ออกแบบออฟฟิศ เพื่อแสดงตัวตน VANACHAI OFFICE BUILDING - room

VANACHAI OFFICE BUILDING สะท้อนตัวตนองค์กรผ่านวัสดุที่รู้จักเป็นอย่างดี

ออกแบบออฟฟิศ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ชัดเจนและแข็งแรงให้แก่องค์กร อีกหนึ่งวิธีการที่บริษัทพัฒนาวัสดุไม้เพื่อการตกแต่งและก่อสร้างอย่าง บริษัท วนชัยกรุ๊ป เลือกใช้คือการนำวัสดุที่พวกเขาคิดค้นและพัฒนาขึ้นเองนั้น มาแสดงศักยภาพผ่านงานออกแบบสำนักงานแห่งใหม่ได้อย่างสูงสุด

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Openbox Architects

บริษัทวนชัย กรุ๊ป เป็นบริษัทผู้นำการพัฒนาวัสดุแปรรูปจากไม้ เช่น MDF HDF และพาติเคิลบอร์ดอันดับต้น ๆ ของไทย ในฤกษ์งามยามดีที่บริษัทกำลังขยับขยายและมีแผนว่าจะสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่บนที่ดินรูปสามเหลี่ยมบริเวณเชิงสะพานพระราม 7 Openbox Architects กลุ่มสถาปนิกมือรางวัลจึงได้รับโอกาสเข้ามาเป็นผู้รังสรรค์สถาปัตยกรรมบนที่ว่างที่ว่านั้น ผ่านไอเดียง่าย ๆ แต่ชัดเจนด้วยการ ออกแบบออฟฟิศ ที่สะท้อนตัวตนขององค์กรผ่านวัสดุที่พวกเขารู้จักเป็นอย่างดี

ออกแบบออฟฟิศ

โดยการออกแบบครั้งนี้ คุณหนุ่ย – รติวัฒน์ สุวรรณไตรย์ ไดเร็คเตอร์ของ Openbox Architectsได้ใช้ชื่อธีมว่า “Power of Identity”

“เหตุผลที่ตั้งชื่อธีมว่า “Power of Identity” เพราะเป็นช่วงที่เราสนใจและตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการทำงานว่า เราทุ่มเงินเป็นร้อย ๆ ล้าน จนได้อาคารที่ใช้งานได้และสวยงาม แต่อาคารนั้น ๆ ควรจะต้องสามารถสะท้อนคาร์แร็คเตอร์พิเศษขององค์กรได้ด้วย เปรียบเหมือนเป็นสิ่งที่แสดงความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งให้แก่องค์กร หรือทำหน้าที่เป็นเหมือนบิลบอร์ดอันหนึ่งนั่นเอง”

แต่การเปลี่ยนไอเดียที่เป็นนามธรรมให้ออกมาเป็นรูปธรรมย่อมเป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายเลย ขั้นตอนเบื้องต้นสถาปนิกจึงเริ่มจากการทำความเข้าใจตัวตนขององค์กรแห่งนี้ก่อน ด้วยการเข้าไปสำรวจถึงในโรงงานของบริษัท สำรวจวัสดุที่เหมาะสม รวมถึงสำรวจที่ดินรูปสามเหลี่ยมซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายการทำงานไม่น้อย

ออกแบบออฟฟิศ ออกแบบออฟฟิศ

ออกแบบออฟฟิศ

บนที่ดินรูปทรงประหลาดคุณหนุ่ยจึงเริ่มจากการจัดการที่จอดรถเป็นอย่างแรก  สิ่งสำคัญคือต้องออกแบบให้มีทางลาดขึ้นที่จอดรถอย่างสะดวกสบาย และมีพื้นที่เพียงพอกับจำนวนรถยนต์ จนกระทั้งออกมาเป็นอาคารขนาด  7 ชั้น โดย 4 ชั้นแรก กำหนดให้เป็นที่จอดรถและห้องงานระบบ ส่วนสำนักงานจะอยู่ที่ล็อบบี้ซึ่งตั้งอยู่บนชั้น 5 และด้วยตำแหน่งของล็อบบี้ที่ไม่สามารถเดินเข้าจากชั้นล่างได้เหมือนสำนักงานทั่วไป  สถาปนิกจึงพลิกข้อจำกัดนี้ให้เป็นจุดเด่น ด้วยการออกแบบให้มีบันไดเลื่อนจากบริเวณส่วนที่แหลมที่สุดของอาคารตรงขึ้นไปยังห้องล็อบบี้ ให้เหล่าพนักงานและแขกที่มาติดต่องานเดินผ่านเข้าทางลาดชันที่ถูกบีบให้แคบ แล้วค่อย ๆ เผยห้องล็อบบี้ที่กว้างขวางภายในซึ่งเป็นระยะสิ้นสุดของบันไดเลื่อนพอดี

และในบริเวณนี้ยังเป็นส่วนที่สถาปนิกยกอาคารให้ลอยสูงขึ้นเพื่อให้ทางเข้ามีลักษณะเป็นเหมือนใต้ถุน ช่วยลดความหนาหนักของอาคาร สร้างความน่าสนใจให้การเข้าถึง และทำให้ที่ดินปลอดโปร่งทะลุถึงกัน เพราะในอนาคตอันใกล้บริษัทมีแผนจะสร้างอาคารคอมเมอเชียลอีกหลังให้เชื่อมต่อถึงกันได้

อ่านต่อหน้า 2 คลิก