9 ศาสตรา
หลังหนังจบสักหนึ่งเรื่อง จะมีสักกี่คนที่นั่งดู End Credit
รายชื่อมหาศาลซึ่งไหลไปบนหน้าจอ ย้ำเตือนผู้ชมเสมอว่าเบื้องหลังเรื่องราวที่เพิ่งได้รับชมไปไม่กี่ชั่วโมงนั้นใช้เวลาในกระบวนการสร้างมากกว่านั้นหลายเท่านัก รวมถึงกำลังคนซึ่งต่างระดมความคิด กำลัง และฝีมือร่วมกัน สร้างสรรค์ผลงานนั้นให้ได้รสกลมกล่อมที่สุดสมการรอคอย ไม่ว่าจะมีใครเห็นชื่อพวกเขาหรือไม่
แม้กระทั่งเหล่า “ตัวอักษร” ที่ไหลผ่านตาผู้ชมไปบนผืนผ้าสีดำหลังหนังจบ ก็ยังถูกกลั่นกรองและ “ออกแบบ” โดยกลุ่มคนผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ
คุณ แต๊บ วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ Creative Director และคุณโป้ง สัมปทา เจดีย์ Designer จากบริษัท “Farmgroup” คือผู้ที่อยู่เบื้องหลัง Typography ทั้งหมดของภาพยนตร์แอนิเมชั่นรสจัดฝีมือคนไทย “9 ศาสตรา“ ซึ่งกำลังเข้าฉายในเวลาอีกไม่นานเกินรอ เราจะพาคุณไปรู้เรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในงานออกแบบตัวอักษร (Typography) ประกอบภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนี้ ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าจะกลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่จะสร้างปรากฎการณ์ให้วงการหนังไทยในอีกไม่ช้า
RM : ทำความรู้จัก Farmgroup
แต๊บ : เราเป็น Design Consultancy เป็นบริษัทเป็นบริษัทออกแบบครบวงจร ที่ส่วนใหญ่ทำ Design Experience คือถ้ามีแบรนด์แล้วต้องการอะไรบ้างเราก็ออกแบบได้หมด ทั้งสิ่งพิมพ์ ดิจิตัล เว็บไซต์ บูธ อีเว้นต์ คือทุกอย่างที่เป็น Experience ยกเว้นงานโฆษณา และออกแบบสถาปัตยกรรม คือไม่ได้ออกแบบตึก หรือบ้าน แต่อะไรที่เป็น Commercial art เราก็จะทำหมดครับ
RM : แล้ว Farmgroup มาร่วมงานกับทีมสร้างภาพยนตร์แอนนิเมชั่น 9 ศาสตรา ได้อย่างไร
แต๊บ : จริงๆ แล้วได้ยินโปรเจคนี้ เพราะทางทีมคนสร้างก็เพื่อนที่สนิทกันอยู่แล้ว และเขาก็เคยแอบเปิดให้ดูตอนที่ยังทำได้ไม่เสร็จดี น่าจะประมาณครึ่งเรื่อง ผมก็ตื่นเต้นด้วย ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่ได้คิดว่าตัวเองต้องไปทำ หรือไปช่วยอะไร ตอนนั้นก็ 4 ปีมาแล้ว เขาก็เคยมีมาคุยเหมือนอยากจะให้ทำโลโก้ให้ด้วย แต่สุดท้ายตกลงกันไม่ลงตัวเขาจึงทำอินเฮ้าส์เอง
ระหว่างนั้นก็เจอกันตลอดจน 3-4 เดือนที่แล้ว เขาก็เอาหนังฉบับเต็มให้ดู คือตอนแรกที่เราดู 4 ปีที่แล้วยังไม่ได้เรนเดอร์ออกมาเป็นไฟนอล พอเห็นแล้วเวอร์ชั่นนี้แล้ว รู้สึกแบบ โอโห! อย่างนี้น่าจะไปไกลนะเนี่ย คุณภาพมันสุดยอดจริงๆ เลยถามว่าต่อว่าตอนนี้มีอะไรที่เราช่วยได้ไหม ขาดเหลืออะไรหรือเปล่า ซึ่งเขาบอกว่าช่วงนี้มันช่วงสุดท้ายแล้ว ตัว End credit หรือไตเติ้ลที่ขึ้นมายังไม่รู้ว่าจะใช้ฟอนต์อะไร ตอนแรกแค่ปรึกษาให้เลือกฟอนต์ให้ที่มีในคอมพิวเตอร์ แต่เรามองว่า “ 9 ศาสตรา” อนาคตน่าไปได้ไกลกว่าแค่หนังนี้ คืออาจจะมีโปรดักต์ ภาคสอง หรือ เกมออกมา เราก็เลยแนะนำให้ทำฟอนต์เองเลยไหม เพราะไหนๆ ก็หนังแบบไทยที่มันพิเศษเสียเหลือเกิน แล้วภาษาไทยก็ยังไม่มีใครมี เขาก็ตกลง เลยเริ่มทำ
RM : แนวความคิดในการออกแบบฟอนต์ 9 ศาสตรา
แต๊บ : เราก็คุยกันในทีมว่า ถ้าดูหนังเรื่องนี้แล้ว จะให้ฟอนต์สักฟ้อนต์นึง มันจะเป็นฟอนต์แบบไหน มันจะมีประวัติศาสตร์ ที่ดูแล้วเป็นแบบไทยเดิม หรือจะโมเดิร์น หรืออะไรกันแน่ ก็พยายามคิด แล้วเราก็สรุปกันว่า มันคงเป็นไทยนะ แต่ประยุกต์ให้ร่วมสมัยในแบบของหนังที่มีความไทยเดิมแบบวิชาเก่าแก่ของมวยไทย ในขณะเดียวกันก็มีโจรสลัดอวกาศ มีความแฟนตาซีอยู่ด้วย
ตอนที่เราเสนอก็วิเคระห์หลายอย่าง วิเคราะห์เส้นสายของตัวอักษร วิเคราะห์หัวโลโก้เอง ความแหลมคมความโค้ง วิเคราะห์การลดทอนลายไทย เอามาใส่ในคาแร็กแตอร์ เพราะอยากให้ทุกอย่างมันสำเนียงเดียวกัน
RM : เริ่มออกแบบจากตรงไหนก่อน
แต๊บ : เริ่มจากทำรีเสิร์จศึกษาประวัติศาสตร์ ย้อนกลับไปเท่าที่หาเจอว่าฟอนต์ภาษาไทยเค้าใช้อะไรบ้าง แต่เมื่อคุยกับใคร นักวิชาการคนไหนก็ไม่มีใครบอกได้เหมือนกัน เราก็เลยไปเริ่มที่พวกตัวขูดต่างๆ สมัยก่อน (แผ่นตัวอักษรที่ใช้การขูดระบายเพื่อสร้างคำ) ดูตัวขูดเชิงการตกแต่ง (Decorative) ซึ่งดูๆ ไปแล้วก็มีหลากหลายสไตล์ ได้อิทธิพลมาจากภาษาอังกฤษมาทั้งนั้น หลังๆ ยังไปเจอตามร้านขายเครื่องเขียน จนกลายเป็นกิมมิคไปแล้ว อย่างสมัยก่อนต้องขูดจริงๆก่อนทำอาร์ตเวิร์ค ยิงฟิล์ม แล้วค่อยนำกลับมาพิมพ์
จนถึงย้อนไปตั้งแต่สมัยหมอบัดเล่ย์ (ผู้เริ่มต้นการพิมพ์อักษรไทยในประเทศไทยเป็นครั้งแรก) ดูว่าฟอนต์ไทยสมัยก่อนเป็นอย่างไร ดูทั้งโรงพิมพ์ แล้วเราก็ดูเรื่องเกี่ยวกับหนังด้วย ย้อนดูแม้กระทั่งหนังสือร้อยปีหนังไทย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นตัวอักษรที่เขียนขึ้นจากมือ ได้รับอิทธิพลมาจากตัวอักษรภาษาอังกฤษ และเริ่มเห็นความมีอิทธิพลของช่างฝีมือในงานป้ายในประเทศไทย เห็นเรื่องปลายจงอย จากงร่องรอยของเครื่องมือพวกพู่กันหรือปากกาหัว และรู้สึกว่าอย่างนี้มันดูร่วมสมัยดี แล้วก็ไปดูตรง Serif ว่ามีอะไรที่เราเล่นได้บ้าง
RM : ชุดตัวอักษรนี้ ออกแบบทั้งหมดกี่แบบ
โป้ง : ตอนที่เสนอไอเดีย มี 2 แบบครับ แบบแรก แบบแรก มีการดึงองค์ประกอบต่างๆ ของตัวโลโก้มา ดึงคาแร็กเตอร์ตัวละครมาใส่ในงานออกแบบ ส่วนปลายแหลมตรงกลางตัวอักษรมาจากลายกนกที่ถูกลดทอนมา เหมือนเก็บเป็นดีเทลเล็กๆ ที่ทีมออกแบบโลโก้เก็บรายละเอียดมากจากหนังได้ดีมาก จึงอยากเก็บรายละเอียดนี้ไว้ในชุดตัวอักษรนี้ด้วย
แต๊บ : ส่วนแบบที่ 2 เราก็ไปดูหนังสือของสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งคนที่เป็นนักออกแบบตัวอักษรจะรู้จักกันดี อย่างที่เราเห็นมีเยอะแยะไปหมด ตามโรงหนัง โรงรับจำนำทั่วไป แล้วก็มีภาพป้ายหลังรถสิบล้อที่ผมเคยถ่ายไว้ตอนขับรถผ่าน ซึ่งมันน่าสนใจดีตรงที่ตัวอักษรไทยนริศที่เคยใช้เขียนในวัง เมื่อกาลเวลาผันไปตอนนี้มันมาอยู่เป็นแบบทั่วไปตามท้องถนน เลยรู้สึกว่าอันนี้มันเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบอันดับหนึ่ง แล้วจึงปรับกลับมาให้มีความร่วมสมัย และให้ดูแฟชั่นเนเบิ้ลขึ้น
จนสุดท้ายทีมผู้สร้างฯ โอเคกับแบบแรก เราจึงพัฒนาต่อให้มี 3 รูปแบบ คือ Satra Regular , Satra Stencil , Satra Shadow สำหรับการนำไปเลือกใช้งานที่ต่างกัน
RM : ใช้เวลาในการออกแบบนานเท่าไร
โป้ง : ทั้งหมดนี้ใช้เวลาในการออกแบบ 2-3 เดือน ซึ่งเร็วมากสำหรับฟอนต์นึง และมีทีมทำงานสามคนครับ
RM : มีดีเทลในการออกแบบที่อยากบอกเป็นพิเศษไหม
โป้ง : จริงๆ ฟอนต์ตัวนี้มันพิเศษในตัวมันเองอยู่แล้ว เราไม่อยากให้มันไปแย่งซีนเด่นอะไรของเรื่อง มันเหมือนเป็นตัวรองรับของหนังเรื่องนี้ ผมว่ามันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและพิเศษในตัวมันเองอยู่แล้ว
แต๊บ : คือตอนแรกเราก็ใส่รายละเอียดเยอะแยะเลยครับ ดีไซน์กันเยอะมาก แล้วค่อยๆ ปรับให้มันเรียบง่ายขึ้น อย่าง ส.เสือ ตอนแรกมันเป็นตัวแบบนี้ที่ชี้ขึ้นไปเลย ซึ่งช่วงแรกๆ มันก็จะสนุกๆ ซิ่งๆหน่อย แล้วปรับไปเรื่อยๆ ให้เข้ากับมู้ดของภาพยนตร์ คงความเก่าแต่ดีไซน์ร่วมสมัย และมีความรู้สึกสองอย่างอยู่เหมือนในหนังเรื่องนี้มี ก็เลยคิดว่านี้คือสิ่งที่ต้องการส่งต่อมากว่า
ส่วนในรายละเอียดเล็กน้อยที่ใส่เข้าไปเมื่อตัวใหญ่ก็จะเห็นชัดขึ้น พอเล็กลงหายไปก็ไม่เป็นไร แล้วก็ที่บอกตัวตัวหัวตัดต่างๆ พวกนี้เป็นเหมือนรายละเอียด ลูกเล่นที่เวลานำไปใช้มันดูทันสมัยมากขึ้นครับ เพราะทาร์เก็ตกรุ๊ปเป็นเด็กเสียส่วนใหญ่ เด็กสมัยนี้เค้าเล่นเกมเยอะ ดีไซน์พวกนี้น่าจะเหมาะ
RM : แล้วตัวไหนออกแบบยากที่สุด
แต๊บ : ภาษาไทยค่อนข้างยากทุกตัว รายละเอียดของฟอนต์นี้ไม่ใช่แค่ตัวอักษร แต่คืออากาศข้างๆ ของมันด้วย อย่าง ตัว ว.แหวน ถ้าวางข้างๆ กับตัว ธ.ธง หรือ ตัว ว.แหวน อยู่ข้างๆ ต. เต่า จะมีช่องว่างขนาดไหนจึงจะพอดี คือเราต้องใส่ค่าความเป็นไปได้ที่ตัวนั้นๆ จะไปวางข้างกับตัวไหน เช่น ถ้าตัวนี้มาเจอกันต้องห่างหน่อย ตัวนี้มาเจอกันต้องชิดหน่อย ถ้ามีการันต์ ต้องมีระยะเหนือขึ้นไปเท่าไหร่ เลยจะไปเสียเวลากับการอยู่ตรงนั้นเยอะ เพื่อให้การพิมพ์สมูท ซึ่งฟอนต์แบบนี้ก็เหมาะกับการเป็นข้อความใหญ่ๆ มากกว่า อย่างเฮดดิ้ง ดิสเพลย์ ใช้เพื่อสื่อข้อความ และอารมณ์สื่ออารมณ์อย่างละครึ่ง
RM : ถ้าให้บอกความรู้สึกกับตัวอักษรที่ออกแบบเราจะเลือกตัวไหนเพราะอะไร
โป้ง : คงพูดกับ ส. เสือ ครับผม เพราะเป็นตัวเริ่มแรกที่ผมออกแบบก่อนเลย ส่วนความในใจของผมก็คือ โอเคไปสร้างประวัติศาสตร์นะ
RM : ทำไมต้องเริ่มจาก ตัว ส.เสือ ก่อน
เป็นความชอบส่วนตัวด้วยครับ พอตัว ส.เสือ เสร็จมันก็จะมองเห็นภาพตัวอักษรตัวอื่น มองเห็นว่าส่วนโค้งของตัวอื่นๆ จะเป็นแบบไหน เพราะ ตัว ส.เสือ จะมีหางขึ้นมานิดหนึ่ง ทำให้เห็นภาพว่าถ้าตัวที่มีหางต่อมาจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรได้บ้าง ซึ่งเป็นเทคนิกส่วนตัวมากกว่าครับ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีวิธีการออกแบบที่แตกต่างกันไป
RM : ที่ที่ออกแบบแล้วไอเดียพลุ่งพล่านที่สุด
โป้ง : ที่นี่แหละครับ (หัวเราะ) สถานที่ไม่เกี่ยวเกี่ยวกับเวลามากกว่า
แต๊บ : แต่ที่นี่ทำงานกันแบบทั่วไปนะครับ เราไม่ได้เป็นศิลปิน แบบว่าต้องมีฟีลถึงทำได้ การออกแบบสำหรับเราคือวิทยาศาสตร์ อย่างที่เห็น มันมีการค้นคว้า มีความเข้าใจในศาสตร์ของมัน เข้าใจความงาม แล้วจะมีคำตอบของมันเอง
RM : ขอดูดินสอหรือปากกาที่ใช้ในการออกแบบหน่อยได้ไหม
โป้ง : จริงๆ เราก็ใช้ดินสอธรรมดาทั่วไป เป็นดินสอของออฟฟิศนี่แหละครับ อันนี้แหละครับที่จะสร้างประวัติศาสตร์ให้กับเรา (หัวเหราะ)
ถ้าเริ่มสนใจภาพยนตร์แอนนิเมชั่นเรื่อง 9 ศาสตรา เช่นเดียวกับเรา เตรียมเข้าไปรับชมในโรงภาพยนตร์ ได้ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม ศกหน้านี้ และสำหรับใครที่สนใจชุดตัวอักษรศาสตรา (Satra) นี้ ก็ขอแสดงความยินดีล่วงหน้า เพราะจะได้เปิดให้ดาวน์โหลดไปใช้งานได้ต่อไป
อ่านต่องานออกแบบที่น่าสนใจ : DESIGN
http://www.baanlaesuan.com/1512/ideas/films-to-inspire-your-home/
เรื่อง Pari,Korakada
ภาพ Farmgroup