ขั้นตอนการผลิตหนังสือ
- การเตรียมต้นฉบับขั้นตอนนี้เป็นหน้าที่ของทางสำนักพิมพ์ที่จะหาข้อมูล เขียนเรื่อง ถ่ายรูป จัดหน้าอาร์ตเวิร์คให้สวยงาม พร้อมที่จะส่งโรงพิมพ์
- งานเตรียมพิมพ์ เป็นขั้นตอนที่รับอาร์ตเวิร์คมาจากสำนักพิมพ์ เพื่อจัดเรียงหน้า ออกบรู๊ฟสีให้ใกล้เคียงงานจริงมากที่สุดแล้วนำส่งให้ทางสำนักพิมพ์หรือเจ้าของงานตรวจสอบความถูกต้อง จากนั้นจึงออกเพลท (แม่พิมพ์)
- งานพิมพ์ เป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ความชำนาญและรอบคอบเป็นพิเศษ เพราะถ้าพิมพ์แล้วเกิดปัญหาสีเพี้ยน สีเลอะสกปรก ตัวหนังสือหาย นั่นหมายความว่าเราต้องทิ้งกระดาษที่พิมพ์ไปแล้วทั้งหมด ช่างพิมพ์จะมีหน้าที่คอยตรวจสอบตัวหนังสือและสีสันของภาพให้ถูกต้องตามต้นฉบับซึ่งจะพลาดไม่ได้เลย
- งานพับ เมื่องานพิมพ์แล้วเสร็จจะถูกส่งต่อให้แผนกพับ ซึ่งจะนำงานที่พิมพ์เสร็จแล้วทั้งหน้าและหลังมาพับให้เกิดการเรียงหน้าต่อกัน จัดวางให้เป็นชุดๆ ยกตัวอย่างเช่น หนังสือหนึ่งเล่มมี 96 หน้า ขนาด A4 เข้าเล่มแบบไสกาว คนโรงพิมพ์จะรู้ทันทีว่า หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือ 8 หน้ายก (1 ยก มี 8 หน้ากระดาษหนึ่งแผ่นเท่ากับพิมพ์ได้ 2 ยก)หนังสือเล่มนี้มีทั้งหมด 12 ยก เวลาเก็บชุดงานพับเราจะได้งานทั้งหมด 6 ชุดงานพิมพ์ที่พับแล้ว เท่ากับหนังสือหนึ่งเล่ม
- เก็บเล่มไสกาว เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการผลิต โดยนำงานที่พับเรียบร้อยแล้วมาวางเป็นกองๆแยกลำดับหน้าให้ดี แล้วนำเข้าเครื่องไสกาวเพื่อใส่ปกในลำดับต่อไปขั้นตอนนี้ต้องใช้ความพยายามมากไม่แพ้ขั้นตอนอื่นๆเพราะต้องแบกภาระจากขั้นตอนการผลิตก่อนหน้านี้ ถ้าพิมพ์ไม่ดี พับไม่ดี มาถึงการเก็บเล่มไสกาวแล้วจะเป็นอะไรที่แก้ไขยากมาก
พูดได้เลยว่าทุกขั้นตอนการพิมพ์ล้วนสำคัญต้องใช้สมาธิ ความละเอียดอ่อนและประสบการณ์ในการทำงานอย่างมาก แต่ด้วยความรักในตัวหนังสือ รักในงานพิมพ์ สิ่งเหล่านี้จึงเปรียบเสมือนชีวิตและจิตวิญญาณของคนโรงพิมพ์ หลายคนมีความรู้รอบตัวก็จากงานที่นั่งพับนั่งพิมพ์นี่ล่ะ มันค่อยๆซึมซับกันไปอย่างที่เราเองก็ไม่รู้ตัว
การพิมพ์และสื่อสิ่งพิมพ์จะยังคงอยู่อีกนานแค่ไหนเราตอบไม่ได้เพราะนี่เป็นแค่บทวิเคราะห์ของคนโรงพิมพ์กลุ่มหนึ่งเท่านั้น เราได้แต่หวังว่าถ้าทุกคนหันกลับมามองหนังสือดีๆสักเล่มแล้วซื้อกลับบ้าน เปิดอ่านและละเลียดกับตัวหนังสือและรูปภาพอย่างมีความสุข เท่านี้ก็เพียงพอและสุขใจแล้วสำหรับ “คนโรงพิมพ์”
เสียงจากคนโรงพิมพ์
สมจิตร นวนทอง (อายุงาน 35 ปี)
“เมื่อก่อนงานเยอะ พี่ทำงานแบบไม่ค่อยได้กลับบ้าน อาทิตย์หนึ่งจะกลับบ้านสักครั้ง ตอนนั้นยังเป็นวัยรุ่น ก็สนุกไม่ได้คิดอะไรมากปัจจุบันทำงานมา35 ปี จนเกษียณแล้วแต่ทางโรงพิมพ์ก็ยังให้มาช่วยทำงาน ก็ดีนะ เราจะได้ไม่เบื่อ ในฐานะที่เป็นคนโรงพิมพ์ พี่จะพยายามตั้งใจทำงานให้ดีที่สุดจะผิดพลาดไม่ได้ รู้สึกภูมิใจค่ะ”
เพ็ชรา ชื่นความดี (อายุงาน 36 ปี)
“ทำงานที่โรงพิมพ์อมรินทร์ตั้งแต่อายุ 16 ปี เพื่อนๆพี่ๆน่ารักช่วยเหลือกันทุกเรื่อง มีความสุขกับการทำงานที่ได้รับมอบหมาย ทุกวันนี้มีฐานะที่มั่นคงก็จากการทำงานที่โรงพิมพ์นี่แหละ พี่คิดอย่างเดียวว่างานที่เข้ามา สิ่งที่ลูกค้าต้องการ พี่จะต้องทำให้ดีที่สุด”
รวี วัฒนเชื้อ (อายุงาน 12 ปีครึ่ง)
“ผมเรียนจบด้านการพิมพ์ สมัยนั้นโรงพิมพ์อมรินทร์เป็นที่ใฝ่ฝันของนักศึกษาจบใหม่ และผมก็ได้รับโอกาสนั้น เมื่อสิบกว่าปีก่อนตลาดสิ่งพิมพ์บูมมาก ผมได้เรียนรู้และรับประสบการณ์ดีๆจากที่อมรินทร์และยังคงทำสิ่งพิมพ์ต่อไป ผมชอบวงการสิ่งพิมพ์นะ เพราะเป็นการรวมกันระหว่าง วิทยาศาสตร์กับศิลปศาสตร์ทำให้เราเข้าถึงคุณค่าของการมีชีวิตและดำเนินชีวิตได้ดีกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ตามความเห็นส่วนตัวนะครับ ผมว่าโรงพิมพ์คงไม่มีวันตาย เพราะในด้านการนำข้อมูลความรู้ไปใช้ความน่าเชื่อถือของสื่อด้านอื่นๆยังสู้หนังสือไม่ได้ ตอนนี้ก็อยู่ที่ตัวเราว่าจะปรับตัวอย่างไรให้สามารถเดินไปพร้อมกับแพลตฟอร์มอื่นๆปัญหาไม่ได้อยู่ที่คนไทยไม่รักการอ่านหนังสือ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่หนังสือจะตาย ผมมองว่าอยู่ที่เราจะทำอย่างไรให้หนังสือไปถึงมือคนอ่านได้รวดเร็ว สะดวก และทันสมัย ในราคาที่ประหยัดและตรงกับใจเขาเท่านั้นเอง”
สนับสนุนพวกเราถ้าคุณคิดว่าสิ่งที่เราทำมีค่าครับ อย่าซื้อเพราะสงสารนะครับ เพราะในทางธุรกิจเราไปได้หลายช่องทาง เราต่อยอดออกมามากมายไม่เคยหยุดนิ่ง แต่ประเทศไทยจะยังมีหนังสือให้อ่านไหม คุณช่วยกำหนดได้
เรื่องและภาพ : ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
ภาพ : เศรษฐ์ศิริ โรจน์สิริกาญจนา