มอง “วัสดุ” ผ่านบ้านของ Andra Matin และนิทรรศการ Material Matter ณ BACC
ทุกๆ ปี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จะจัดงาน “สถาปัตย์-ปริวรรต” งานแสดงผลงานทางวิชาการและนิทรรศการนำเสนอแนวคิดด้านสถาปัตยกรรมออกสู่สาธารณะ เนื่องใน “วันศิลป์ พีระศรี” เพื่อยกย่องศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งจะตรงกับวันที่ 15 กันยายน อันเป็นวันคล้ายวันเกิดของศาสตราจารย์ผู้ล่วงลับของพวกเขา
ปีนี้คณะฯ ได้โอกาสจัดแสดงงานที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือ BACC โดยได้ชื่องานว่า “Material Matter” ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่การให้ความสำคัญกับ “วัสดุ” “หรือ “วัตถุดิบ” ที่ใช้ในงานออกแบบ นำเสนอเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมที่คิดคำนึงจากวัสดุเป็นหัวใจ ความเป็นไปได้ในการใช้วัสดุต่างๆ ในงานออกแบบ หรือเทคโนโลยีที่มีส่วนพัฒนาวัสดุจนตกทอดสู่งานสถาปัตยกรรมในภาพรวม
มากไปกว่านั้น งานยังนำเสนอ “วัสดุ” ในมุมมองของผู้ออกแบบ ที่อาจไม่ได้หมายถึงวัสดุก่อสร้างที่จับต้องได้แต่เพียงอย่างเดียว แต่อาจหมายถึงทรัพยากรในมิติอื่นๆ อันเป็นจุดเริ่มต้นในงานออกแบบที่แตกต่างกันของแต่ละคน
ดังที่คุณนันทพล จั่นเงิน อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้จัดงาน ขยายความว่า
“Material สำหรับบางคนอาจจะไม่ใช่ “วัสดุ” เพียงอย่างเดียว แต่อาจหมายถึงวัตถุดิบทางความคิด เช่น บางคนมองว่า ต้นไม้ เป็นจุดเริ่มต้นในการคิดงานของเขา มันก็เป็นแก่นไอเดียหลักในการออกแบบงานของเขาได้ หรือบางคนมองว่าเป็นเรื่องของชุมชน จุดเริ่มต้นมันก็อาจจะเป็นคน กิจกรรม เป็นวัตถุดิบในการออกแบบก็ได้เหมือนกัน
“ผมต้องการเห็นว่าผู้จัดแสดงงานแต่ละคนมองคำคำนี้อย่างไร เราก็น่าจะได้งานที่มีความหลากหลาย”
นิทรรศการนี้จะจัดแสดงงานทั้งหมด 68 ชิ้น จากผลงานของทั้งคณาจารย์ ศิษย์เก่า และสถาปนิกผู้ประกอบวิชาชีพที่เป็นที่ยอมรับ เพื่อขยายขอบเขตการจัดแสดงงานให้ไกลไปกว่างานวิชาการที่ทำเป็นประจำทุกปี โดยผู้จัดงานยังกล่าวว่า คาดหวังว่างานจะให้ประโยชน์กับสาธารณะชน ในแง่ความเข้าใจของการทำงานด้านสถาปัตย์ได้กว้างขวางขึ้น นอกจากการกระตุกความคิดของคนในวงการเดียวกันเอง
นอกจากนั้น หนึ่งในไฮไลท์ของงานที่จะเกิดขึ้นในวันสำคัญที่ 15 กันยายน คือการบรรยายพิเศษของ Andra Matin สถาปนิกชาวอินโดนีเซียที่มีชื่อเสียงจากผลงานออกแบบที่แสดงการใช้วัสดุผนวกกับการเคารพสภาพแวดล้อม จนตกผลึกเป็นสถาปัตยกรรมที่งดงามน่าจับตา
ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบที่คนได้เห็นตามสื่อ หรือล่าสุด งานสถาปัตยกรรมระดับโลกอย่างงาน Venice Biennale ปีปัจจุบัน (2018) ผลงานของเขาก็มีชื่อในฐานะงานถูกคัดเลือกพิเศษ หรือ “Special Mentor” ด้วยแนวคิดการแสดงวัสดุและกรรมวิธีแบบพื้นถิ่น (Vernacular) ในงานออกแบบ จนงานมีภาพลักษณ์อันโดดเด่นแตกต่างจากงานอื่นๆ
หนึ่งในผลงานสถาปัตยกรรมที่ถูกพูดถึงมากที่สุดงานหนึ่งของ Andra Matin ที่นำเสนอการผสานวัสดุกับสภาพแวดล้อมออกมาเป็นองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมได้งดงามลงตัวสูงสุด คือบ้านหลังหนึ่ง ณ เมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
AM House – บ้านหลังใหญ่ของเจ้าตัวเอง
ภายใต้พื้นที่ใช้สอยขนาด 320 ตารางเมตร เจ้าของบ้านและสถาปนิกใช้อยู่ร่วมกับภรรยาและลูก 3 คน แต่นอกเหนือจากสมาชิกในครอบครัวที่ต้องเจอหน้ากันทุกวัน ปัจจัยอีกสิ่งที่สมาชิกในบ้านต้องอยู่ร่วมด้วยแทบจะตลอดเวลา คือฝน อากาศชื้น และแดดร้อนจัดภายใต้พื้นที่มรสุมแบบร้อนชื้นของเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วิธีการหนึ่งที่สถาปนิกใช้ ไม่ใช่การปิดทึบหลีกหนีจากธรรมชาติทั้งมวล แต่เป็นการเพิ่มความโปร่ง รับเอาความเป็นไปในธรรมชาติเข้าสู่ตัวบ้านอย่างเต็มที่ เราจึงจะพบว่า AM House แทบปราศจากเครื่องปรับอากาศ คนในบ้านจะอยู่อาศัยภายใต้สภาพอากาศจริง โดยมีสถาปัตยกรรมช่วยห่อหุ้มและเว้นที่ให้อากาศได้ไหลผ่านอย่างปรุโปร่ง
ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใต้ถุนโล่งกว้างอันเป็นพื้นที่ใช้สอยหลัก ช่องบันไดหรือทางเดินที่เต็มไปด้วยช่องแสง แม้แต่พื้นที่ใช้สอยภายในก็เต็มไปด้วยช่องหน้าต่าง ให้แสงและอากาศไหลผ่านได้อย่างพอเหมาะ
ตรงนี้เองที่ “วัสดุ” เข้ามามีส่วนร่วมอย่างน่าสนใจ
คอนกรีตเปลือยเพื่อความคงทนและไม่ต้องดูแลรักษามากมาย ไม้และระแนงไม้ เพื่อเพิ่มความโปร่งและช่องให้อากาศได้ไหลเวียน เหล็กและกระจก เพื่อนำแสงและมอบความโปร่งเบาให้พื้นที่ภายใน
ต้นไม้ และแม้แต่อากาศ ก็เป็น “วัสดุ” สำคัญที่ปรากฏชัดในบ้าน เพื่อสร้างสภาวะสบาย ตามสภาพความเป็นจริง
งานส่วนใหญ่ของเขา จึงถูกจัดอยู่ในประเภท “Modern Tropical” ซึ่งหมายถึงงานที่ให้ความสำคัญกับการผสานสภาพอากาศเข้ากับวัสดุ สเปซ และการอยู่อาศัยแบบปัจจุบัน ให้งดงามลงตัว
ผลงานและแนวความคิดของ Andra Matin จึงน่าจะเป็นตัวอย่างอันดีให้กับทั้งนักออกแบบในยุคปัจจุบัน และกับคนที่สนใจเนื้อหางานสถาปัตยกรรมที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม
วันที่ 15 นี้ เราจึงน่าจะได้แนวคิดที่น่าสนใจจากสถาปนิกมากชื่อไปปรับใช้ ไม่มากก็น้อย
นิทรรศการ Material Matter
วันที่ 11 – 23 กันยายน ณ ชั้น 5 หอศิลปวัฒธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
ติดตามนิทรรศการได้ที่
เรื่อง กรกฎา
ภาพ ภาพประชาสัมพันธ์
ภาพถ่ายบ้าน ศุภกร
อ่านเรื่องราวบ้าน AM House ฉบับเต็มที่