ถึงจะซ่อนตัวอยู่ในเขตอุตสาหกรรมของจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ก็ไม่สามารถปิดบังความโดดเด่นของตัวเองเอาไว้ได้ บ้านสไตล์โมเดิร์นหลังนี้เกิดจากความต้องการที่จะปลูกบ้านให้คุณแม่ พี่สาว และลูกๆ ของพี่สาวที่เป็นผู้หญิงทั้งสองคนอยู่จึงเป็นที่มาของชื่อ Big Sister House บ้านโมเดิร์น วิถีไทยที่เราพามาเยี่ยมเยือน
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Monotello
ผู้ออกแบบจากบริษัท Monotello Architect and Interior Design ได้เล่าให้เราฟังถึงขั้นตอนการออกแบบไว้น่าสนใจว่า จริงๆ แล้วรูปลักษณ์ที่สวยงามของ บ้านโมเดิร์น หลังนี้ เกิดจากการพูดคุยจนเข้าใจลึกซึ้งถึงวิถีชีวิตและความต้องการของผู้อยู่อาศัย ซึ่งแต่ละคนล้วนมีความเป็นส่วนตัวค่อนข้างสูง แต่ก็ยังต้องการให้มีพื้นที่ส่วนรวมสำหรับทำกิจกรรมร่วมกัน
/ ประโยชน์ใช้สอยที่ตอบโจทย์เจ้าของบ้านได้ครบถ้วน
โดยยังคงความเป็นตัวของตัวเองต่างหากถึงจะเรียกได้ว่า
เป็น บ้านโมเดิร์น ที่น่าอยู่และเป็นบ้านของเราอย่างแท้จริง /
สถาปนิกจึงออกแบบให้ห้องของแต่ละคนมีฟังก์ชันการใช้งานครบถ้วนเหมือนอยู่ในคอนโดมิเนียม โดยมีเรือนรับรองไว้ใช้สังสรรค์และรับประทานอาหารร่วมกัน ห้องครัวใหญ่ มีระเบียงไม้ (Deck) ด้านหลังสำหรับทำกับข้าวและตากอาหารแห้งตามวิถีไทยดั้งเดิม สุดท้ายจึงมาลงตัวกับบ้านสไตล์โมเดิร์นผสมคอนเทมโพรารีที่เกิดจากการนำส่วนประกอบของวัสดุธรรมชาติมาผสมผสานกัน โดยยังคงรองรับทุกฟังก์ชันได้อย่างครบถ้วน
และด้วยพื้นที่กว่า 2,000 ตารางเมตร ผู้ออกแบบจึงสามารถจัดสรรสเปซได้เต็มที่ ควบคู่กับการนำบริบทธรรมชาติรอบ ๆ มาพิจารณาร่วมกับการวางผังอาคาร โดยคำนึงถึงทิศทางแสง ลม และฝนเป็นประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องน้ำฝน เนื่องจากที่ตั้งของบ้านอยู่ในต่างจังหวัดปริมาณน้ำฝนแต่ละปีมีจำนวนมาก รวมถึงตัวบ้านเป็นสไตล์โมเดิร์นทรงกล่องสี่เหลี่ยม ไม่มีชายคาหรือหลังคาเหมือนบ้านทั่วไป การป้องกันฝนและการดึงประโยชน์จากลมเข้ามาใช้จึงสำคัญมาก เริ่มจากการกำหนดทิศทางตัวอาคารและเพิ่มระแนงอะลูมิเนียมช่วยลดการสาดของน้ำฝนเข้าสู่ตัวบ้านโดยที่ลมยังคงพัดผ่านเข้าออกได้สะดวก ลดการเปิดเครื่องปรับอากาศได้อีกทางหนึ่ง
ตัวบ้านแบ่งเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่พักอาศัยซึ่งเป็นอาคาร 3 ชั้น โครงสร้างหลักเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก อีกส่วนคือ เรือนรับรอง ออกแบบเป็นอาคาร 2 ชั้น โครงสร้างเป็นเหล็กทั้งหลัง มีสะพานเชื่อมถึงกันที่ชั้น 2 และเนื่องจากบ้านสร้างอยู่บนเนื้อที่ขนาดใหญ่ ผู้ออกแบบจึงตั้งใจให้ภายในบ้านแต่ละชั้นมีความสูงจากพื้นถึงฝ้ามากกว่าปกติประมาณ 2.85 เมตร เพื่อให้ได้สัดส่วนที่พอเหมาะบริบทรอบๆ ไม่ข่มบ้านจนเกินไป
ส่วนกำแพงหินเลคสโตนสีเทาที่ใช้เป็นฉากกั้นระหว่างที่จอดรถกับระเบียงไม้ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับน้ำหนักโครงสร้างหรือเจาะช่องเว้นระยะเพื่อความสวยเพียงอย่างเดียวแต่ยังแฝงฟังก์ชันที่เจ้าของบ้านตั้งใจให้สามารถมองเห็นด้านนอกได้ขณะมีแขกไปใครมา รวมถึงใช้เป็นทางผ่านของลมได้อีกทางหนึ่งด้วย
บริเวณชั้น 1 ตรงพื้นที่ระหว่างบ้านทั้งสองหลังทำเป็นบ่อเลี้ยงปลาคาร์พลึก 1.80 เมตร ซึ่งเป็นระดับความลึกที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงปลาคาร์พ ขอบบ่อและขอบทางเดินใช้หินแกรนิตสีเทาฮกเกี้ยน เพื่อเบรกอารมณ์ระเบียงไม้รอบสระทำจากไม้แดง ให้ความรู้สึกเชื่อมต่อและเป็นเรื่องเดียวกับผนังนอกบ้านที่ใช้ไม้สักตีปิดเป็นบางส่วน
ถ้าจะถามว่าบ้านที่อยากมีเป็นอย่างไร คำตอบคงตามมาไม่มีที่สิ้นสุด แต่ถ้าถามใหม่ว่า บ้านที่น่าอยู่หรือบ้านที่ทำให้เราอยากกลับไปทุกวันเป็นอย่างไร เราเชื่อว่าถึงจะมีเหตุผลมากมาย แต่คำตอบจริง ๆ คงเหลืออยู่เพียงไม่กี่ข้อเพราะนอกจากความสวยงามภายนอกแล้ว ประโยชน์ใช้สอยที่ตอบโจทย์เจ้าของบ้านได้ครบถ้วน โดยยังคงความเป็นตัวของตัวเองต่างหาก ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นบ้านที่น่าอยู่และเป็นบ้านของเราอย่างแท้จริง…
ออกแบบ : Monotello Architect and Interior Design
เรื่อง : Ektida N.
ภาพ : ดำรง