Craft Spective: เมื่ออุตสาหกรรมคืบคลานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิต งานฝีมือไทยซึ่งอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อมาเนิ่นนานจะช่วยต่อยอดให้กับงานออกแบบสมัยใหม่ได้อย่างไร และเราจะก้าวไปข้างหน้าพร้อม ๆ กับการอนุรักษ์ได้หรือไม่ คำถามเหล่านี้แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ก็อดตั้งคำถามไม่ได้ ซึ่งแน่นอนว่าคำตอบนั้นคงไม่ได้มีเพียงคำตอบเดียว และนี่คือคำตอบของ TRIMODE C ท่ามกลางนิยามของคำว่า “คราฟต์” ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
คราฟท์วิวัฒน์
ภารดี: “ในวิถีของเราคิดว่าถ้าไม่มีการพัฒนาเลย แล้วอะไรคือเอกลักษณของงานคราฟต์ยุคนี้ละ หรือในช่วง 10 ปีนี้ ถ้าเราไม่พัฒนาก็จะไม่เกิดวิวัฒนาการของงานดีไซน์ วัฒนธรรม และศิลปะแห่งยุคสมัยของเรา”
ภารดี: “เรามองว่าไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องทำในทิศทางเดียวกันหรือวิถีเดียวกัน เรามองว่าคนที่ทำงานคราฟต์ทำดีในทิศทางของตนเองอยู่แล้ว เราก็ทำงานออกแบบควบคู่กันไป ถ้าเรามุ่งเน้นแต่จะอนุรักษ์โดยไม่ปรับงานคราฟต์ให้เข้ากับยุคสมัย เจเนอเรชั่นใหม่ก็จะไม่เข้าใจ ฉะนั้นการที่เราทำโปรดักต์ขึ้นมาก็เพราะอยากจะพัฒนาให้มันมีวิวัฒนาการไปพร้อมกับยุคสมัย ทุกอย่างจึงต้องหล่อหลอมและต่อยอดทางธุรกิจได้ เป็นกันเองกับคนยุคใหม่ แต่ก็ยังไม่ทิ้งแง่คิด มุมมอง และความรู้ดั้งเดิมบางอย่างให้ยังสอดแทรกอยู่ในผลงานไม่เลื่อนหายไปไหน”
มากกว่ากระแส
ชินภานุ: “กระแสงานคราฟต์ที่เกิดขึ้นเราค่อนข้างเห็นดีเห็นงาม แต่ก่อนถ้ามีกระแสอะไรเราจะไม่ค่อยรู้สึกอินเท่าไหร่ แต่กระแสนี้กลับมองว่าดี เหมือนเป็นตัวชี้วัดว่าใครจริงจัง เพราะถ้าใครตามกระแสสักพักเขาก็จะเลิกไปเอง แต่ว่าใครจริงจังเขาจะต่อยอดตัวเขาเองได้ดี ในยุคหนึ่งเราอาจหลงใหลในวิธีการผลิต เครื่องจักรอุตสาหกรรม แต่พอมีงานหัตถกรรมมาผสมจะช่วยให้งานนั้น ๆ มีชีวิตขึ้น”
ภารดี: “มันเป็นเรื่องการมีตัวตน เหมือนทุกอย่างออนไลน์ไปหมด การชื่นชมกับชีวิตจึงเป็นเรื่องสำคัญ”
ภิรดา: “เราไม่ใช่ประเทศอุตสาหกรรมที่เน้นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ประเทศไทยเด่นในเรื่องระบบกึ่งหัตถอุตสาหกรรมมาตลอดอยู่แล้ว เราคิดว่านี่แหละเป็นเสน่ห์ของความเป็นไทยที่ควรชูขึ้นให้เป็นจุดเด่น งานคราฟต์ล้วน ๆ อาจจะไม่เข้ากับยุคสมัย มันจะกลายเป็นแฟชั่นและเฟดหายไปในที่สุด เราเลยต้องผสมผสานความเป็นสมัยใหม่ให้คราฟต์ยังคงอยู่ต่อไปให้ได้”
SACICT Craft Trend 2018 : หมุดหมายเทรนด์หัตถศิลป์ใหม่ของปี 2018
01 หลอดไฟแขวนเพดานในโปรเจ็กต์ Cultural Blends ที่ทำร่วมกับ SACICT ตัวขั้วหลอดทำจากอะลูมิเนียมดุนลายด้วยเทคนิคดั้งเดิม ชุบสีด้วยเทคนิคอะโนไดซ์เพื่อให้ได้สีสันสดใส ฉีกลุคเก่าของงานดุนลายเชียงใหม่ดั้งเดิม
02 เก้าอี้ Core Dining Chair งานดีไซน์ที่ทำร่วมกับแบรนด์ CORNER 43 DÉCOR นำเสนอลุคใหม่ให้เฟอร์นิเจอร์หวาย ได้แรงบันดาลใจจากเก้าคาเฟ่รุ่นเก่าคลาสสิกที่เราคุ้นตา ตัวเก้าอี้ทำจากหวายดัดประกอบกับโครงเหล็กสีดำดีไซน์เหมือนผ่าครึ่งเพื่อโชว์การผสมผสานสองวัสดุ เฉียบ เรียบง่าย ตรงไปตรงมา
03-04 คอลเล็คชั่นงานเครื่องประดับในโปรเจ็กต์ ISAAN OBJECT ที่ TRIMODE ทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมการส่งออก
05-06 คอลเล็คชั่นหมวกจากโครงการ Isaan Object ทำจากผ้าฝ้ายทอมือย้อมมะเกลือ จนได้ผ้าสีน้ำตาล – ดำ งานผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อจากอำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ
07 คอลเล็คชั่นหมวกจากฝีมือของกลุ่มชาวม้งดอยปุย ผสมผสานแพตเทิร์น ทันสมัยที่กลุ่มชาวบ้านสามารถนำไปต่อยอดได้เอง
08 เก้าอี้ Criss-Cross Collection อีกหนึ่งงานดีไซน์ที่ทำร่วมกับแบรนด์ CORNER 43 DÉCOR ที่ นำแรงบันดาลใจจากแผ่น Aluminium perforated มาผสานกับงานหัตถกรรมจักรสานแบบดั้งเดิม โดยการผสมผสานลดทอนและพัฒนารูปแบบของกระบวนการจักรสานสู่งานออกแบบที่เรียบง่ายร่วมสมัย และเส้นสายที่ตรงไปตรงมาโดยยังคงไว้ซึ่งรากฐานของการถักทอ
09 คอลเล็คชั่นงานเครื่องประดับในโปรเจ็กต์ ISAAN OBJECT ที่ TRIMODE ทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมการส่งออก
ทำความรู้จักกับ COTH Studio – หัตถกรรมรุ่นใหม่ อนุรักษ์ความเป็นไทยในดีไซน์ร่วมสมัย
เรื่อง monosoda
ภาพ นันทิยา, ภาพประชาสัมพันธ์
http://www.baanlaesuan.com/49917/houses/hern-handmade-home/