EASE คราฟต์ใหม่ในอุตสาหกรรมเก่า

EASE คราฟต์ใหม่ในอุตสาหกรรมเก่า

EASE เมื่อโรงงานปักผ้าเล็ก ๆ ของคนรุ่นก่อนถึงเวลาต้องหลีกทางให้เครื่องจักรสมัยใหม่จากโรงงานใหญ่ เดิมทีที่เคยได้รับการวางสถานะให้อยู่ขั้วตรงข้ามกับอุตสาหกรรมมาตลอด วันนี้งานคราฟต์ได้กลายมาเป็นตัวช่วยเพื่อสร้างคุณค่าใหม่ให้ผลิตผลจากอุตสาหกรรม ตอกย้ำความสำคัญของ “ความเป็นปัจเจก” หรือความแตกต่างเฉพาะตัวที่ผู้คนยุคนี้เฝ้าโหยหาได้เป็นอย่างดี

EASE
วนัส โชคทวีศักดิ์ และ ณิชภัค ต่อสุทธิ์กนก

วนัส โชคทวีศักดิ์ และ ณิชภัค ต่อสุทธิ์กนก คือสองดีไซเนอร์รุ่นใหม่ไฟแรงที่พยายามต่อยอดธุรกิจเดิมของครอบครัวให้กลายเป็นงานดีไซน์ใหม่เข้ากับยุคสมัย ภายใต้แบรนด์ ease ด้วยการนำเสน่ห์ของงานทำมือมาสร้างเอกลักษณ์ให้ผลิตภัณฑ์ได้อย่างชาญฉลาด เมื่อไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ก้าวต่อไปของพวกเขาจึงกลายเป็นก้าวกระโดด ไม่หยุดอยู่แค่งานปักผ้า หากแต่ยังครอบคลุมไปถึงงานเฟอร์นิเจอร์และงานออกแบบหลายแขนง สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่มีต่องานคราฟต์ และกระบวนการกลั่นกรองความเป็นไทยมาบอกเล่าในรูปแบบที่น่าสนใจ

อุตสาหกรรมแบบเก่า = คราฟต์แบบใหม่

วนัส: “ผมเริ่มจากงานอุตสาหกรรมปักผ้าของครอบครัวที่ทำสินค้าเป็นโหล เน้นปริมาณมาก ๆ และราคาถูก ซึ่งเป็นธุรกิจที่เป็นทางตันสำหรับเรา ในยุคนี้ใครมีเงินมากกว่าก็ซื้อเครื่องได้แพงกว่า ทำงานได้เร็ว และขายได้เยอะกว่า แต่พอย้อนกลับมามองจริง ๆ เราไม่รู้ว่าจะทำให้มันเยอะหรือถูกไปเพื่ออะไร ถ้าคนไม่เห็นคุณค่าของสินค้าเลย จึงอยากทำอะไรให้คนรู้สึกว่างานชิ้นนี้ไม่ได้ผ่านแค่กระบวนการคิด แต่ยังผ่านกระบวนการของงานฝีมือ แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของพี่ ๆ คนงานในโรงงาน และช่วยให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น

“เราเริ่มจากเข้าไปทำความรู้จักกับเครื่องจักรปักผ้า ซึ่งมีหลักการทำงานไม่ต่างจากเครื่องพริ้นต์ แค่ใส่ไฟล์ลวดลายเข้าไป เครื่องจะปักลายตามนั้น แต่ตัวเครื่องของที่บ้านมีอายุกว่า 30 ปีแล้ว ยุคหนึ่งมันเคยไฮเทค แต่ตอนนี้กลายเป็นของโบราณแทบไม่มีใครใช้ ทั้งยังไม่ใช่ระบบอัตโนมัติ ต้องใช้คนคอยควบคุมอยู่ตลอด แต่การมีคนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการนั้นเราว่าเจ๋งมาก จึงทดลองด้วยการหยุดเครื่องจักรขณะทอ แล้วให้มือคนเข้าไปจัดเส้นด้ายหรือทำเทคนิคบางอย่าง เพื่อสร้างแพตเทิร์นใหม่ ๆ จนได้ผลลัพธ์ออกมาไม่เหมือนใคร เราพยายามทำข้อเสียของเครื่องจักรเก่าให้กลายเป็นข้อดีของการสร้างงานดีไซน์แบบใหม่ ease จึงเป็นอุตสาหกรรมที่พยายามจะใส่ความเป็นคราฟต์เข้าไป ไม่ใช่แค่ในกระบวนการผลิตแต่รวมถึงกระบวนการคิดด้วย”

ช่างฝีมือคือพาร์ทเนอร์

ณิชภัค: “การทำงานลักษณะนี้จะมีคนสองกลุ่มทำงานร่วมกัน เหมือนเครื่องจักรเป็นพาร์ทเนอร์กับงานคราฟต์ ส่วนเราผู้ทำหน้าที่ออกแบบก็เป็นพาร์ทเนอร์กับช่างฝีมือหรือช่างผู้ผลิตในโรงงาน ถ้าขาดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไปก็จะไม่มีทางสมบูรณ์แบบได้เลย มีข้อดีคือทุกฝ่ายได้เรียนรู้ เกิดการแลกเปลี่ยน นำไปสู่การปรับตัวไปพร้อมกันทุกขั้นตอน ถ้ามีปัญหาช่างเขาจะมีปฏิกิริยากลับมาพร้อมสอนเราไปด้วย ต่างจากเครื่องจักรหรือคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นแค่เครื่องมือที่บอกแค่ว่าทำไม่ได้แต่ไม่บอกว่าทำไมทำไม่ได้

วนัส: “ในการทำงานจริงบางทีเราจะเจอช่างที่ค่อนข้างยึดติดกับรูปแบบดั้งเดิม เพราะเขาทำมานานด้วยความเคยชินจนเป็นกิจวัตร และไม่รู้สึกว่าการเรียนรู้สิ่งใหม่เป็นสิ่งจำเป็น บางทีจะไปโทษเขาฝ่ายเดียวก็ไม่ถูก เพราะถ้าเราส่งแบบสามมิติไปอย่างเดียวแล้วบอกให้เขาทำ เขาคงไม่เข้าใจ และไม่ช่วยให้ช่างพัฒนาตัวเองได้เลย ดังนั้นเราจึงต้องไปลงมือทำและทดลองพร้อมกับเขา โดยอยู่บนพื้นฐานว่าทั้งสองฝ่ายต้องเปิดใจรับสิ่งใหม่ด้วยกัน สิ่งที่ผมรู้สึกกังวลในตอนนี้คือดีไซเนอร์ดูเหมือนจะเยอะขึ้นเรื่อย ๆ แต่ช่างฝีมือที่พร้อมและอยากเรียนรู้กลับน้อยลง คงจะดีถ้าเราหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องช่วยสร้างค่านิยมใหม่ให้กับช่าง” 

EASE
Cotton งานออกแบบพาร์ทิชั่นที่ผสมผสานวัฒนธรรมดั้งเดิมเข้ากับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน ได้แรงบันดาลใจมาจากเครื่องปั่นฝ้ายทางภาคเหนือ ออกแบบเป็นยูนิตโดยใช้เทคนิคงานปักช่วยปรับเปลี่ยนเลเยอร์ให้มีทั้งความทึบและโปร่งตามลักษณะการใช้งาน สร้างความรู้สึกเป็นส่วนตัวไปพร้อม ๆ กับช่วยถ่ายเทอากาศได้ดี

เรียนรู้เพื่อลบขีดจำกัด

ณิชภัค: “บางทีการที่ดีไซเนอร์เรียนรู้งานฝีมือก็ช่วยให้เราสื่อสารกับช่างได้ดีขึ้น เป็นการเรียนรู้กระบวนการทำงานฝีมือเพื่อนำไปต่อยอด แล้วถ่ายทอดให้เกิดความเชื่อมโยงทางความคิดของคนสองกลุ่ม พอเรามีข้อมูลเยอะ ๆ เขาก็จะรู้สึกว่าเราเป็นพวกเดียวกับเขา”

วนัส: “การที่ผมเข้ามาเรียนรู้เครื่องปักที่บ้านต้องทดลองใหม่หมดเลย เราทดลองจนเครื่องจะพังเพราะอยากรู้ศักยภาพสูงสุด ว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง เดิมเครื่องเคยทำงานปักขนาดใหญ่สูงสุดได้ 10 เซนติเมตร แต่พอลองใหม่จริง ๆ กลับทำได้ถึง 30-40 เซนติเมตร ผมว่ามันก็เหมือนคอมพิวเตอร์ พอเราใช้โปรแกรมอะไรคล่องก็จะสามารถลบขีดจำกัดต่าง ๆ ได้”

วนัส: “เราอยู่ในยุคอุตสาหกรรมเป็นหลัก งานคราฟท์คงไม่สามารถสร้างรายได้เท่าอุตสาหกรรมอยู่แล้ว แต่ความพิถีพิถันของงานฝีมือที่มีเอกลักษณ์คือสิ่งที่ระบบอุตสาหกรรมต้องการ แม้แต่อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ก็ยังต้องใช้คนอยู่ดี งานคราฟท์ไม่จำเป็นต้องตัดสินที่ผลลัพธ์อย่างเดียว ทุกกระบวนการที่มีงานฝีมือของคนเข้าไปเกี่ยวข้องผมถือว่าเป็นงานคราฟท์ แม้แต่ในระบบอุตสาหกรรมก็เช่นกัน”

 “อุตสาหกรรมมีหน้าที่ทำให้โปรดักต์ถูก ดี แข็งแรง ทนทาน ซ่อมแซมง่าย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากนัก ส่วนคราฟท์มีหน้าที่คือทำให้โปรดักต์นั้นดูมีชีวิต” – วนัส โชคทวีศักดิ์

อ่านต่อคราฟท์ใหม่ในอุตสาหกรรมเก่าหน้าถัดไป