ความชุ่มฉ่ำของสายฝนหอบเราให้มาไกลถึงด้ามขวานของไทยที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในความคิดแรกใคร ๆ ก็คงนึกถึงภาพน้ำทะเลสีคราม ระรอกคลื่นขาวสะอาด ท้องฟ้าปลอดโปร่ง และต้นมะพร้าวเอนลู่ลม ซึ่งทั้งหมดที่พูดมาได้รวมอยู่ในโรงแรม COMET HOTEL แห่งนี้แล้ว หากแต่โลเกชั่นกลับเป็นใจกลางเมือง แม้แต่วิวทะเลก็ไม่มีให้เห็นเลยเสียอย่างนั้น!
เมื่อเจ้าของโครงการ คุณพลินทร พันธุ์อุดม และ คุณชุติมา อมรวรพักตร มีที่ดินเปล่าใจกลางเมือง จึงเกิดไอเดียต้องการสร้างโรงแรม COMET HOTEL สำหรับพักผ่อนและเป็นสถานที่สัมมนาไปในตัว โดยต้องการให้สถานที่นี้มีความพิเศษและเป็นมากกว่าที่พักทั่วไป จึงวางใจให้กลุ่มสถาปนิกจาก Studio POINT LINE PLANE นำทีมโดย คุณปิ – ปิยภาค วัฒนศรีมงคล และลูกทีมอย่าง คุณปลาย – ธนาภา เมฆเมฆา และวิชวลดีไซเนอร์ คุณเค้ก – อังษณา ปิณฑรัตน์ เข้ามาช่วยเติมเต็มความต้องการ ตั้งแต่คิดโปรแกรม วางฟังก์ชัน ทำแบรนดิ้ง ไปจนถึงมาร์เก็ตติ้ง
“ด้วยความที่มีโลเกชั่นตั้งอยู่ในตัวเมือง ไม่มีอะไรที่ทำให้รู้สึกถึงความเป็นสุราษฎร์ฯ จึงเป็นโจทย์ค่อนข้างยากสำหรับเรา โดยเริ่มจากว่าจะขายอะไรดี ของมันต้องมีอะไรขาย แต่ถ้าไม่มีวิว เราก็สร้างวิวขึ้นมาเองเสียเลย”
หลังจากได้รับโจทย์ปลายเปิดแบบกว้าง ๆ ทีมออกแบบจึงต้องทำการบ้านกันอย่างหนัก เพื่อดึงอัตลักษณ์ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีมาใช้ เริ่มจากศึกษาและทำความเข้าใจพื้นที่ว่าที่นี่เป็นจังหวัดที่มีลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ฝนตกแทบตลอดทั้งปี และขาดไม่ได้คือทะเลสวย ๆ สถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้หลั่งไหลมาเยี่ยมเยือน นำไปสู่การตีความอัตลักษณ์ดังกล่าวจากนามธรรม สู่การออกแบบที่เป็นรูปธรรม ภายในทั้ง 3 โซนของโรงแรม ได้แก่พื้นที่ล็อบบี้ ห้องอาหาร และสระว่ายน้ำ
ผู้ออกแบบมีแนวคิดหลักคือ “TROPICAL REALITY” ซึ่งมีแรงบันดาลใจมาจากองค์ประกอบธรรมชาติในเขตเมืองร้อน โดยจำลองโรงแรมเสมือนเป็นสี่เหลี่ยมลูกบาศก์หนึ่งก้อน และนำภาพองค์ประกอบธรรมชาติเหล่านั้นมาใส่ลงไปในแต่ละด้านของลูกบาศก์ จากนั้นจึงแปลงแต่ละด้านของลูกบาศก์ให้เป็นพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของโรงแรมทำให้เกิดสเปซที่ร้อยเรียงเรื่องราวต่อเนื่องกันไป ตั้งแต่ทางเข้าโรงแรมที่เป็นตัวแทนของรูปด้านหน้า (Front View) ของลูกบาศก์ โดยใช้เส้นเฉียงสีเขียวพาดผ่านตัวสถาปัตยกรรมเพื่อสื่อถึงต้นมะพร้าวที่โอนไหว ตัดกับผนังผืนดำกรุหินภูเขาไฟ ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ทั่วไปในพื้นที่ภาคใต้
ขยับเข้ามาด้านในจะพบกับพื้นที่ล็อบบี้ ตกแต่งตามคำขวัญประจำจังหวัดที่กล่าวถึง “เมืองร้อยเกาะ” โดยนำมาถ่ายทอดผ่านมุมมองด้านบนของลูกบาศก์ (Top View) ด้วยเฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบมาในลักษณะโมดูลาร์หลากสีสันดูสนุกสนาน แต่ยังให้ความรู้สึกสบาย ยืดหยุ่น สามารถขยับปรับเปลี่ยนตำแหน่งได้ตามต้องการ ไม่ว่าจะแยกเป็นที่นั่งเล็ก ๆ หรือรวมกันเป็นที่นั่งขนาดใหญ่ เปรียบเหมือนขนาดของหมู่เกาะในท้องทะเล เป็นไอเดียสนุก ๆ ที่ช่วยให้การนั่งรอดูไม่น่าเบื่อจนเกินไป