: เราขอตอบว่า “ก็ดี” เพราะสตูดิโอเรายังไม่เคยเจอช่วงที่ลำบากมาก ๆ มีคนรู้จักงานเจินอยู่แล้ว หรือเพื่อนแนะนำให้มาเรียนที่นี่ ก็มีคนเข้ามาเรียนเรื่อย ๆ สตูดิโออยู่ได้ด้วยตัวมันเอง เราไม่ได้ร่ำรวย แต่ก็ไม่ได้ขาดทุน

กฤชนันท์: จริง ๆ ขาดทุนรึเปล่าไม่รู้เพราะเราไม่ได้คิดถึงตรงนั้น  ที่ทำสตูดิโอ ตอนแรกไม่ได้ใหญ่ขนาดนี้ แค่อยากทำงานส่วนตัว ถ้ามีคนมาเรียนก็สอน ไม่มีคนมาเรียนก็ทำงานตัวเองไป

ชลธิชา: เราไม่เคยคิดว่าต้องได้รางวัล หรือมีชื่อเสียง ดังนั้นแค่มีคนมาซื้องานที่สตูดิโอก็พอแล้ว บางคนอาจเรียกว่านี่คือไม่ประสบความสำเร็จ แต่เราเคยผ่านช่วงจนสุด ๆ มาแล้ว แต่ก็ยังยืนยันว่าจะทำงานนี้ต่อไป ไม่หางานประจำ แต่ทุกอย่างคงมีจังหวะของมันเอง คงไม่ใช่ทุกยุคทุกสมัยที่คนจะชอบงานเรา แต่มีคนสักกลุ่มนึงที่เกิดชื่นชมงานเราขึ้นมา มันก็ดีนะ

กฤชนันท์: ผมว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่ช่วงแรกจะลำบากถ้าไม่มีทุน ขึ้นกับแผนของแต่ละคน ว่าอยากไปถึงระดับไหน

ชลธิชา: ถ้าอยากเป็นศิลปินแห่งชาติ ก็คงต้องเดินอีกเส้นทางหนึ่ง

กฤชนันท์: เอาตรงๆ ผมก็ไม่มีแผนอะไรเลย ผมมองสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามากกว่า เฉพาะวันนี้

สตูดิโอออกแบบ ของ นักออกแบบ เซรามิก SLOW HANDS STUDIO
นักเรียนมีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่หมุนเวียนกันมาสัมผัสและสร้างสรรค์ “ดิน” ให้เป็นชิ้นงานที่ต้องการ

Q: กระแสงานคราฟท์ในเชียงใหม่ตอนนี้เป็นอย่างไร 

ชลธิชา: อยู่ดีๆ ในช่วงไม่กี่ปีนี้ ทุกคนก็อยากทำงานแฮนด์เมดกันหมด ไม่รู้เป็นกระแสรึเปล่า แต่จริงๆ ของแบบนี้มันขึ้นกับเจตนาของคน อย่างคนหนึ่งอยากทำคราฟท์เบียร์ ก็ทดลองหมักเบียร์เองทำอะไรเองด้วยความหลงใหล แต่อีกคนเห็นเทรนด์คาเฟ่กำลังมา เขาก็ทำเพื่อธุรกิจ ส่วนตัวคิดว่าเจตนาที่ต่างกันนี่แหละจะส่งผลให้ “งาน” ของเขาออกมาไม่เหมือนกัน คนหนึ่งบอกว่า ถึงจนสุดๆ เราก็จะยืนหยัดทำต่อไป ส่วนอีกคนบอกว่าฉันทำตรงนี้เพราะมันทำเงินได้ ความรักในสิ่งที่เขาทำ และระยะเวลาจะบ่งบอกเองว่าคนไหนทำงานคราฟท์จริงๆ

กฤชนันท์: คนที่ตั้งใจทำงานคราฟท์จริงๆ เขาจะสามารถพัฒนาทั้งความคิดและฝีมือไปด้วย งานเขาจะไม่หยุดนิ่ง

ชลธิชา: งานคราฟท์มันไม่ใช่อะไรที่ปุปปัปได้ ไม่มีทางลัด มันต้องใช้เวลาความทุ่มเท และการฝึกฝน แต่ถ้าคุณรักมันยังไงคุณก็ไม่บ่นอยู่แล้ว คุณตื่นขึ้นมาทุกวัน คุณก็แฮปปี้ที่จะได้ทำมัน แต่ถ้าคุณหลอกลวงตัวเอง สักพัก คุณจะสงสัยว่าทำไปเพื่ออะไร ถ้าอยากลองทำงานคราฟท์ ลองเลย เราดีใจที่จะมีงานสร้างสรรค์ที่หลากหลาย เพราะความหลากหลายมันจะทำให้คนที่ทำงานคราฟท์มีแรงกระตุ้นด้วยกันเอง แต่ถ้าลองแล้วพบว่าไม่เวิร์คก็ไม่เป็นไร ตราบใดที่มันไม่มีมีการตัดสินว่าฉันเป็นอย่างนี้เธอจึงผิด หรือตัวตนของฉันดีกว่าของเธอ มันก็โอเค

กฤชนันท์: ต้องมีความตั้งใจ และซื่อสัตย์กับคนเสพคราฟท์ด้วย สมมุติเราทำแก้วเซรามิกจากแม่พิมพ์ แล้วบอกว่านี่คืองานทำมือ แล้วไปขายในราคาอีกแบบ อันนี้มันจะทำให้คนทำคราฟท์ตายกันหมด มันจะไม่มีพื้นที่สำหรับความสร้างสรรค์จริงๆ

 

สตูดิโอออกแบบ ของ นักออกแบบ เซรามิก SLOW HANDS STUDIO

Q:  ตอนนี้ถือเป็นยุครุ่งเรืองของงานคราฟท์ไหม

กฤชนันท์: คิดว่าเป็นอย่างนั้น เพราะไปที่ไหนก็เจอแต่คราฟท์ มันเป็นเทรนด์ละมั้ง

ชลธิชา: เมื่อก่อนถ้าจะพูดเรื่องเซรามิก คนจะคิดว่าเซรามิกใบสิบบาทเอง ช็อคมากที่เราขายใบละสี่ร้อยกว่า

กฤชนันท์: แต่ก่อนเริ่มขายที่เชียงใหม่ก็เจอมาเยอะ ลูกค้าบอกว่า “ซื้อลำปางดีกว่าสิบบาทเอง” แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแบบนั้นแล้ว

ชลธิชา: ต้องขอบคุณทุกคนที่ทำงานคราฟท์เหล่านี้มาให้ความรู้ผู้บริโภคว่ามันมีกระบวนการต่างกันอย่างไร จนเกิดความเข้าใจในวงกว้าง

กฤชนันท์: อย่างในเชียงใหม่เองผมว่าทั้งคนจากที่นี่เองและคนจากถิ่นอื่น เขามาที่นี่เพื่อเสพสิ่งเหล่านี้

ชลธิชา: คราฟท์ที่นี่เหมือนเด็กคนหนึ่งที่ค่อยๆ โตขึ้น ค่อยๆ เรียนรู้ มีวุฒิภาวะมากขึ้น บุคลิกที่ชัดเจนมากขึ้น มีอัตลักษณ์มากขึ้น ถามว่ามันจะพัฒนาไปถึงไหน เราไม่รู้ แต่พัฒนาการบางอย่าง ทำให้เรารู้สึกว่างานคราฟท์ที่นี่เติบโตไปได้เรื่อยๆ บวกกับที่เขาจะพยายามให้เชียงใหม่เป็นมรดกโลก ก็ยิ่งทำให้คนข้างนอก รู้ว่าเชียงใหม่ไม่ได้มีแค่ศิลปะดั้งเดิม แต่มีคนที่เอาอย่างอื่นเข้ามาปรับใช้กับสุนทรียะของที่นี่ด้วย คราฟท์ก็จะโตไปพร้อมๆ กับยุคสมัย

สตูดิโอออกแบบ ของ นักออกแบบ เซรามิก SLOW HANDS STUDIO
ผลงานของ ถิง-ชลธิชา สุจริตพินิจ จากนักวาดภาพประกอบ มาวันนี้เธอถ่ายทอดเรื่องราวของตัวละครสู่รูปแบบสามมิติ โดยใช้เซรามิกเป็นสื่อกลาง

สำหรับใครที่สนใจ ติดตาม SLOW HANDS STUDIO ได้ที่ www.facebook.com/slowhandsstudio


ค้นหาแรงบันดาลใจจากมุมมองความคิด กับบุคคลต้นแบบด้านงานออกแบบและสร้างสรรค์ในสาขาต่าง ๆ เพิ่มเติมที่นี่

ศุภพงศ์ สอนสังข์ สวนต้นไม้ของนักออกแบบ

สมคิด เปี่ยมปิยชาติไม่หยุด“คิด” กับ สมคิด เปี่ยมปิยชาติ ผู้บุกเบิกวิชาชีพถ่ายภาพสถาปัตยกรรมในไทย