ส่วนคลองบางหลวงนั้นมีที่มาในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงสร้างราชธานีที่กรุงธนบุรี พวกขุนนางชั้นผู้ใหญ่ก็พากันมาจับจองพื้นที่ริมน้ำสร้างบ้านพักริมคลองบางกอกใหญ่เพราะว่าอยู่ใกล้พระราชวังกรุงธนบุรี ชาวบ้านจึงเรียกย่านนี้ว่า “คลองบางข้าหลวง” ในภายหลังเหลือเพียง “คลองบางหลวง”
ออกจากคลองบางกอกใหญ่ตรงป้อมวิไชยประสิทธิ์พระราชวังเดิมเรือแล่นผ่านวัดอรุณราชวรารามหรือวัดแจ้ง ผ่านวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ผ่านโรงพยาบาลศิริราช แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าคลองบางกอกน้อยตามเดิม
ในช่วงต้นคลองนี้เป็นที่ตั้งของอู่เรือพระที่นั่งหรือพิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธีซึ่งอยู่ฝั่งขวามือตรงข้ามสถานีรถไฟบางกอกน้อย เลยขึ้นไปก็จะเป็นชุมชนบ้านบุอยู่ทางฝั่งซ้ายมือ ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการทำขันลงหินในอดีตชาวอยุธยาที่อพยพเข้ามาในสมัยธนบุรีได้เข้ามาก่อตั้งชุมชนและเผยแพร่วิชาทำขันลงหิน น่าเสียดายที่ปัจจุบันเหลือเพียงบ้านเดียวที่ยังคงทำขันลงหินอยู่ ติดกันเป็นวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร เดิมชื่อวัดทอง เป็นสถานที่ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินนำเชลยศึกพม่าจากค่ายบางกุ้งมาประหารและในครั้งที่เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาก็นำศพชาวคลองบางกอกน้อยที่เสียชีวิตนับร้อยมาทำพิธีเผาที่วัดนี้
ถัดขึ้นไปก็เป็นวัดศรีสุดารามวรวิหาร เดิมชื่อว่าวัดชีปะขาว สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้าแก้วกรมพระศรีสุดารักษ์พระพี่นางในรัชกาลที่ 1 ได้ทรงปฏิสังขรณ์และสถาปนาวัดขึ้นใหม่ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯให้ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถใหม่แทนหลังเก่าและพระราชทานนามใหม่ว่า”วัดศรีสุดาราม”วัดนี้ยังเป็นที่เรียนหนังสือของกวีเอกอย่างสุนทรภู่อีกด้วยก่อนจะถึงออฟฟิศริมคลองของพวกเรายังมีอีกวัดหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือวัดไก่เตี้ยซึ่งเป็นวัดเก่าที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในนิราศพระประธมของสุนทรภู่กล่าวถึงวัดแห่งนี้ไว้ว่า
วัดไก่เตี้ยไม่เห็นไก่เห็นไทรต่ำ
กอระกำแกมสละขึ้นไสว
หอมระกำยิ่งช้ำระกำใจ
ระกำไม่เหมือนระกำที่ช้ำทรวง
จากบทกลอนทำให้เข้าใจว่าละแวกวัดไก่เตี้ยคงจะมีต้นระกำและสละขึ้นอยู่มากมาย แต่จะขึ้นเองหรือมีชาวสวนปลูกก็ไม่ทราบได้เพราะในประวัติไม่ได้กล่าวถึง แต่ถ้าจะให้พูดถึงผลไม้ขึ้นชื่อของชาวคลองในสมัยก่อนก็จะมีทุเรียนบางขุนนนท์ เงาะบางยี่ขัน และในสมัยรัชกาลที่5 พื้นที่ปากคลองบางกอกน้อยก็จะเป็นสวนมังคุดและสวนลิ้นจี่ ปัจจุบันสวนผลไม้ดังกล่าวไม่หลงเหลืออยู่แล้ว จะมีก็เพียงสวนกล้วยน้ำว้าและสวนมะพร้าวที่ยังมีให้เห็นอยู่บ้างตามริมฝั่งคลอง
ระหว่างที่เราล่องเรือชมวิถีชีวิตชาวคลองสังเกตว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติจะหาคนไทยที่เที่ยวแบบนี้น้อยเหลือเกินจริงๆแล้วคลองบ้านเราก็น่าสนใจไม่แพ้ชาติใดเหมือนกันต่างชาติถึงกับขนานนามให้เป็นเวนิสแห่งที่สองเลยนะครับเพราะนอกจากคุณจะได้ชมทัศนียภาพสวยๆของสองฝั่งคลองแล้ว ยังมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ให้เราได้เรียนรู้และสนุกไปกับการจินตนาการถึงเรื่องราวในอดีตคุณจะได้เห็นเส้นทางการเดินเรือว่าสมัยก่อนเขาเดินทางกันอย่างไร ผมเชื่อว่านอกเหนือจากการอ่านแล้ว การท่องเที่ยวนี่แหละครับที่ช่วยเปิดโลกทัศน์และทำให้เรามีความรู้รอบตัวด้วย
สำหรับคุณผู้อ่านท่านใดที่สนใจอยากตามรอยแบบชาวบ้านและสวนบ้างสามารถติดต่อเรือได้ที่คุณพงษ์ศักดิ์ มาเกิด (พี่ปื๊ด) โทรศัพท์08-9310- 9177 เรือหนึ่งลำนั่งได้ 10 คน เช่าเหมาลำชั่วโมงละ 1,000 บาท แล้วอย่าลืมถ่ายรูปสวยๆมาอวดพวกเราบ้างนะครับ
เรื่อง : “ไตรรัตน์ ทรงเผ่า”
ภาพ:ศุภกร ศรีสกุล, ธนกิตต์ คำอ่อน,ณัฐวัฒน์ส่องแสง
วิดีโอ :วงศกรจิรชัยสุทธิกุล, อำพลซึ้งจิตสิริโรจน์
อ่านต่อ : ลมหายใจสุดท้ายของคนปั้น โอ่ง
อ่านต่อ : จากช่างหล่อถึงหุ่นสวย โรงหล่อ ทองเหลือง บ้านท่ากระยาง
อ่านต่อ : ทริปวันเดียว…เที่ยว ” ศิริราชพิมุขสถาน “