จากโลเคชั่นสำคัญในนิยายเรื่อง สี่แผ่นดิน บทประพันธ์ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ที่เล่าถึงตลาดท้ายวัง เป็นแหล่งฮอตฮิตที่สาวชาววังเหล่านางสนม จะต้องมาเดินช็อปปิ้งจับจ่ายสินค้าแฟชั่นในยุคนั้น โลเคชั่นที่หนุ่มชาวพระนครจะต้องปักหมุดดักรอสาวจ้าวเสน่ห์ในทุกเช้า ตลาดหลังวังที่ถูกกล่าวอ้างนั้นปัจจุบันคือท่าเตียน
แม้เรื่องเล่าในนิยายจะเป็นเรื่องแต่งขึ้นและไม่ใช่เรื่องจริงเสียทั้งหมด แต่ส่วนหนึ่งของบทประพันธ์อิงประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้กล่าวอ้างเกินกว่าความจริง เพราะโลเคชั่นที่เคยเป็นทำเลทองในช่วงหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ อย่าง ท่าเตียน เคยรุ่งโรจน์ ก่อนจะแผ่วเบาตามกาลเวลา แต่ตอนนี้ ท่าเตียน กำลังฟื้นคืนชีพอีกครั้ง
ฟื้นคืนชีพครั้งที่ 1
จุดกำเนิดของท่าเตียนไม่ได้เริ่มต้นในยุครัตนโกสินทร์ แต่ย้อนเวลากลับไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงจัดแบ่งที่ดินบริเวณนี้ให้เป็นพักอาศัยของชาวต่างชาติที่เดินทางด้วยเรือสินค้าเข้ามาค้าขายกับกรุงศรี มีทั้งชาวโปรตุเกส ฝรั่งเศส จีน แต่หลังจากเปลี่ยนบรรลังก์พื้นที่ตรงนี้ก็ทำหน้าที่เป็นป้อมปราการทางน้ำด่านเก็บภาษี และเป็นแหล่งค้าขายเรื่อยมา
เข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อเมืองหลวงถูกย้ายจากกรุงธนบุรีมายังอีกฟากฝั่งของเจ้าพระยา เรียกกันว่าฝั่งพระนคร ท่าเรือแห่งนี้ถูกใช้เป็นโรงเก็บเรือรบขนาดใหญ่และถูกสั่งห้ามเข้าอยู่อาศัยเพื่อป้องกันอัคคีภัย หลังจากนั้นโรงเรือรบถูกย้ายไปเก็บที่เมืองนนทบุรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่2 ทรงโปรดเกล้าให้สร้างวังแด่พระประยูรญาติ ก่อนจะถูกไฟใหม่จนราบเตียน ว่ากันว่าเป็นที่มาของชื่อ ท่าเตียน นั่นเอง
ฟื้นคืนชีพครั้งที่ 2
ท่าเตียนกลับมาคึกคักอีกครั้ง เมื่อเริ่มมีชาวต่างชาติเข้ามาค้าขาย ในช่วงรัชกาลที่4 เกิดหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีประเทศอังกฤษและประเทศสยาม หรือที่รู้จักกันในชื่อ สนธิสัญญาเบาว์ริง เปิดทางให้การค้าเสรีระหว่างต่างชาติกับสยามประเทศได้อย่างคล่องตัว สินค้าขนส่งทางเรือจากยุโรปจะถูกส่งเข้าวังก่อนนำมาจำหน่ายที่ตลาดหลังวังหรือตลาดท้ายสนม ที่อยู่ติดกับท่าป้อมบางกอก หากอยากได้สินค้านำเทรนด์อย่าไปที่ไหนไกล เพราะที่นี่เป็นคำตอบของหนุ่มสาวพระนครในยุคนั้นเลยทีเดียว
“ไม่เพียงเท่านั้น ท่าเตียนแห่งนี้ยังเป็นจุดรวมตัวของเรือโดยสาร จากหัวเมืองต่างๆ ที่เดินทางเข้าพระนคร ทั้งมาราชการและค้าขาย จึงจะเห็นการแบ่งย่อยเป็นซอยท่าเรือเล็ก ซึ่งยังคงหลงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน นับได้ว่าที่นี่เป็นสถานีขนส่งแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ก็ว่าได้ “
ชุมทางแห่งการค้าสวยงามขึ้นเมื่อปี 2452 รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าให้สร้างตึกแถวล้อมตลาดเพื่อให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงามเฉกเช่นชาติตะวันตก ออกแบบเป็นอาคารสไตล์เรเนสซองค์ สูง 2 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องว่าว ชั้นบนของอาคารแต่ละห้องมีหน้าต่างบานคู่ เหนือขอบหน้าต่างเป็นช่องไม้ฉลุทาสีเขียว ผังเป็นรูปตัวยู มีมุขกลางทั้งสามด้าน เจาะเป็นช่องโพรงเพื่อเป็นทางเข้าสู่โรงตลาดกลาง รูปแบบสถาปัตยกรรมที่แตกต่าง กลายเป็นความศิวิไลซ์ในยุคนั้นเลยทีเดียว
ฟื้นคืนชีพครั้งที่ 3
จากปี 2452 จวบจนปัจจุบันเนิ่นนานกว่า 98 ปี ท่าเตียนแผ่วเบาคล้ายเสียงกระซิบเมื่อพระนครกลายเป็นกรุงเทพมหานคร จากสถาปัตยกรรมที่เคยรุ่งโรจน์เริ่มเสื่อมโทรมตามกาลเวลา สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงมีนโยบายปรับปรุงอาคารตึกแถวให้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง โดยออกทุนร่วมกับร้านค้าผู้เช่าจำนวน 55 คูหา ซึ่งเป็นร้านค้า โรงแรมที่พัก อาคารพาณิชย์ ฟื้นฟูอาคารให้กลับมามีชีวิต ตอบรับการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติที่ยกให้ตลาดท่าเตียนเป็นหนึ่งในจุดหมายไม่ต่างจากวัดโพธิ์ที่อยู่ในฝั่งตรงข้าม ใช้เวลาในการปรับปรุงทั้งหมด 4 ปี ซึ่งตอนนี้เสร็จสิ้นสวยงาม
การรีโนเวตอาคารเก่าไม่ได้ฟื้นแค่ความสวยงามเท่านั้น แต่ท่าเตียนกำลังจะกลายเป็นศูนย์รวมของคนทุกเพศทุกวัย เริ่มตั้งแต่วัยรุ่นที่เสาะแสวงหาคาเฟ่เก๋ๆ คอนเซ็ปต์แน่นนั่งชิลล์ถ่ายรูปลงโซเชียล หรือจะเป็นวัยผู้ใหญ่ที่แวะเวียนมาไหว้พระ และนวดตัวด้วยแพทย์แผนไทยสบายๆที่วัดโพธิ์ อากงอาม่าที่แวะเวียนไหว้ศาลเจ้าทั้ง5 จุด รวมไปถึงเด็กเยาวชนที่เข้ามาศึกษาวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ยังคงอบอวลอยู่กับปัจจุบันได้อย่างแนบเนียน