ศรณ์ ร้านอาหารใต้ ที่แรงบันดาลใจจาก “ใบไม้” กลายมาเป็นคอนเซ็ปต์งานดีไซน์ เห็นได้จากลวดลายที่ปรากฏอยู่บนองค์ประกอบของงานออกแบบตกแต่งต่าง ๆ เช่น ผนัง ประตู กระจก พาร์ทิชัน หรือแม้แต่ลวดลายบนเบาะเก้าอี้
ด้วยสภาพอากาศแบบมรสุมเขตร้อนทำให้พื้นที่ภาคใต้เต็มไปด้วยป่าดิบชื้นที่รกครึ้ม นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์และบรรดาอาหารการกินที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น จนคนทุกภูมิภาคในประเทศไทยยอมรับและรู้จักเป็นอย่างดี
“เวลาเรามองไปที่ร้านอาหารใต้ เรามักจะคิดถึงอาหารก่อน อาหารใต้เต็มไปด้วยองค์ประกอบของผักชนิดต่าง ๆ มีความเป็นทรอปิคัล รสเผ็ดร้อนจากเครื่องแกง และมักจะนึกถึงถาดใหญ่ ๆ ที่มีผักแนมอยู่เต็มไปหมด”
“หากจะจำกัดความง่าย ๆ อาหารใต้ทำให้เรารู้สึกถึงป่า หรือเหมือนอาหารป่านั่นเอง”
คุณนิ-ชินภานุ อธิชาธนบดี Design Director แห่งบริษัท Trimode หนึ่งในทีมผู้ปรับปรุงบ้านเก่าหลังหนึ่งในซอยสุขุมวิท 26 ให้กลายเป็นร้านอาหารใต้แบบ Fine Dining ในชื่อว่า “ศรณ์ (Sorn)” กล่าวถึงที่มาที่ไปของผลงานออกแบบของเขา รวมทั้งยังเล่าถึงแรงบันดาลใจที่มาจาก “ใบไม้” ซึ่งกลายมาเป็นคอนเซ็ปต์งานดีไซน์ทั้งหมดของร้าน เห็นได้จากลวดลายที่ปรากฏอยู่บนองค์ประกอบของงานออกแบบตกแต่งต่าง ๆ เช่น ผนัง ประตู กระจก พาร์ทิชัน หรือแม้แต่ลวดลายบนเบาะเก้าอี้
“ใบไม้คือองค์ประกอบหลักที่เราเลือกนำมาใช้ โดยมีกิ่ง – ก้าน – ใบ เป็นตัวช่วยบ่งบอกถึงความเป็นปักษ์ใต้”
การชูอาหารท้องถิ่นสู่ระดับภัตตาคารแบบ Fine Dining แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากเรื่องของอาหารที่เจ้าของเชี่ยวชาญและใส่ใจเป็นพิเศษแล้ว บรรยากาศและการออกแบบภายในยังนับเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ท้าทายความสามารถไม่น้อย
คุณหยก-ภารดี เสนีวงศ์ ณ อยุธยา คืออีกหนึ่งพาร์ตเนอร์ของบริษัทออกแบบมากฝีมือ เธอได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานครั้งนี้ว่า
“แรกเริ่มเราจะนึกถึงอาหารที่คุ้นเคยก่อน ยังไม่รู้หรอกว่าอาหารใต้ที่เป็น Fine Cuisine นั้นเป็นอย่างไร”
“นอกจากนี้บริบทหนึ่งที่ทำให้เรานึกถึงภาคใต้คือคำว่า “Tropical Rain Forest” เราจึงนำมาผสมผสานกับสไตล์ “Luxury Exotic” คีเวิร์ดสำคัญที่ช่วยเชื่อมโยงเรื่องราวของวัฒนธรรม อาหาร และบริบทต่าง ๆ ของความเป็นภาคใต้เข้าด้วยกัน”
สิ่งหนึ่งที่จะช่วยยกระดับบริการและอาหารไปสู่ความพิเศษสิ่งหนึ่งคือเรื่องเล่า ภายในร้านนอกจากคีย์เวิร์ดหลักที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์น่าจดจำ ไม่ว่าจะเป็นเส้นสายของ “ใบไม้” การชูความหวือหวาของวัฒนธรรมในสไตล์ “Luxury Exotic” และการจัดการพื้นที่ใช้สอยภายในที่ช่วยให้ร้านอาหารแห่งนี้แตกต่างจากร้านอื่น ๆ แล้ว ยังมีพื้นที่อีกส่วนหนึ่งที่ถือเป็นไฮไลท์ นั่นคือส่วนของ “พิพิธภัณฑ์” ซึ่งเป็นส่วนของพื้นที่ต้อนรับ เพื่อช่วยเล่าที่มาของวัตถุดิบและกรรมวิธีการปรุงอาหารแบบท้องถิ่นภาคใต้แท้ ๆ ภายในจึงประดับด้วยข้าวของเครื่องใช้ทองเหลืองในครัว ซึ่งเป็นของสะสมของผู้เป็นเจ้าของ รวมถึงโชว์วัตถุดิบสำคัญในการประกอบอาหาร อาทิ ข้าวหลากหลายสายพันธุ์ ที่ปลูกได้เฉพาะในภาคใต้ ภายใต้บรรยากาศที่ให้ความรู้สึกโอ่โถง ก่อนนำไปสู่ที่นั่งรับประทานอาหารในโซนต่าง ๆ
ในส่วนของที่นั่งรับประทานอาหาร เนื่องจากเป็นการรับจองที่นั่งที่แบ่งไว้สำหรับลูกค้าที่มาเป็นกลุ่มเสียส่วนใหญ่ผู้ออกแบบจึงใช้ความเป็น “ห้อง” ซึ่งมีที่มาจากลักษณะของบ้านเก่ามารีโนเวตให้เกิดประโยชน์
“จากบ้านที่เคยอยู่กัน 5 – 10 คน เมื่อต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นร้านอาหารเพื่อรองรับคนกว่า 50 คน ทำให้เราต้องวางโครงสร้างใหม่ทั้งหมด โดยยังคงสเปซแบบเดิมไว้ให้มีลักษณะเป็นยูนิต ๆ เพื่อให้เกิดความรู้สึกเหมือนเราเดินเข้ามาในบ้าน ไม่ได้เป็นแบบ Single Space ใหญ่ ๆ อย่างร้านทั่วไป”
พื้นที่ใช้งานทั้งชั้น 1 และ 2 จึงประกอบด้วยที่นั่งรับประทานอาหารขนาดเล็ก-ใหญ่แตกต่างกันไป โดยมีแนวคิดการออกแบบและต่อเติมสเปซทั้งหมดเข้าหากันเพื่อเชื่อมต่อมุมมอง ไม่ให้บรรยากาศดูปิดทึบ หรือเปิดโล่งเกินไปจนหมดความเป็นส่วนตัว รวมถึงการยังคงบรรยากาศของสเปซแบบบ้านเดิมไว้เช่นนี้ยังให้ความรู้สึกถึงความอบอุ่นนอบน้อม คล้ายการต้อนรับแขกคนสนิทมารับประทานอาหารที่บ้านของเราเอง
“ในด้านการออกแบบผมจะเน้นเรื่องของอาหารเป็นสำคัญ เพราะเวลาที่อาหารมาเสิร์ฟอยู่บนโต๊ะ เชฟจะเล่าเรื่องราวให้ลูกค้าฟัง ประสบการณ์หรือสิ่งแวดล้อมที่มันอยู่รอบ ๆ คุณตอนนี้ ล้วนมาจากเรื่องราวของอาหารที่คุณกินทั้งหมดเลย”
เอกลักษณ์ของภัตตาคารแบบ Fine Dining คือการใส่ใจในทุกรายละเอียด และความพิถีพิถันทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบ การคัดสรรเมนู การปรุง การจัดจานและเรื่องราวในจาน การเสิร์ฟ การให้ประสบการณ์ระหว่างรับประทาน และการทิ้งความประทับใจไว้ในจานอาหาร ท่ามกลางบรรยากาศดี ๆ ก่อนส่งผู้มาเยือนจากไปพร้อมความสุข
ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจคอนเซ็ปต์และเข้าถึงสิ่งที่เจ้าของอยากให้มี ทีมออกแบบจาก Trimode จึงได้ทำงานร่วมกับเชฟผู้ออกแบบรสชาติอาหาร สำหรับนำสิ่งที่ได้จากการสังเกตและพูดคุยมาปรับใช้และสร้างแรงบันดาลใจในงานออกแบบ โดยพวกเขาได้กล่าวว่า บางครั้งแรงบันดาลใจดี ๆ ก็มาจากรสสัมผัสหลักจากได้ลิ้มรสอาหารที่เชฟคิดค้นขึ้น ก่อนนำมาตีความสู่งานอินทีเรียดีไซน์ที่เข้าถึงความเป็นปักษ์ใต้แท้ ๆ
“เราต้องคัดสิ่งที่ดีที่สุด และตอบโจทย์โปรดักต์ของเขาได้อย่างชัดเจนและตรงตัว เพราะสุดท้ายแล้วร้านไม่ว่ามันจะสวยแค่ไหน มันต้องส่งเสริมกับอาหารของเขาด้วย”
DETAILS:
องค์ประกอบงานออกแบบหลายชิ้นมีที่มาจากเส้นสายของ “ใบไม้” โดยเฉพาะพาร์ทิชันในส่วนต่าง ๆ ซึ่งมีไว้เพื่อตีกรอบให้เกิดเสปซเล็ก ๆ ขึ้นภายในสเปซที่เป็นห้องโถงขนาดใหญ่ นอกจากนี้นักออกแบบยังเลือกใช้วัสดุสี “Antique Brass” หรือทองเหลืองเก่ามาคุมโทนบรรยากาศทั้งหมด ซึ่งมีแรงบันดาลใจมาจากของสะสมของเจ้าของร้านนั่นเอง
เรื่อง กรกฎา
ภาพ ศุภกร