เชื่อว่าทุกคนมี Passion หรือความหลงใหลอะไรบางอย่างอยู่ในตัวแตกต่างกันไป อาจชอบแต่งบ้าน รักการปลูกต้นไม้ หลงใหลงานฝีมือ หรือมีความสุขกับการทำอาหาร เวลาที่เราใช้ชีวิตอยู่กับความหลงใหลนั้น พร้อมมุ่งมั่นให้เวลา รวมถึงหมั่นฝึกฝนบ่อยๆ จากงานอดิเรกง่ายๆ ก็สามารถพัฒนาต่อยอดไปได้ และหลายครั้งก็กลายเป็นอาชีพประจำไปโดยไม่ทันรู้ตัว นั่นเพราะความหลงใหลทำให้คนทำสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น เหมือนกับ 4 ท่านนี้ที่มาบอกเล่าความหลงใหลของตัวเองได้อย่างน่าประทับใจ คุณล่ะ เริ่มจะหลงใหลอะไรเข้าบ้างหรือยัง
Passion in Sketching – ปิติรัตน์ ยศวัฒนะ
อาชีพสถาปนิกอาจเป็นสิ่งที่ คุณเต้-ปิติรัตน์ ยศวัฒนะ เลือกทำด้วยความรัก เพราะชอบงานด้านศิลปะมาตั้งแต่เด็ก โดยมีคุณแม่ที่เรียนจิตรกรรมเป็นต้นแบบ แต่เมื่อคอมพิวเตอร์และโปรแกรมสร้างภาพต่างๆ เข้ามาแทนที่การวาดมือเพื่อช่วยสร้างภาพจำลองของอาคารให้ง่ายขึ้น ก็ทำให้เธอแทบจะลืมการวาดรูปไปเลย หากไม่ได้เข้าร่วมกลุ่มคนที่รักการวาดรูปซึ่งรวมตัวกันในนามของ Bangkok Sketcher ซึ่งช่วยดึงเธอกลับมาจับพู่กันแต้มสีลงบนกระดาษอีกครั้ง เพียงเพื่อสร้างความสุขแบบง่ายๆ ให้ตัวเอง
แรงบันดาลใจแรก
“จริงๆ ตอนเรียนสถาปัตย์ปีแรกต้องเรียนเรื่องความเข้าใจของเส้นสายเพื่อเป็นพื้นฐานการออกแบบอยู่แล้ว แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้วาดรูปด้วยความสนุกอีกเลย จนมีรุ่นพี่มาชวนเข้ากลุ่มในเฟซบุ๊ก เพื่อนัดกันไปวาดรูปตามสถานที่ต่างๆ ที่สนใจเพราะเขาไม่มีวัตถุประสงค์อื่นเลยนอกจากความสุขในการวาด ก็เลยออกไปซื้ออุปกรณ์ง่ายๆ แบบมือสมัครเล่น จากวันนั้นที่ออกไปวาดจนถึงวันนี้ก็ 7 ปีแล้วค่ะ แถมตอนนี้ยังกลายเป็นแอดมินให้เพจ Bangkok Sketcher ไปด้วย”
แม้จะมีฝีมือด้านศิลปะอยู่แล้ว แต่ความยากกลับอยู่ตรงที่ต้องก้าวข้ามทฤษฎีและสัดส่วนที่แม่นยำหรือถูกผิดในเชิงสถาปัตยกรรมไป เพื่อปล่อยให้อารมณ์ความรู้สึกนำพาลายเส้นแล้วแต้มด้วยสีน้ำอ่อนๆ ถ่ายทอดความประทับใจที่มีต่ออาคารสถานที่ ผู้คน แสงเงาที่พาดผ่าน เสียงจอแจในชุมชน กลิ่นอาหารหอมๆ กระทั่งน้องหมาน้องแมวที่เดินผ่านอย่างสบายอารมณ์ นี่ละเสน่ห์ของการวาดแบบไร้กฎเกณฑ์
หาเพื่อนร่วมวาด
คุณเต้และเพื่อนๆ ในกลุ่ม Bangkok Sketcher มักนัดรวมตัวกันออกมาวาดภาพอย่างน้อยเดือนละครั้ง อาจเป็นย่านเมืองเก่าแหล่งรวมสถาปัตยกรรมสวยๆ และสีสันของชุมชนหลากหลาย แต่ก็มีบางครั้งที่เข้าไปวาดใจกลางเมืองที่แสนวุ่นวาย เพื่อบันทึกเหตุการณ์เฉพาะหน้าตามแต่มุมมองที่กระทบใจ รวมถึงการเข้าร่วมกับกลุ่มกิจกรรมอื่น เช่น บันทึกเหตุการณ์คัดค้านการสร้างทางเลียบแม่น้ำกับกลุ่มสมัชชาแม่น้ำ ร่วมเทศกาลดนตรีแจ๊ซกับมหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับเอเชียเพื่อชวนคนมาวาดรูปย่านเมืองเก่า
“สำหรับเต้จะพยายามพกอุปกรณ์ที่ไม่เทอะทะเกินไป สมุดขนาด A5 พู่กันสัก 2 เล่ม และจานสี จากนั้นก็ให้ความรู้สึกนำพาไปสู่สิ่งที่อยากวาด เสน่ห์แรกที่ติดใจคือการได้อยู่นิ่งๆกับตัวเอง สัมผัสสีและแสงเงา แต่ความสนุกก็คือบรรยากาศรอบข้าง บางทีก็มีเด็กมาคุยหรือมีคนมาถาม ได้เห็นชีวิตชุมชน มันสนุกกว่าการนั่งวาดคนเดียวในห้อง และพอเสร็จแล้วเอาผลงานของทุกคนมาดู ก็รู้สึกเลยว่า เฮ้ย ทำไมได้มุมมองที่หลากหลายขนาดนี้ เต้ว่าถ้าก้าวข้ามความกลัวว่าจะสวยหรือไม่สวยก็จะมีความสุขกับการได้วาดค่ะ”
พัฒนาความหลงใหล
นอกจากแบ่งปันผลงานให้เพื่อนนักวาดร่วมกันชมแล้ว เร็วๆ นี้คุณเต้กำลังจะมีหนังสือรวมผลงานภาพวาดของตัวเองร่วมกับสำนักพิมพ์บ้านและสวนในชื่อ “เส้นสายบางกอก” ซึ่งบันทึกอารมณ์ความประทับใจของผู้วาดผ่านภาพเขียนสีน้ำ พร้อมกับแนะนำ 5 เส้นทางเดินเที่ยวเกาะรัตนโกสินทร์ แทรกด้วยเรื่องเล่าสนุกๆ ของเธอ ปิดท้ายด้วยการสอนวิธีวาดทัศนียภาพ (Perspective)
“หน้าที่ของ Sketcher คือบันทึกเมือง ณ เวลานั้นเอาไว้ วันนี้มันอาจไม่สำคัญมาก แต่วันที่เมืองเปลี่ยนแปลงไป ภาพที่วาดไว้ก็จะกลายเป็นบันทึกแบบหนึ่ง ต่างจากภาพถ่ายตรงอารมณ์ที่อยู่ในเส้นในสีซึ่งกระทบใจ และโดยส่วนตัวเต้รู้สึกว่าการวาดคือความสุขที่ช่วยคลายเครียดจากอาชีพการงานประจำได้ดีค่ะ”
ติดตามผลงานของเธอได้ที่ FB : PiTi Art