มาเที่ยวชุมพรหนนี้ ผมมีโอกาสได้ไปชม “ โรงรับจำนำปู ”ครับ…คุณอ่านไม่ผิดหรอก สถานที่ที่ผมจะพาคุณไปชมนี้เขารับจำนำปูม้ากันจริงๆ ซึ่งก็ถือเป็นโครงการที่น่าสนับสนุนมากๆ เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ตามไปชมพร้อมๆกันครับ
ตอนนี้ผมอยู่กับ ลุงนรงค์ ม่วงทองคำ ผู้ริเริ่มโครงการวิสาหกิจชุมชน“ โรงรับจำนำปู ”ที่ตำบลสะพลี จังหวัดชุมพร อันเป็นองค์กรภาคประชาชนที่พัฒนามาจากเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงโดยเน้นการพึ่งพาอาศัยกันมากกว่าเรื่องธุรกิจ
“เราจะเอาแต่จับปูกินอย่างเดียวไม่ได้ คุณรู้ไหมปูที่มีไข่นอกกระดองนั้นจะมีปูที่เกิดใหม่ในอนาคตถึง7-8 แสนตัวเลยนะ ถ้าเราเอาตัวแม่ที่มีไข่มากินวันหนึ่งมันก็หมดไปเพราะฉะนั้นเราต้องช่วยกันอนุรักษ์”ลุงนรงค์บอกกับผมด้วยน้ำเสียงและแววตาที่มุ่งมั่น
ชุมชนในแถบนี้ประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำลายทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ซึ่งปูม้าก็เป็นหนึ่งในนั้นโดยเวลาที่ชาวประมงได้ปูม้ามาบางครั้งก็จะมีปูไข่นอกกระดองติดมาด้วยหากเป็นผู้ที่ไม่เห็นคุณค่าก็จะนำไปขายโดยไม่คำนึงถึงลูกปูที่จะต้องตายไปเป็นจำนวนมากลุงนรงค์จึงอาสาให้ความรู้แก่ชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อให้พวกเขาเห็นคุณค่าของไข่นอกกระดองที่ต้องสูญเสียไป กระทั่งเกิดการชักชวนให้จัดตั้งโรงรับจำนำปูแห่งนี้ขึ้นเพื่อให้ชาวประมงนำปูม้าที่มีไข่นอกกระดองมาจำนำเมื่อได้แม่ปูไข่มาก็จะอนุบาลลูกปูไว้ 3 วันจากนั้นก็จะนำไปปล่อยลงทะเล
ลุงนรงค์เล่าว่าทางโรงรับจำนำจะนำลูกปูไปปล่อยทุกวัน ส่วนถ้ามีนักท่องเที่ยวที่เข้าเยี่ยมชมกิจการและอยากมีส่วนร่วมด้วย ทางโรงรับจำนำก็ยินดีให้ร่วมออกไปปล่อยปูลงทะเลด้วยกันถือเป็นการปลูกฝังให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และนับว่าเป็นไอเดียการท่องเที่ยววิถีชุมชนชาวเลที่น่าสนใจไม่น้อย
โครงการโรงรับจำนำปูม้าแห่งนี้เปิดมาได้ 2 เดือนแล้ว และปล่อยลูกปูม้าไปเกือบ 5 ล้านตัวถึงตรงนี้ลุงนรงค์ก็ยิ้มด้วยสีหน้าภูมิใจและบอกว่างานนี้ได้รับความร่วมมือจากชาวประมงพื้นถิ่นและชาวบ้านเป็นอย่างดี ก่อนอธิบายถึงการรับจำนำปูม้าให้ฟังว่า
“โดยหลักการแล้วชาวประมงจะได้ตัวละ 20 บาทจากการนำปูม้าที่มีไข่นอกกระดองมาจำนำส่วนใหญ่ก็จะจำนำขาดเลยคือไม่มาเอาคืนทางโรงรับจำนำก็จะอนุบาลลูกปูที่เกิดจากไข่นอกกระดองนี้ แล้วนำไปปล่อยคืนสู่ท้องทะเลส่วนตัวแม่ก็จะนำไปจำหน่ายเพื่อนำเงินกลับมาหมุนเวียนในการบริหารโรงรับจำนำปูม้าต่อไป การจัดตั้งโรงรับจำนำแห่งนี้จึงถือเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์และเพาะพันธุ์ปูม้าไม่ให้หมดไปจากท้องทะเลไทย”
ลุงนรงค์กล่าวทิ้งท้ายก่อนเดินไปเตรียมลูกปูชุดแรกของวันนี้เพื่อจะนำไปปล่อยลงทะเลต่อไป
ปัจจุบันโรงรับจำนำปูแห่งนี้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ประจำชุมชนซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้สนใจและเด็กนักเรียนมาศึกษาวิธีการอนุรักษ์และเพาะพันธุ์ปูม้าสำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจอยากรับประทานปูม้าสดๆก็สามารถมาเลือกซื้อได้ที่นี่เช่นกัน
ใครสนใจโครงการดีๆแบบนี้ ลองดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/Majchastreetครับ
ขอขอบคุณ
คุณนรงค์ ม่วงทองคำ (ประธานกลุ่มวิสาหกิจประมงชายฝั่งอำเภอปะทิว)
โทรศัพท์ 08-4844-8670
อ่านเพิ่มเติม : บ้านและสวนชวนเที่ยวสวนผลไม้
l l l ll l l l l l ll l l l l l ll l l l l l ll l l l l l ll l l