หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่กลัวร้อน พร้อมลุย และสนุกกับการได้สัมผัสวิถีชีวิตของคนทำงานคราฟต์เก่าแก่อย่างใกล้ชิด เราอยากขอชวนคุณออกไปตะลุยพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตกลางกรุงเก่า ซึ่งเต็มไปด้วยจังหวะอันเร้าใจของเหล็กร้อนที่ถูกตีจนเป็นบาตร ไปพร้อมกับสัมผัสภูมิปัญญาสุดเก๋าของช่างทำบาตรพระด้วยมือกลุ่มสุดท้ายของโลก ในตรอกจิ๋วแต่เจ๋งเกินตัวอย่าง ชุมชนบ้านบาตร ด้วยกัน !
วันวานในบ้านบาตร
คงไม่เกินจริงไปนักหากเราจะบอกว่า แรงศรัทธาในพระพุทธศาสนากับความรักในงานที่ทำงานอย่างแน่วแน่นั้น ส่งผลให้กลุ่มช่างทำบาตรโลหะสมัยกรุงศรีอยุธยายังคงสืบทอดภูมิปัญญาเก่าแก่จากรุ่นสู่รุ่น เพราะหลังเสียกรุงครั้งที่ 2 พวกเขาก็ยังคงไม่ทิ้งงานที่รัก แถมยังหอบหิ้วทักษะมาตั้งรกรากบริเวณกำแพงรอบกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนย้ายมาตั้งชุมชนของตัวเอง บริเวณสี่แยกเมรุปูน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2326 จนถึงปัจจุบัน
ช่างเก่าเล่าเรื่อง
บาตรพระของที่นี่ขึ้นชื่อในเรื่องงานฝีมือสุดประณีตทุกขั้นตอน ทำให้ทุกๆ วันจะมีพระจากทั่วทุกภาคเดินเท้าเข้ามาเฟ้นหาบาตรชั้นดีเสมอ “ตั้งแต่เด็กๆ จำความได้ว่า ตื่นมาเช้ามืดก็ได้ยินเสียงตีเหล็กแล้ว เพราะทุกบ้านทำกันหมด เหมือนเราแข่งขันกันทำบาตรให้สวยที่สุด จนสี่ห้าทุ่มก็ยังไม่เงียบเลย บอกไว้เลยที่นี่หนวกหูที่สุด คนอื่นมาอยู่ไม่ได้หรอก (หัวเราะ) ช่างเก่งๆ บางคนถ้าทำออกมาไม่ถูกใจเขาก็จะทิ้งทำใหม่เลย” ลุงมนพ ช่างตีขอบบาตรที่สืบทอดตระกูลช่างทำบาตรจากอยุธยา ผู้เติบโตและเห็นการเปลี่ยนแปลงของบ้านบาตรมากว่า 60 ปี บอกกับเราอย่างนั้น ก่อนลุงอมรจะเสริมว่า “ถ้าใครเคยเห็นรูปในหลวงขณะทรงผนวช บาตรที่พระองค์ถืออยู่นั้นเป็นฝีมือของลุงสุเทพ ช่างมือหนึ่งของที่นี่เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว”
วันใหม่ของบาตรทํามือ
ในปี พ.ศ.2544 บ้านบาตรกลับมาสดใสอีกครั้งจากแผนอนุรักษ์ชุมชนของเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายที่พาเอากลุ่มนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมการทำบาตร จนสามารถรวมกลุ่มช่างทำบาตรฝีมือดีที่หลงเหลือได้ทั้งสิ้น 5 กลุ่มไว้เป็นปึกแผ่น
ทุกวันนี้บาตรพระทำมือกลับมาเป็นที่สนใจของคนหลายกลุ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา ชาวต่างชาติ ลูกวัดที่ต้องการจัดพิธีกรรม ตลอดจนร้านสังฆภัณฑ์ที่กลับมาโหยหางานทำมืออีกครั้ง ทำให้บ้านบาตรยังคงส่งเสียงกังวานกลางกรุงเก่าต่อไปได้อีกเรื่อยๆ “ถามว่าตอนนี้ฟื้นไหม ตอบเลยว่าฟื้นมาก จนเรียกว่าไม่ใช่อันดับ 1 ในประเทศไทยอย่างเดียว แต่เป็นงานบาตรทำมือหนึ่งเดียวในโลกด้วย กว่าบ้านบาตรจะเดินทางมาถึงวันนี้ บาตรหนึ่งใบที่คุณเห็นมันมีเรื่องราวเยอะแยะมากมายไปหมด ซึ่งเรายินดีที่จะแบ่งปันเรื่องราวเหล่านั้นกับทุกคน” ป้ากฤษณายืนยันความคิดด้วยรอยยิ้ม
กองกําลังลับหลังบ้านบาตร
อาจเป็นเรื่องชวนเคอะเขินไปสักนิด หากต้องเดินดุ่มๆ เข้าไปในชุมชนแปลกหน้าด้วยตัวเองครั้งแรก เราจึงอยากพาคุณไปทำความรู้จักกับ Trawell กลุ่ม Social Business ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของคนหนุ่มสาว 5 คน จากโครงการ One Young World Bangkok Summit 2015 ที่ตั้งใจฟื้นฟูชุมชนดั้งเดิมให้กลับมาสดใสอีกครั้ง โดยพวกเขาจะพาคุณไปเยี่ยมเยือนชุมชนเก่าแก่ในกรุงเทพฯ และทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงผู้สนใจกับชาวบ้านให้เข้าใจซึ่งกันและกัน ผ่านการทำกิจกรรมสนุกๆ รวมถึงลงมือทำงานฝีมือกับคนในชุมชนแบบกันเอง
“สำหรับเรา บ้านบาตรเป็นอะไรที่ยิ่งกว่ารัตนโกสินทร์อีก เขาสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และเป็นช่างกลุ่มสุดท้ายของโลกที่ทำบาตรด้วยมือแล้วจริงๆ คนในชุมชนบ้านบาตรนั้นเป็นกลุ่มคนที่มีพลังมาก พวกเขาสามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้หมด แต่เรามองว่าสิ่งที่ยังขาดคือ การพัฒนาที่ต่อเนื่อง เราอยากทำให้ยั่งยืนต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ทำโปรเจ็กต์หรืออีเว้นต์เป็นครั้งคราวแล้วหายไป ซึ่งตอนนี้เราอยู่ในช่วงทดลองว่าชาวบ้านสามารถรับความต่อเนื่องได้มากน้อยขนาดไหน” กีรติ วุฒิสกุลชัย หนึ่งในทีมพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนบอกกับเรา
“โมเดลแรกเริ่มจะเป็นทริปทดลองท่องเที่ยวร่วมกับชุมชนขนาดเล็กๆ ราว 10-15 คน และเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม กำไรที่ได้จากการทำทริป ชาวบ้านก็สามารถเอาไปพัฒนาชุมชนได้เลย เราแอบหวังว่าจะสามารถทำให้ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ผู้สนใจสามารถเดินเข้าไปได้เองโดยไม่ต้องมีเรา หรือไกด์ใดๆ อาจต้องพึ่งพานวัตกรรมหรืออะไรก็ตามที่เป็นตัวลิงค์ระหว่างคนในชุมชนกับคนที่มาเที่ยว เช่น แผ่นพับ แผนที่ หรือแอพพลิเคชัน ช่วยบอกได้ว่าเขาควรเดินไปตรงไหน แล้วจะพบกับใคร อย่างไรบ้าง”
นอกจากการพัฒนาชุมชนด้วยการท่องเที่ยวแล้ว กลุ่ม Trawell ยังมองข้ามสเต็ปไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชนอีกด้วย สพณ พิทักษ์ หนึ่งในทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์เล่าว่า “เรามองว่าการทำบาตรคือจิตวิญญาณของคนที่นี่ เราจึงพยายามให้ชาวบ้านยังคงทำงานที่รักต่อไปได้อย่างเต็มที่ นอกเหนือจากการจัดทริปทดลอง ตอนนี้เรากำลังเข้าไปคุยกับคนในชุมชนอยู่ว่า อยากเห็นบาตรของตัวเองพัฒนาไปแบบไหน แล้วเราก็จะช่วยสนับสนุนในแง่การดีไซน์ โดยยังใช้สกิลเก่าแก่ของช่างอยู่” สพณกล่าวทิ้งท้ายระหว่างสเก็ตช์แบบโคมไฟที่ทำจากบาตรพระ ก่อนนำไปปรึกษาเหล่าช่างใหญ่ในชุมชนอีกที
- ป้าอารีย์ อายุ 74 ปี เริ่มทำบาตรตั้งแต่อายุ 10 ปี จากการช่วยพ่อแม่จนชำนาญ ขั้นตอนหลักทำงานเผาบาตร และทุบตะเข็บ
- ป้ากฤษณา อายุ 65 ปี เป็นช่างฝีมือทุบตะเข็บ และตีเรียงเม็ด
- ลุงอมร อายุ 60 ปี เริ่มจากเป็นเด็กเข็นฟืนให้ช่างในชุมชน และไปขอเรียนวิชากับช่างแล่นบาตร ปัจจุบันเป็นช่างเชื่อมบาตรคนเดียวของชุมชน
- ลุงมนพ อายุ 66 ปี เป็นช่างตีขอบบาตร ขั้นตอนแรกสุดของการทำบาตร
- ลุงประชุมเฮง อายุ 74 ปี เป็นช่างต่อบาตร ตัดแผ่นเหล็กออกเป็นชิ้นส่วน แล้วตัดขอบเป็นซี่ฟันเพื่อประกอบกับขอบบาตร
- พี่หมี อายุ 36 ปี เป็นช่างทุบตะเข็บ และทำลายบาตร ให้ได้รูปทรงตามต้องการ
- พี่จอย อายุ 36 ปี เป็นช่างตะไบบาตร เก็บงานผิวบาตรให้เรียบเนียน