จะว่าไปช่วงวัยเด็กของผมนี่ใช้ชีวิตติดคลอง เป็นเด็กบ้านสวนยุคท้ายๆก่อนที่สวนจะเปลี่ยนไปเป็นทาวน์เฮ้าส์ เมื่อความเจริญขยายตัวทำให้คนสวนเปลี่ยนเป็นคนเมืองคลองบางกอกน้อย
แต่คลองก็ยังคงอยู่ ทุกครั้งที่แวะเวียนผ่านไปคลองบางขุนเทียน คลองด่าน คลองบางหลวง คลองบางกอกน้อย ฯลฯ ดูเหมือนภาพความทรงจำในวัยเยาว์จะย้อนกลับมาอีกครั้ง จนถึงวัยทำงานชีวิตของผมก็ยังคงติดคลองอยู่นั่นเองเพราะออฟฟิศของบ้านและสวนก็ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย
ล่องเรือเที่ยวคลองบางกอกน้อย
ด้วยบรรยากาศของบ้านสวนริมคลองแบบนี้ก็ชวนให้นึกถึงนิยายรักอมตะของทมยันตีเรื่อง “คู่กรรม” บ้านของอังศุมาลินซึ่งเป็นนางเอกของเรื่องก็อยู่ริมคลองบางกอกน้อย ทุกครั้งที่ผมมีโอกาสนั่งเรือชมวิวครั้งใดก็อดคิดไม่ได้ว่าบ้านอังศุมาลินน่าจะอยู่ตรงไหนของคลองนี้บางทีเธอจะวิ่งจากบ้านผ่านสวนกล้วยแถววัดไก่เตี้ยเพื่อไปดูนักโทษที่ขโมยน้ำมัน แล้วมาเจอโกโบริที่บริเวณวัดไก่เตี้ยหรือเปล่า…
จากคู่กรรมมาสู่บทเพลง “บางกอกน้อย” ขับร้องโดยชัยชนะ บุญนะโชติ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดงเนื้อเพลงนี้พูดถึงสาวคนรักที่หายไปในคลองบางกอกน้อย เธอคนนี้อยากจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว จึงทำขนมบัวลอยไปขายแถวคลองบางกอกน้อยด้วยรสชาติหวานมันของขนมจึงเป็นที่ติดใจของชาวคลอง และพากันเรียกเธอว่า “แม่บัวลอย” แต่เรื่องน่าเศร้าก็เกิดขึ้นเมื่อเรือของเธอล่มที่บริเวณโค้งวัดชลอ เพราะเป็นโค้งหักศอกและน้ำเชี่ยวมากด้วยความที่เธอว่ายน้ำไม่เป็นจึงทำให้ร่างจมดิ่งสู่ท้องน้ำ สามีต้องพายเรือจนสุดคลองบางกอกน้อยกว่าจะพบศพบัวลอย
คลองบางกอกน้อยมีเรื่องราวและเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์มากมายให้เราได้เรียนรู้หรือหากเป็นไปได้การออกไปสัมผัสบรรยากาศของคลองนี้จริงๆดูสักทีก็เป็นเรื่องน่าสนุก พวกเราในกองบรรณาธิการจึงนัดแนะกันไปล่องเรือเที่ยวคลองบางกอกน้อยโดยมีจุดเริ่มต้นที่ท่าเรือของบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่งจำกัด (มหาชน) เรือพาล่องขึ้นไปกลับเรือหน้าวัดชลอสุดคลองบางกอกน้อยแล้วมุ่งหน้าไปจนถึงคลองชักพระ คลองบางหลวง (คลองบางกอกใหญ่) ก่อนวนกลับเข้าคลองบางกอกน้อยอีกครั้งเป็นอันจบทริปนี้
บรรยากาศของสองฝั่งคลองยังคงมีบ้านเก่าแบบเรือนปั้นหยาในสมัยรัชกาลที่ 5 – 6 รวมถึงบ้านไม้เก่าที่ผุพังไปตามกาลเวลา และสวนผลไม้ให้เห็นอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน วิถีแบบชาวคลองยังคงอยู่การเดินเรือยังสำคัญ ความผูกพันกับสายน้ำยังยิ่งใหญ่อยู่เสมอ
ตอนนี้เรากำลังเข้าสู่คลองชักพระซึ่งต้องผ่านระบบเปิด-ปิดประตูน้ำ เรารอประมาณสิบนาทีให้ประตูน้ำอีกด้านเปิดออก จากนั้นนายท้ายเรือก็พาเราเดินทางต่อผ่านตลาดน้ำตลิ่งชัน
เข้าสู่คลองบางหลวงผ่านบ้านศิลปินช่วงวัดคูหาสวรรค์วรวิหาร แถบนี้เป็นชุมชนเก่าสมัยอยุธยา คลองบางหลวงนี้เคยเป็นเส้นทางเดินเรือเก่า แต่เพราะเป็นทางโค้งและอ้อม จึงเสียเวลาเดินทางเป็นวันเพื่อไปปากอ่าวคอยต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองในสมัยอยุธยา สมเด็จพระไชยราชาธิราชพระมาหากษัตริย์ในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาโปรดเกล้าฯให้ขุดคลองลัดขึ้นจากปากคลองบางกอกน้อย (สถานีรถไฟธนบุรีเก่า ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์) จนถึงปากคลองบางกอกใหญ่(ป้อมวิไชยประสิทธิ์พระราชวังเดิม)เป็นการย่นระยะทาง หากนึกถึงสมเด็จพระไชยราชาธิราชไม่ออก ลองนึกถึงบทบาทที่พี่อ๊อฟ – พงษ์พัฒน์ วชิระบรรจง เล่นในเรื่อง “สุริโยไท” ก็ได้ครับ