ทุกปีดีไซเนอร์และผู้คนทั่วโลกล้วนจับตา พร้อมรอฟังว่าทีมนักวิเคราะห์ของดีไซน์แฟร์ระดับโลกอย่าง MAISON & OBJET จะนำเสนอเทรนด์ดีไซน์ไปในทิศทางไหน และปี 2018 นี้ นักวิเคราะห์ก็เห็นตรงกันว่า อำนาจแห่งเทคโนโลยีดิจิทัลได้ส่งผลต่อไลฟ์สไตล์ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับงานดีไซน์ และกำลังทำให้ทุกพื้นที่การใช้ชีวิตกลายเป็น “โชว์รูม”
“เทคโนโลยีดิจิทัล และความฮิตของอินสตาแกรมทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ทุกคนสามารถเป็นเทรนด์เซ็ตเตอร์ ถึงตอนนี้ผู้บริโภคไม่ได้อยากฟังเรื่องราวจากแบรนด์อีกต่อไป แต่ต้องการสร้างและสัมผัสประสบการณ์กับสินค้านั้นๆ ด้วยตัวเอง”
ทีมวิเคราะห์เทรนด์ดีไซน์ปีนี้ นำโดย Vincent Grégoire จากเทรนด์เอเจนซี่ดังของโลก NELLYRODI เขาพบว่าวิกฤตทางเศรษฐกิจ และการปฏิวัติทางดิจิทัล ได้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค จากที่เคยสวามิภักดิ์ ยอมจ่ายเงินเพื่อแบรนด์นั้นๆ อย่างไร้คำถาม ทุกวันนี้ผู้บริโภคกลับกลายเป็นผู้กุมอำนาจ และมีอิทธิพลกับยอดขายอย่างยิ่ง ด้วยพลังแห่งอินเตอร์เน็ต พวกเขาสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ สามารถเปรียบเทียบราคา เขียนคอนเม้นท์ ให้ดาวจัดอันดับ และจนอาจกลายเป็นพาร์ทเนอร์ทางการตลาดที่แบรนด์ไม่ได้อาจมองข้าม
“บ้าน” คือ “โชว์รูม”
เมื่อต้องการแชร์ข้อมูลหรือรูปภาพผลิตภัณฑ์ที่ซื้อมาล่าสุด การโพสคอนเทนต์ต่างๆ ของแบรนด์ทั้งหมดเกิดขึ้นที่ “บ้าน” ของพวกเขาเอง บ้านจึงกลายเป็นจุดกำเนิดของแรงบันดาลใจ และผู้บริโภคกลายเป็นทั้งอาร์ตไดเร็คเตอร์ ดีไซเนอร์ สถาปนิก ฝ่ายดิสเพลย์สินค้า ฝ่ายการตลาด หรือแม้แต่แบรนด์แอมบาสเดอร์ ที่พร้อมแปลงโฉมมุมบ้านให้กลายเป็นโชว์รูมสำหรับรีวิวผลิตภัณฑ์ต่างๆ ลงโซเชี่ยลมีเดีย
เทรนด์ SHOWROOM สะท้อนถึงความนิยมที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในการเปิดเผยชีวิตส่วนตัวของเราให้เป็นเรื่องสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นภาพสวยๆ ที่เราตั้งใจสร้างขึ้น รวมถึงเบื้องหลังของการสร้างสรรค์นั้น ดังนั้น การเล่าเรื่องราว (Story-Telling) กลายเป็นเรื่องล้าสมัย ผู้คนต้องการสัมผัสประสบการณ์ และใช้ชีวิตท่ามกลางเรื่องราวนั้น (Story-living) มากกว่า และนี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า “Showroomisation” หรือการทำทุกพื้นที่ให้กลายเป็นโชว์รูม ไม่ใช่แบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ที่กำหนดทิศทางของผู้บริโภคอีกแล้ว แต่กลุ่มผู้บริโภคต่างหากที่มีส่วนในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ และแบรนด์ต่างๆ
อย่างไรก็ตาม เทรนด์การแชร์พื้นที่ส่วนตัว หรือเซอร์วิสออนไลน์ต่างๆ ที่คืบคลานเข้ามาในพื้นที่โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค ได้ส่งผลในทางตรงกันข้ามสำหรับคนบางกลุ่ม ทำให้พวกเขาปฏิเสธโลกดิจิทัลอย่างสิ้นเชิง พวกเขามีความสุขในโลกของคนนิรนาม และใช้ชีวิตอย่างเป็นความลับ จะเรียกว่าเป็นดิจิทัล ดีท็อกซ์ก็ว่าได้
ราวแขวน ชั้นวาง กระจกเงา – เฟอร์นิเจอร์สำหรับสายรีวิว
เทรนด์ดีไซน์นี้ส่งผลโดยตรงต่อวิถีชีวิตเรา แนวโน้มการออกแบบภายในจึงมีการใช้องค์ประกอบที่คล้ายกับการตกแต่งโชว์รูมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นราวแขวน ฉากกระจก ชั้นวางของ กระจกเงา แม้แต่ตู้เสื้อผ้าวอล์คอิน เสื้อผ้า และข้าวของได้รับการจัดเรียงอย่างเป็นศิลปะ
ทั้งหมดนี้เน้นการใช้วัสดุโปร่งใส เพื่อนำเสนอชิ้นงานของพวกเขาให้โดดเด่นยิ่งขึ้น ผนังถูกใช้เป็นที่จัดแสดงรูปภาพ จานดิสเพลย์ หรือของตกแต่งอื่นๆ รวมถึงการใช้องค์ประกอบการตกแต่งที่สื่อถึงใบหน้าของคน หุ่น และหน้ากาก ไปจนถึง พรม โคมไฟ เหมือนว่าเราเห็นตัวแทนของ “ผู้คน” ในทุกที่ ซึ่งเหมือนเป็นการดึงเอาประสบการณ์ในการใช้งานเฟสบุคเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน
เจ้าของบ้านรับบทบาทเป็นทั้งนักสะสมและภัณฑารักษ์ไปพร้อมๆ กัน ผลิตภัณฑ์ต่างแบรนด์ถูกรวบรวมจัดเรียงไว้ในมุมบ้านในรูปแบบและสไตล์ส่วนตัว โพสท่ารอให้เจ้าของถ่ายรูปลงอินสตาแกรม ซึ่งนับเป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ แต่นี่แหละคือการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เข้าใจง่าย และทรงอิทธิพลกว่าการพูดจากปากของแบรนด์เองด้วยซ้ำ
รีเทลช็อปที่สร้างแพสชั่น
“ถึงเวลาที่ธุรกิจต่างๆ ต้องสร้างแพชชั่นอย่างเร่งด่วน ช็อปต่างๆ ไม่ใช่พื้นที่สำหรับการวางสินค้าเพื่อขายเท่านั้น ลูกค้าต้องการพื้นที่ที่สามารถสัมผัสประสบการณ์จากผลิตภัณฑ์ เพื่อรีวิว และแชร์ความคิดเห็นกับกลุ่มของพวกเขาได้ทันที”
เทรนด์ดีไซน์ที่ช่วยผลักดันให้ธุรกิจมีชีวิต ทำให้ร้านค้ามีความรู้สึกเหมือน “บ้าน” มากขึ้น เพราะลูกค้าต้องการพื้นที่ที่เขาผ่อนคลาย สามารถสัมผัสประสบการณ์จากผลิตภัณฑ์ และแชร์ความคิดเห็นกับกลุ่มเพื่อนได้ทันที กระแสโลกเปลี่ยนไปแล้ว ความเชื่อเกี่ยวกับรสนิยมที่ดีหรือแย่ไม่มีอีกแล้ว งานดีไซน์ราคาสูงก็ดูเชื่อมโยงกับของจุกจิกราคาถูกอย่างจงใจ ธุรกิจจึงควรกลับมาเชื่อมโยงกับแพสชั่น และอารมณ์ความรู้สึก เพื่อสร้างความเซอร์ไพร์ส และกระแสใหม่ๆ
และทั้งหมดนี้จะได้รับการนำเสนอแบบรูปธรรมในโซน Inspirations Space ในงาน Maison et Objet วันที่ 19 – 23 มกราคมนี้ ณ กรุงปารีส
พื้นที่ Inspirations Space จะนำเสนอเทรนด์ดีไซน์นี้ผ่านสเปซที่กระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าชมผ่านการสร้างประสบการณ์สดๆ อาทิเช่น ในพื้นที่นิทรรศการ อาจเต็มไปด้วยโต๊ะที่เต็มไปด้วยสิ่งของ และชั้นวางว่างเปล่า เพื่อให้ผู้เข้าชมเลือกสิ่งของเหล่านั้นมาดิสเพลย์บนชั้น สะท้อนถึงกระแสความเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงกว่าความนิ่ง เงียบสงบแบบนิทรรศการทั่วไป
และนี่คือโอกาสที่คุณจะได้ลองถอยหลังออกมาดูภาพรวม ได้ลองแสดงความคิดเห็น ว่าจะรักหรือจะเกลียดเทรนด์ดีไซน์นี้เหมือนที่ทุกๆ คนทำกันในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค
เรื่อง MNSD