การบรรจุกะปิใส่ไห จะต้องใช้เวลาหมัก 4 เดือนถึง 1 ปีจึงจะนำออกขายได้ หลังว่างเว้นจากการทำกะปิ พี่ใหญ่ –วราภรณ์ บุญประดิษฐ์ เจ้าของบ้านที่เราแวะมาเยือนก็จะทำซาลาเปาเป็นอาชีพเสริม เป็นซาลาเปาสูตรไหหลำที่ตกทอดมาจากคุณแม่ มีสามไส้ คือไส้หมู สังขยา และถั่ว ขั้นตอนและกรรมวิธีการทำค่อนข้างนาน เพราะหมดไปกับการหมักแป้ง 2 ชั่วโมง เมื่อหมักแป้งเสร็จต้องนำแป้งที่หมักมาพักไว้อีก 1 ชั่วโมง จึงนำมาใส่ไส้แล้วนึ่งอีก 15 นาทีถึงจะได้กิน แต่แนะนำเลยนะครับว่าต้องมารอก่อน 3 โมงเย็น เพราะว่าซาลาเปาที่นี่อร่อยจริงๆและหมดเร็วด้วย เรียกว่ามาสะพลีต้องห้ามพลาด “ซาลาเปาพี่ใหญ่” ครับ
ออกจากบ้านของพี่ใหญ่เรามุ่งหน้าไปต่อที่ “โรงเค็ม” ของ ป้าแดง – ทองคำ จาระคุณ ซึ่งเป็นที่ที่เอาไว้ขึ้นปลา และหมักปลาเพื่อเอาไว้ผลิตน้ำปลานั่นเอง เป็นอาคารมุงจากที่มีรูปแบบ เฉพาะตัว ภายในอาคารจะเป็นไม้เคี่ยมเนื้อแข็งทั้งนั้น ที่นำมาเป็นเสาและคาน ปัจจุบันนี้มี หลงเหลือให้เห็นถึงสภาพบ้านเมืองสมัยก่อนแค่สองหลัง เชื่อว่าอีกไม่นานคงจะไม่มีให้เห็นแล้ว เพราะว่าชำรุด ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ประจวบกับคนรุ่นหลังเลิกทำอาชีพผลิตน้ำปลากันแล้ว เลยทำให้กิจการโรงน้ำปลาที่สะพลีค่อยๆหายไปจนแถบจะไม่เหลือร่องรอยของความรุ่งเรืองใน อดีตให้เราเห็น
ตกบ่ายแล้ว แต่เรายังไม่ได้รับประทานอาหารเที่ยงกันเลย จึงแวะไปซื้ออาหารสดจากตลาดเข้าไปทำกินกันเองง่ายๆที่บ้านพัก ซึ่งไม่ไกลจากตลาดนัก การได้ทำอาหารกินข้างๆชายทะเลเป็นบรรยากาศที่โรแมนติกมากๆ บางเวลาฝนตกลงมาปรอยๆเหมือนมีคนพรมน้ำลงมาทำให้ไม่ร้อน ไม่เหมือนช่วงฤดูร้อนที่อากาศจะอบอ้าวและจะรู้สึกเหนอะตัว เวลามีลมพัดมาก็จะเป็นลมร้อน ผมว่าฤดูฝนนี่แหละใช่เลย เหมาะกับการเที่ยวทะเล
วันนี้เราปล่อยเวลาที่เหลือกับการเดินเล่นที่หน้าหาดสะพลี จนถึงเวลาเย็นก็ได้ เวลาของซีฟู้ด โดยได้วัตถุดิบสดๆจากตลาดเมื่อตอนบ่ายเช่นเดิม ราคาถูกกว่ากรุงเทพฯมาก ทริปนี้จึงเป็นทริปใช้ชีวิตแบบชาวบ้านสะพลีแบบแยกไม่ออกเลยว่าคนเมืองหรือคนถิ่น คืนนี้อิ่มท้องกับซีฟู้ดริมทะเล คิดไว้ว่าจะนั่งชมจันทร์อีกพักก็จะเข้านอน เพราะพรุ่งนี้ยังมีภารกิจ ตะลอนเที่ยวอีกหนึ่งวัน
เช้าวันที่สอง วันนี้เรามีนัดกับเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลสะพลี ว่าจะพาล่องเรือชม คลองท่าเสม็ดหรือคลองลำนัก เพื่อชมวิถีชาวประมงพื้นบ้านและป่าโกงกางที่สมบูรณ์อีกแห่งหนึ่ง คลองท่าเสม็ด (คลองลำนัก)เป็นคลองที่แยกตัวออกจากอ่าวสะพลี ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร แต่พวกเราไปไม่ถึงหรอกครับ เพราะว่าเป็นช่วงน้ำลง เลยทำให้การเดินเรือค่อนข้างลำบาก แต่ก็ได้เห็นอีกด้านหนึ่งของชุมชนคนในคลอง ยิ่งล่องเรือเข้ามาลึกเท่าไหร่ทางเริ่มแคบลง ผมมองว่าเหมาะกับการพายเรือคายัคหรือแคนูมาก เพราะมีร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ ให้หยุดพักตามรายทาง ถือว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่คราวหน้าผมคงต้องเตรียมเรือมาพาย ด้วยแล้วล่ะ
“เวลาทางเทศบาลตำบลสะพลีมีกิจกรรม ชาวประมงในกลุ่มของตำบลสะพลีก็จะ คอยเป็นกลุ่มชาวประมงจิตอาสาด้วยการนำเรือของตัวเองออกให้บริการอยู่เสมอ เช่น การทำปะการังบ้านปลา โดยการนำเอาซากศาลพระภูมิเก่าๆ เศษอิฐเศษปูนไปทิ้งไว้ในทะเลเพื่อให้เกิดปะการัง เมื่อมีปะการังก็จะมีปลา เพราะปะการังเปรียบเหมือนบ้านของปลา จนถึงวันนี้ทางเทศบาลริเริ่มให้มีการจัดทัวร์เที่ยวชมคลองท่าเสม็ดหรือคลองลำนัก เพื่อให้ชาวประมงได้มีรายได้เสริมจากการว่างเว้นในการทำประมง” พี่สุริยา ล้อมทอง ประธานสภาเทศบาลตำบลสะพลี เล่าให้เราฟัง ขณะขับเรือพาเราชมคลอง และในวันนี้พี่สุริยา ก็เป็นนายท้ายเรือจิตอาสาพาเราล่องคลองท่าเสม็ดด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มตลอดการเดินทาง ขอบคุณนะครับพี่