Passion in Paper Cut – วรรณประภา ตุงคะสมิต
นับตั้งแต่วันที่ผลงานศิลปะตัดกระดาษชุด Artquarium ได้รับรางวัลชนะเลิศจากเวทีงานโฆษณาและงานสร้างสรรค์ระดับโลกอย่าง Cannes Lions 2016 ชื่อของ คุณบัว-วรรณประภา ตุงคะสมิต ก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในฐานะศิลปิน Paper Cut รวมถึงงานชิ้นใหม่ๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนความหลงใหลในงานตัดกระดาษให้กลายเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่เธอกำลังสนุก
แรงบันดาลใจแรก
เริ่มต้นด้วยงานนิตยสารตามที่เรียนมาด้านสื่อสารมวลชนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยได้ร่วมงานกับนิตยสารอยู่หลายเล่ม ทั้งเขียนบทความและทำภาพประกอบเองในบางครั้ง รวมถึงสร้างงานศิลปะที่ชอบเพื่อเก็บไว้ใน Blog ส่วนตัวพร้อม Canto หรือบทกลอนสั้นๆ จนวันหนึ่งที่คุณบัวได้เห็นงานศิลปะตัดกระดาษของ Rob Ryan ศิลปินชาวอังกฤษ แล้วรู้สึกประทับใจ และยิ่งกระตุ้นแรงบันดาลใจในตัวมากขึ้นไปอีกเมื่อเจอผลงานสุดละเอียดของ Bovey Lee ศิลปินฮ่องกงที่ไปสร้างชื่ออยู่ในสหรัฐอเมริกา
“ตัดกระดาษก็เหมือนวาดรูปนะ แต่เราใช้คัตเตอร์สร้างภาพและเพิ่มการซ้อนเลเยอร์ให้มีมิติขึ้นมา บัวศึกษาเรียนรู้เองจากหนังสือต่างๆ พอทำได้ก็ลองแชร์ผลงานไปที่เว็บไซต์แหล่งชุมนุมศิลปินอย่าง Illustration Friday ทำให้ได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับคนอื่นด้วย จากนั้นก็ได้ทำภาพประกอบให้ a day ทีนี้เริ่มสนุกค่ะ เพราะทำแล้วได้เงินด้วย (หัวเราะ) บัวนำเทคนิคคอลลาจเข้ามาผสมผสานเพิ่มความหลากหลาย และได้ทำภาพประกอบให้หนังสือแฟชั่น จนกระทั่งมีโอกาสได้ร่วมงานกับทีมนักตัดกระดาษท่านอื่นในโปรเจ็กต์ใหญ่ขึ้น”
นั่นคือนิทรรศการ Cut to Built ที่คุณบัวกับเพื่อนศิลปินช่วยกันสร้างสรรค์งานตัดกระดาษให้เป็น Pop Up Store สำหรับ Olfa Cutter จนได้รับรางวัล Cannes Lions 2014 และล่าสุดกับ Artqurium งานตัดกระดาษเป็นพืชน้ำแช่ลงในตู้ปลาให้ Hi Jet Paper ซึ่งได้รางวัลชนะเลิศ Cannes Lions 2016
ตัดเพื่อสร้างสรรค์
อุปกรณ์พื้นฐานของงานตัดกระดาษมีเพียงกระดาษ คัตเตอร์ และแผ่นรองตัด ซึ่งคุณบัวมักเลือกใช้กระดาษสีขาวที่มีความหนาระหว่าง 100-150 แกรม แม้จะออกตัวว่าไม่เก่งเรื่องการใช้สี แต่เธอก็สร้างหลากหลายชีวิตขึ้นมาได้จากกระดาษขาวๆ นี่เอง
“กระดาษที่หนาพอดีช่วยให้เราไม่ต้องใช้แรงกดมากจนปวดคอปวดไหล่เกินไป ชิ้นเล็กๆ ก็ใช้เวลาสัก 2-3 ชั่วโมง แต่ถ้าชิ้นใหญ่ก็ทำทั้งเดือน ส่วนใหญ่บัวชอบรูปทรงละเอียดๆ ที่มีให้เห็นอยู่ตามธรรมชาติ ดูอิสระและสวยงามดี ง่ายๆ ก็พวกใบไม้ อย่างตอนนี้สนใจรูปทรงของเฟินมาก ตัดออกมาเป็นร้อยชิ้นแล้วและจะตัดเพิ่มอีกเพื่อประกอบเป็นชิ้นงานใหญ่ และก็ยังมี Cell Project เป็นรูปทรงของเซลล์ที่มองผ่านกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งบางทีก็มีเสริมจินตนาการตัวเองเข้าไปด้วย กับโปรเจ็กต์ลายลูกไม้ที่บัวตัดแล้วนำไปคอลลาจคู่กับทิวทัศน์ต่างๆ และยังมีอีกหลายรูปทรงหลายเรื่องราวที่อยากทำเพื่อสะสมงานไปเรื่อยๆ”
พัฒนาความหลงใหล
เพราะไม่ได้เรียนทางด้านศิลปะโดยตรง คุณบัวจึงใช้วิธีดูงานศิลปะทุกๆแนวให้มากขึ้น เรียนรู้จากเพื่อนร่วมงาน พัฒนาฝีมือจากการแก้ปัญหา รวมถึงทำงานตัดกระดาษทุกวันให้เหมือนกับนักดนตรีที่หมั่นซ้อมเล่นดนตรีจนชำนาญ
“การได้ทำในสิ่งที่รักอย่างมุ่งมั่นตั้งใจ ไม่ได้ให้แค่รายได้หรือชื่อเสียงนะคะ แต่ยังทำให้เราได้เห็นศักยภาพที่แท้จริงของตัวเองด้วย บัวยอมรับว่าตัวเองไม่เก่งอะไรมาก แต่เมื่อประกอบเข้ากับจังหวะ โอกาส และพลังบวกจากคนรอบข้าง ทำให้เราสร้างสรรค์งานดีๆ ขึ้นมาได้ เวลาที่เกิดความคิดปึ๊งขึ้นมาในหัวและเราเชื่อว่ามันจะออกมาดี บัวจะมีความสุขมากค่ะ พอๆ กับตอนที่ได้ลงมือตัดผลงานชิ้นนั้นเลย”
ในอนาคตคุณบัวคิดว่าจะเรียนรู้ศิลปะเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น และวันนั้นเราอาจได้เห็นงานประติมากรรมกระดาษตัดสุดมหัศจรรย์จากผู้หญิงที่หลงใหลการตัดกระดาษคนนี้ก็เป็นได้ ติดตามผลงานของเธอเพิ่มเติมได้ที่ FB และ IG : CollageCanto