บางครั้งการเลือกทำเลที่ตั้งเพื่อเป็นพื้นที่ในการสร้างบ้าน ก็เป็นเรื่องสําคัญไม่แพ้งานสถาปัตยกรรมและอินทีเรียร์ เพราะพื้นที่ที่ดีมักช่วยส่งเสริมให้บ้านหลังงามดูมีเสน่ห์มากขึ้น ดังเช่น บ้านโมเดิร์น ของครอบครัวโชติสกุลรัตน์ หลังนี้
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Research Studio Panin
หมู่บ้านไม้ล้อมเรือนบนถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 อยู่ห่างจากสวนหลวง ร.9 เพียงแค่ 300 เมตร อากาศใน โครงการและบริเวณโดยรอบจึงสดชื่นเพราะอยู่ใกล้กับปอดของกรุงเทพฯ อีกทั้งทางโครงการยังเน้นคอนเซ็ปต์พื้นที่สีเขียว มีสนามหญ้าและต้นไม้ใหญ่เป็นพื้นที่ส่วนกลางกับระบบไฟฟ้าใต้ดินไม่มีสายไฟระโยงระยางมารบกวนสายตา ทั้งหมดนี้เอื้อให้บรรยากาศภายในหมู่บ้านเหมาะที่จะเป็น แหล่งที่อยู่อาศัยและพักผ่อนอย่างแท้จริง
// พอมาอยู่บ้านใหม่ทุกคนต่างก็พรั่งพรูความสุขของตนเองออกมา ทําให้รู้ว่าจริงๆ แล้วเราอยากทําแบบนี้มานานแล้ว
แต่ไม่มีโอกาสเพราะบ้านอยู่ในเมือง อย่างคุณแม่ก็กลายเป็นคนชอบปลูกต้นไม้ไปโดยปริยาย //
“เดิมบ้านผมอยู่ใกล้ๆตลาดน้อย ในจุดที่ทับซ้อนกับ เส้นทางรถไฟฟ้า จึงต้องย้ายที่อยู่หาพื้นที่สร้างบ้านใหม่ และเนื่องจากออฟฟิศของภรรยาอยู่แถวอุดมสุข จึงตระเวนหา ที่ดินแถวสวนหลวง ร.9 แล้วมาลงตัวที่หมู่บ้านนี้ โดยได้ รศ.ดร.ต้นข้าว ปาณินท์ สถาปนิกที่เคยร่วมงานกับทางบริษัท ของภรรยามาออกแบบบ้านหลังนี้ให้”
คุณไพบูลย์ โชติสกุลรัตน์ คุณพ่อของลูก ๆ ทั้ง 3 คน เล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ไปของบ้านหลังใหม่สไตล์โมเดิร์น ขนาด 900 ตารางเมตร สูง 3 ชั้น ตัวอาคารภายนอกดูเหมือนกล่องสี่เหลี่ยมสีขาวขนาดใหญ่ภายใต้ฟาซาด (Façade Design งานออกแบบเปลือกอาคารเพื่อทําให้รูปร่างหน้าตา ของอาคารดูสวยงามขึ้น)สีเทา ก่อนที่คุณมาณิสสา โชติสกุลรัตน์ ลูกสาวคนกลางจะช่วยเสริมอย่างอารมณ์ดีว่า
“เราอยู่บ้านตึกแถวมาตั้งแต่เด็ก แล้วก็ชินกับการอยู่แบบนั้น ห้องนอนอยู่ชั้นสาม ข้างล่างเป็นโกดังซีอิ๊ว วิ่งขึ้นวิ่งลงจนรู้สึกเหนื่อย เราได้ยินเสียงรถตลอดทั้งวัน แต่มาที่นี่เราตื่นเพราะเสียงนกร้อง”
โกดังซีอิ๊วที่คุณมาณิสสาพูดถึงคือผลิตภัณฑ์จากโรงงาน ซีอิ๊วโชติสกุลรัตน์ ที่ดําเนินกิจการมาเกือบ 100 ปีด้วยสูตรดั้งเดิมจากเมืองจีน โดยตัวเธอรับช่วงต่อจากคุณพ่อที่กําลังจะหยุดพักเกษียณในอนาคต เธอมีพี่น้องอีก 2 คน คือ คุณมาลียาและคุณพงษ์ภัทร โชติสกุลรัตน์
“เมื่อก่อนที่ทํางานกับบ้านแทบจะเป็นที่เดียวกัน อยู่ที่นี่ก็เลยทําเป็นห้องหนังสือแยกออกมา แต่พอถึงเวลาจริงๆ ก็ไม่ค่อยได้ใช้ กลับบ้านมาก็พักผ่อนเป็นส่วนใหญ่” คุณศุภรัตน์ โชติสกุลรัตน์ คุณแม่และเจ้าของ United Analyst and Engineering Consultant Co., Ltd. บริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมอันดับต้นๆ ของเมืองไทยกล่าว
บ้านหลังนี้คืองานสถาปัตยกรรมที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของสมาชิกในครอบครัวโชติสกุลรัตน์ทั้ง 5 ท่าน ซึ่งมีช่วงเวลาการพักผ่อนและทํางานแตกต่างกัน แม้ไลฟ์สไตล์จะไม่เหมือนกันเลย แต่สถาปนิกก็สามารถออกแบบฟังก์ชันส่วนต่างๆในบ้านให้ตอบสนองความต้องการของแต่ละคนได้อย่างลงตัว ทําให้ทุกคนมีความสุขกับบ้านหลังใหม่อย่างไม่น่าเชื่อ
“ผมอยู่ตึกแถวมาก่อน และชอบรูปทรงของบ้านที่ไม่มี หลังคาหน้าจั่ว อีกอย่างคือต้องการบรรยากาศบ้านไม้ที่เป็นไม้ธรรมชาติจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นพื้นหรือประตู สถาปนิกจึง ตอบโจทย์นี้ด้วยการใช้ไม้มะค่าทั้งหมด โครงสร้างของบ้านแยกออกเป็น 2 ส่วนชัดเจน ฝั่งหนึ่งเป็นของครอบครัวผม ฝั่งหนึ่งเป็นของครอบครัวพี่สาวซึ่งอยู่อเมริกา โดยออกแบบ ให้องค์ประกอบทุกส่วนดูกลมกลืนกันทั้งหลัง”
จากความต้องการของคุณไพบูลย์ แปลนบ้านที่ออกมา จึงมีลักษณะเป็นบ้านแฝดสองหลัง เว้นคอร์ตตรงกลางไว้สําหรับทําเป็นสวนหย่อมเล็ก ๆ แล้วสร้างทางเชื่อมระหว่าง ตึกในแต่ละชั้น ความเป็นบล็อกสี่เหลี่ยมของอาคารอาจ ทําให้เกิดปัญหาความร้อน แต่สถาปนิกจัดการได้ด้วยการ ออกแบบให้มีหน้าต่างอยู่รอบบ้าน ช่วยระบายอากาศให้ เย็นสบายตลอดทั้งวันแทบไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศเลย ภายในบ้านเน้นปูพื้นและใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้เป็นหลัก จนออกมาเป็นบ้านที่มีบรรยากาศสบาย ๆ แสนอบอุ่น
จากวิถีชีวิตแบบเดิมของครอบครัวขยายบนบ้านแบบ อาคารพาณิชย์ แปรเปลี่ยนให้เกิดความเป็นส่วนตัวตาม ขนาดของบ้านที่ใหญ่ขึ้น แม้ว่าการมีบ้านโอ่โถงบางครั้งจะ ทําให้รู้สึกเหงาเพราะเจอกันน้อยลง แต่ครอบครัวนี้กลับ มีมุมมองและหาทางแก้ปัญหาน่ารักๆ โดยพยายามมานั่งคุยและทํากิจกรรมร่วมกันให้มากที่สุด ทําให้เวลาว่างมีค่าอย่างยิ่งสําหรับทุกคนในครอบครัว หรือแม้แต่ แอพพลิเคชั่นอย่าง Line ก็ช่วยให้พวกเขาได้อัพเดตเรื่องราว ประจําวันของกันและกันได้ง่ายขึ้น
เจ้าของ : ครอบครัวโชติสกุลรัตน์
ออกแบบ : รศ.ดร.ต้นข้าว ปาณินท์
เรื่อง : กษมา
ภาพ : จิระศักดิ์, นันทิยา
คอลัมน์ : room to room
เล่ม : April 2014 No.134