โรงรับจำนำ มันนี่คาเฟ่ ปิ่นคู่ Money Café Pinkoo ฉีกภาพโรงรับจำนำที่เคยรู้จัก - room life

Money Café Pinkoo โรงรับจำนำ มันนี่คาเฟ่ ปิ่นคู่

โรงรับจำนำ มันนี่คาเฟ่ ปิ่นคู่ หรือ Money Café Pinkoo  ขนาดหนึ่งคูหา 4 ชั้น ย่านปิ่นเกล้านี้ ที่เรียกได้ว่าฉีกภาพโรงรับจำนำที่หลายคนเคยเห็นไปได้เลย จุดเริ่มต้นมาจาก คุณชูศักดิ์ ตั้งเลิศสัมพันธ์ เจ้าของ ต้องการรีแบรนด์กิจการให้ดูทันสมัยขึ้น นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ท้าทายสำหรับสถาปนิกโครงการอย่าง คุณจิรวิชช์ แย้ม-กลีบ และ คุณสุคนธ์ทิพย์ เสงี่ยมวงศ์ จากบริษัท ARCHI.SMITH ผู้มารับหน้าที่รีโนเวตทั้งงานสถาปัตยกรรม งานตกแต่งภายใน ไปจนถึงงานกราฟิกของโครงการ

โรงรับจำนำ มันนี่คาเฟ่ ปิ่นคู่
จากมุมมองด้านหน้าจะเห็นว่ามีพื้นที่ค่อนข้างแคบ เพื่อสร้างความโดดเด่นจึงต้องออกแบบเปลือกอาคารให้แตกต่างและเป็นที่จดจำมากกว่าบริบทที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน

แน่นอนว่าการรีโนเวตอาคารเก่าอายุหลายสิบปีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แถมยังมีข้อจำกัดหลายประการ เช่นโครงสร้างเดิม ความปลอดภัยภายในอาคาร พื้นที่หน้าร้านที่ค่อนข้างเล็ก และบริบทรอบข้างที่ค่อนข้างพลุกพล่านแต่นั่นยังไม่ท้าทายเท่ากับการที่ต้องออกแบบและก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเวลาเพียง 5 เดือน โดยมีโจทย์ว่าต้องออกมา “เรียบ หรู” มีฟังก์ชันที่สอดคล้องกับงานดีไซน์และสามารถแก้ปัญหาอาคารเดิมได้

โรงรับจำนำ มันนี่คาเฟ่ ปิ่นคู่

ผลลัพธ์คือสถาปัตยกรรมที่มีรูปลักษณ์โดดเด่นโดยเฉพาะในส่วนของเปลือกอาคารหรือฟาซาด (façade)ที่ผู้ออกแบบเลือกนำกระจกเทมเปอร์ลามิเนตสีดำมาติดบนโครงสร้างเหล็กไอบีมจำนวน 20 บาน เรียงกัน 4 ชั้นชั้นละ 5 บาน โดยกระจกในแต่ละชั้นจะหันหน้าสลับกันเพิ่มดีเทลด้วยการติดอะลูมิเนียมสีทองที่สันกระจก ขับให้เส้นตรงของเปลือกอาคารแนวตั้งดูชัดเจนยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเสริมบรรยากาศด้วยไฟสีชมพูในยามค่ำคืนช่วยดึงดูดสายตา เข้ากันดีกับสีดำ ทอง และชมพูซึ่งเป็นสีประจำของโรงรับจำนำ

เนื่องจากส่วนหนึ่งของการออกแบบมาจากการแก้ปัญหาเดิมของอาคาร ทีมงานจึงยกตัวอย่างให้ฟังว่าเนื่องจากตัวอาคารเป็นโรงรับจำนำที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ช่องเปิดต่าง ๆ จึงมีน้อย แถมหน้าอาคารยังปิดทับด้วยแผ่นป้ายโฆษณาอะลูมิเนียมขนาดใหญ่ แสงและลมไม่สามารถเข้ามาได้ ส่งผลให้การระบายอากาศทำได้ไม่ดีนัก เพื่อแก้ปัญหานี้จึงต้องติดตั้งตะแกรงเหล็กฉีกซ้อนไว้ระหว่างผนังอาคารและฟาซาด ส่วนช่องระหว่างกระจกที่เกิดจากการบิดเอียงนั้นก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ใช้ระบายความร้อนได้ดี เนื่องจากอากาศร้อนจะลอยตัวสูงขึ้นแล้วถูกระบายออกไปผ่านช่องเปิดต่าง ๆ ลมเย็น ๆที่อยู่ด้านล่างก็จะเข้ามาแทนที่ เกิดการหมุนเวียนอากาศช่วยลดการสะสมความร้อนซึ่งมาจากอากาศภายนอกและคอมเพรสเซอร์แอร์

ส่วนอีกเรื่องที่ผู้ออกแบบยังคงต้องให้ความสำคัญคือเรื่องความปลอดภัยทั้งพนักงานภายในร้านและลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ เพราะโรงรับจำนำแห่งนี้เปิดตลอด 24ชั่วโมง และมีลูกค้าแวะเวียนมาใช้บริการตลอดทั้งวันระหว่างการรีโนเวตจึงต้องใช้วิศวกรถึง 3 คน คือ วิศวกรออกแบบ 1 คน และวิศวกรอีก 2 คนสำหรับดูแลหน้างานตลอดการก่อสร้าง เนื่องจากงานรีโนเวตอาคารเก่ามักเจอเรื่องนอกเหนือจากในแบบอยู่เรื่อย ๆ ทำให้ต้องแก้ปัญหาหน้างานและปรับแบบกันบ่อยครั้ง

โรงรับจำนำ มันนี่คาเฟ่ ปิ่นคู่
สันกระจกปิดขอบด้วยอะลูมิเนียมสีทองขับให้เส้นตรง ของเปลือกอาคารดูชัดเจนยิ่งขึ้น

แม้จะมีปัญหาหน้างานให้ทีมผู้ออกแบบต้องคอยรับมือตลอดเวลา แต่งานนี้จะแล้วเสร็จไม่ได้เลยหากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ออกแบบทีมช่าง วิศวกรโครงการ โดยเฉพาะเจ้าของโครงการที่เข้าใจและมองเห็นภาพไปในทางเดียวกัน ช่วยให้งานรีโนเวตอาคารเก่าที่ว่ายากกลับลื่นไหลและเสร็จทันตามกำหนดเวลา งานรีโนเวตโรงรับจำนำอาจไม่ใช่สิ่งที่คนไทยคุ้นเคยนัก แต่เรามั่นใจว่า วิธีการทำงาน การเลือกวัสดุตลอดจนการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจที่อยากจะคืนชีพอาคารเก่าให้กลับมามีมูลค่าและน่าสนใจอีกครั้ง

ออกแบบ ARCHI.SMITH โทร. 08-6551-9191
สถาปนิก คุณจิรวิชช์ แย้มกลีบ, คุณสุคนธ์ทิพย์ เสงี่ยมวงศ์
วิศวกรออกแบบ คุณพิพัฒน์ ศุภสัณฐิติกุล วิศวกรโครงการ คุณพรชัย ชวนะเวช, คุณพงษ์ศักดิ์ ชีพสัตยากร


เรื่อง Ektida N.
ภาพ SPACESHIFT
เรียบเรียง Parichat K.