THINKING LIKE JAPANESE ARCHITECTs - room

THINKING LIKE JAPANESE ARCHITECTs

หากพูดถึงเทรนด์การออกแบบพื้นที่เพื่อความคุ้มค่าสูงสุดบนเนื้อที่อันจำกัดแล้ว คงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่พูดถึงแนวคิดการออกแบบพื้นที่ของ “ประเทศญี่ปุ่น” ประเทศที่มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจในขณะที่ยังคงรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมเอาไว้ได้ ความคุ้มค่าในความหมายของคนญี่ปุ่นจึงไม่ได้หยุดอยู่ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด แต่หมายถึง “ความคุ้มค่า”ที่มีความหมายกับไลฟ์สไตล์ของคนด้วย

เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัทเอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมมือกับบริษัทมิตซูบิชิ จิโช เซเคอิ จำกัด จัดสัมมนาภายใต้หัวข้อ “Every Inch Matters-Principles of Japanese Design” ทำให้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณเท็ตสึยะ โอคุสะ และ คุณโชอิจิโระ โทบะ สองสถาปนิกผู้มีบทบาทสำคัญของบริษัทมิตซูบิชิ จิโช เซเคอิ ซึ่งได้นำเสนอไอเดียการดีไซน์แบบญี่ปุ่นให้เราได้ฟังกัน

 

JAPAN_02

คุณเท็ตสึยะ ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ (นานาชาติ) เล่าให้เราฟังว่า สถาปนิกของญี่ปุ่นนอกจากจะต้องมีทักษะการออกแบบภายนอกแล้ว ยังต้องมีความเชี่ยวชาญด้านการตกแต่งภายใน ไปจนถึงความรู้ทางด้านผังเมือง ทำให้เขามีโอกาสออกแบบงานหลาย ๆ อย่างแตกต่างกันไป หนึ่งในงานที่เขาชื่นชอบเป็นพิเศษคือ โรงแรมเพนนินซูล่า โตเกียว โรงแรมที่มีชื่อเสียงโด่งดังและได้รับความนิยมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโตเกียว โดยเขาได้ดัดแปลงวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรมนี้ด้วย

“โจทย์การออกแบบที่นี่คือ ทำอย่างไรให้โรงแรมเป็นพื้นที่ที่ให้ความรู้สึกว่า ‘ยินดีต้อนรับ’ นอกจากความสวยงามหรูหรา ผมเลือกใส่ความรู้สึกเป็นมิตรด้วยไอเดียจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของญี่ปุ่น อย่างการสาดน้ำไปที่พื้นหน้าบ้านเวลาอากาศร้อน มาสู่การออกแบบให้ลานกว้างหน้าโรงแรมเป็นลานน้ำพุเตี้ย ๆ นอกจากจะช่วยลดอุณหภูมิแล้ว ยังเป็นจุดเด่นที่สำคัญอีกด้วย”

 

JAPAN_01

ส่วนทางด้าน คุณโชอิจิโระ หัวหน้าฝ่ายออกแบบ ก็ได้รับเสียงชื่นชอบและชื่นชมในวงการออกแบบของญี่ปุ่นมาแล้ว กับการออกแบบ Grand Font Osaka อาคารหน้าสถานีโอซะกะ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของเมืองนี้

อาคารนี้มีโจทย์ว่าต้องออกแบบให้แสดงถึงไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ ของโอซะกะ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ด้วยตึกที่ให้ความรู้สึกว่าเป็นอาคารแห่งอนาคต แต่ยังคงกลมกลืนกับธรรมชาติ สิ่งพิเศษที่สุดคือ การออกแบบให้ลานกว้างระหว่างตึกเป็นสระน้ำตื้น ๆ สำหรับเด็กเล็ก จนอาคารนี้ได้รับรางวัลพื้นที่พัฒนาธุรกิจและสิ่งแวดล้อมประจำปีแถมยังได้รับรางวัลอาคารที่ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ของเพื่อนในอาคารข้าง ๆ ด้วย

ผลงานอีกชิ้นที่สำคัญของเขาคือ การออกแบบพื้นที่ย่านมารุโนะอุจิ ซึ่งเป็นย่านธุรกิจสำคัญของญี่ปุ่น โดยได้ร่วมทำงานกับคุณเท็ตสึยะ ซึ่งเป็นผลงานที่ทั้งคู่ภาคภูมิใจ

“เราต้องสร้างเมืองมารุโนะอุจิให้เป็นเมืองพัฒนาใหม่ สร้างพื้นที่สีเขียวและเพิ่มไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ ลงไป ฉะนั้นการออกแบบครั้งนี้จึงต้องออกแบบให้เห็นทั้งเทคโนโลยีและความเป็นญี่ปุ่นที่ชัดเจน” คุณโชอิจิโระเล่าโจทย์ของการออกแบบพื้นที่ให้เราฟัง

ย่านมารุโนะอุจิเป็นย่านธุรกิจที่เต็มไปด้วยอาคารสูงมากมายหลายชั้น และเป็นที่ตั้งของธุรกิจขนาดใหญ่มากมาย รวมถึงสำนักงานของธนาคารที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ แต่ละอาคารจึงเต็มไปด้วยการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด ผู้คนใช้ชีวิตมากมายที่นี่ในเวลาทำงาน แต่เมื่อถึงวันหยุดหรือเวลาเลิกงาน พื้นที่ในย่านนี้แทบจะไม่มีใครมาใช้ประโยชน์เลย ทั้ง ๆ ที่บริเวณรอบ ๆ คือย่านที่มีชื่อเสียงและมีคนมาใช้พื้นที่จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นย่านกินซ่า คันดะ หรือเขตพระราชวัง

“เมื่อเป็นแหล่งที่มีแต่ธุรกิจและธนาคาร ทำให้ไม่มีคนเดินแถวนี้เลย ตัวอาคารเองก็ค่อนข้างปิด เมื่อ 15 ปีที่แล้วจึงมีการมาคิดกันว่า เราจะทำให้เมืองนี้เป็นเมืองสำหรับทุกคนได้อย่างไร เมื่อระบบซีเคียวริตี้ไปบล็อกอยู่หน้าประตูทางเข้าแบบนั้น ต่อมาจึงได้มีการไปปรึกษากับเขตพื้นที่ผังเมือง แล้วทำงานร่วมกันโดยออกไอเดียว่า เราจะย้ายสิ่งที่ต้องการความปลอดภัยไปไว้บนอาคาร และย้ายซีเคียวริตี้ตามไป สิ่งต่อมาคือ การสร้างพื้นที่สีเขียวให้เป็นพื้นที่ต่อเนื่องกันในสเปซด้านล่าง ประกอบไปด้วยสวนสวย ๆ ที่มีร้านกาแฟ ร้านค้า พื้นที่สำหรับชุมชน และพิพิธภัณฑ์ เพื่อดึงคนให้หันมาใช้ประโยชน์มากขึ้น ทุกวันนี้เราทำให้ตึกเหล่านั้นเชื่อมโยงกัน ผู้ที่เข้ามาใช้งานจึงรู้สึกว่าเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของเขาได้จริง” คุณเท็ตสึยะอธิบายเพิ่มเติม

ตลอด 10 กว่าปีของการพัฒนา ย่านนี้ได้เปลี่ยนไป เป็นภาพลักษณ์ใหม่ ห้างร้านต่าง ๆ ใช้ฉากหลังของย่านมารุโนะอุจิในการสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ของตัวเองจนกลายเป็นซิกเนเจอร์ที่ทุกคนเริ่มจดจำได้แล้ว

สิ่งสำคัญที่สุดที่ทั้ง 2 ท่านเน้นย้ำอยู่เสมอเพื่อช่วยให้การออกแบบพื้นที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของคนคือ ต้อง“เข้าใจวิถีชีวิต” ของคนที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ เสียก่อนว่าเขาอยู่อย่างไร

โดยปกติเราจะเห็นว่า สถาปัตยกรรมในโลกนี้มักจะแบ่งโซนกันชัดเจน เช่น โซนสำหรับที่อยู่อาศัย โซนสำหรับธุรกิจ สิ่งที่นักออกแบบทั้งภายนอกและภายในควรคำนึงถึง คือ พื้นที่ในหนึ่งพื้นที่ไม่ได้มีเพียงฟังก์ชันเดียวอีกต่อไปในแต่ละพื้นที่สามารถแลกเปลี่ยนและบูรณาการข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ได้มากขึ้น ผ่านกิจกรรมใหม่ ๆ ที่เราสร้างขึ้นมาแม้กระทั่งการดึงผู้คนให้กลับมาใช้พื้นที่นั้น และนี่คือสิ่งที่เราได้จากการพูดคุยครั้งนี้…

ติดตามผลงานของคุณเท็ตสึยะ โอคุสะ และคุณโชอิจิโระ โทบะ ในเมืองไทยได้เร็ว ๆ นี้ กับทางบริษัทเอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)

 

เรื่อง: กษมา
ภาพ: จิระศักดิ์, Martin Holtkamp, Koshi Miwa,
Kawasumi.Kobayashi Kenji Photographer Office