สถาปัตยกรรมกระดาษของอาจารย์ Shigeru Ban ความไม่จีรังที่ยั่งยืน - room life

สถาปัตยกรรมกระดาษของอาจารย์ SHIGERU BAN ความไม่จีรังที่ยั่งยืน

ในขณะที่โลกให้คุณค่าแก่สถาปัตยกรรมที่งดงาม ยิ่งใหญ่ และคงอยู่ได้เนิ่นนานข้ามกาลเวลา อาจารย์ Shigeru Ban สถาปนิกชาวญี่ปุ่น กลับมองเห็นถึงความงามอันเกิดจากความไม่จีรัง และพยายามออกแบบงานสถาปัตยกรรมอันอ่อนน้อมต่อธรรมชาติ โดยมีวัสดุหลักในการสร้างเป็น “กระดาษ” ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่การย่อยสลายง่าย แม้เมื่อกลายเป็นเศษซาก ก็ยังสามารถนำกลับมาสร้างใหม่ ไม่ทำร้ายโลก

อาจารย์ Shigeru Ban กับผลงานการออกแบบอาคารที่ Pompidou-Metz ประเทศฝรั่งเศส (ภาพ: www.japantimes.co.jp)

 

เมื่อถูกถามถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างอาคารด้วยกระดาษ อาจารย์ Shigeru Ban กล่าวติดตลกในการพรีเซนต์ผลงาน* ว่า “สมัยนั้นผมไม่มีตังค์ซื้อวัสดุจำพวกไม้ เลยทดลองใช้กระดาษแทน”  หากต้องเลือกวัสดุมาทดแทนไม้หรือคอนกรีต กระดาษคงเป็นสิ่งที่ไม่มีใครนึกถึงมาก่อน ด้วยความเปราะบางของมัน แต่อาจารย์กลับเป็นสถาปนิกคนเดียวที่เลือกใช้กระดาษมาสร้างอาคาร ด้วยเหตุผลที่ว่า

“ผมคิดว่า เราไม่ควรมีอคติต่อวัสดุใดๆ”

การไม่ยึดติดกับชนิดของวัสดุและแนวคิดเดิมๆ นั้น เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้อาจารย์ได้ทดลองอะไรใหม่ๆ ม้วนกระดาษรีไซเคิลกลมๆ เส้นผ่านศูนย์กลางหลากหลายขนาด ได้กลายมาเป็นวัสดุหลัก ในผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมแทบทุกชิ้น และเข้าไปแทรกซึมอยู่ในแทบทุกอณูเลยก็ว่าได้ ดังที่อาจารย์เคยกล่าวไว้หลายต่อหลายครั้ง* ว่า

“แม้แต่ห้องน้ำของงานนิทรรศการ ที่ผมได้ออกแบบไว้ตั้งแต่ปี 1990 นั้นก็สร้างจากม้วนกระดาษกลวง ถ้าเข้าห้องน้ำแล้วบังเอิญกระดาษชำระหมด พวกคุณจะฉีกจากผนังไปใช้ก็ได้ไม่ว่ากัน”

Odawara Hall และห้องน้ำที่ทำจากท่อกระดาษ เส้นผ่านศูนย์กลาง 120 cm (ภาพ: http://images.lib.ncsu.edu)

ถึงจะเป็นม้วนกระดาษ แต่ก็ผ่านการทดลองให้มีประสิทธิภาพในการรับน้ำหนัก และยังใช้เทคโนโลยีในการเคลือบผิว เพื่อกันน้ำ และกันไฟตามมาตรฐานอาคาร ผลงานของอาจารย์ จึงไม่ใช่เพียงแค่การโชว์แนวคิดเก๋ไก๋หากแต่เป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีไว้เพื่อรับรองผู้ใช้อย่างแท้จริง ผู้ใช้งานกลุ่มหลักที่อาจารย์โฟกัสจึงไม่ใช่ผู้มีอำนาจหรือคนรวยล้นฟ้า แต่เป็นกลุ่มผู้ลี้ภัยและคนธรรมดาที่ประสบภัยพิบัติ  ด้วยมองว่า ถ้าที่อยู่อาศัยคือหนึ่งในปัจจัยสี่ จะมีใครอีกที่ต้องการมันมากไปกว่าคนกลุ่มนี้ และผู้ที่จะเข้าไปช่วยเหลือพวกเขาได้ดีที่สุด ก็น่าจะเป็นสถาปนิก

อาจารย์จึงริเริ่มโครงการต่างๆ ด้วยการติดต่อไปยังหน่วยงานที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย และประสบภัยพิบัติ ไม่เพียงแค่ในประเทศญี่ปุ่น หากแต่เป็นทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่อันตราย เช่น รวันด้า ในปี 1994 ที่เกิดสงครามและทำให้คนกว่าสองล้านคนต้องกลายเป็นผู้อพยพ อาจารย์เห็นว่า ลำพังเพียงแผ่นพลาสติกที่สหประชาชาติแจกให้เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยนั้น ไม่เพียงพอต่อการสร้างเป็นที่อยู่อาศัย และไม่สามารถกันความหนาวได้ คนกว่าสองล้านคนจึงต้องตัดไม้ทำลายป่าเพียงเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราว  และเมื่อไม้ไม่พอ ก็ต้องหาซื้ออะลูมิเนียม ซึ่งเป็นวัสดุมีราคาแพง การที่จะหาเงินมาจ่ายค่าอะลูมิเนียมนั้น ก็ต้องกลับไปตัดไม้เพิ่มอีก กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม วนไปไม่รู้จบสิ้น ดังนั้นการใช้วัสดุที่ราคาถูกแต่แข็งแรงและย่อยสลายได้ เช่นกระดาษ ที่เคลือบสารที่ทำให้ทนทานต่อความชื้นและสภาพอากาศ จึงน่าจะเป็นคำตอบที่เหมาะสม อาจารย์ Shigeru Ban และทีมงาน จึงออกแบบบ้านสำหรับผู้อพยพชาวรวันด้า ด้วยงบเพียง 50 ดอลล่าร์ต่อยูนิต

ภาพบ้านกระดาษชั่วคราวสำหรับผู้ลี้ภัยในรวันดา จาก Shigeru Ban Architects

หลังจากนั้นในปีถัดไป เกิดแผ่นดินไหวขึ้นครั้งใหญ่ในโกเบ มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,000 คน เขตนากาตะ ถูกไฟเผาวอด มีกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวเวียดนาม รวมตัวกันอยู่ ณ บริเวณที่เคยเป็นโบสถ์คาทอลิก ที่บัดนี้เหลือแต่เพียงซาก แต่น่าประหลาดใจที่มีแค่รูปปั้นพระเยซูเท่านั้น ที่ยังคงอยู่ในสภาพเดิม

“ในเวลาภัยพิบัติที่ทุกคนต้องการที่พึ่งทางใจ เราควรรีบสร้างโบสถ์ขึ้นมาใหม่ และจะมีอะไรที่ปลอดภัยและเร็วกว่า โบสถ์กระดาษ” อาจารย์รีบนำเสนอโปรเจกต์นี้ต่อท่านเจ้าอาวาส

“โอ้มายก๊อด! โบสถ์พึ่งถูกไฟไหม้ไปหยกๆ แต่คุณกำลังเสนอให้พ่อสร้างมันใหม่ จากวัสดุติดไฟเนี่ยนะ” ท่านเจ้าอาวาสกล่าว***

แต่อาจารย์กลับมองว่าแผ่นดินไหวไม่เคยทำให้ใครตาย คนที่ตายส่วนใหญ่เกิดจากถูกสิ่งปลูกสร้างหล่นทับต่างหาก และนี่คือสิ่งที่ผู้ออกแบบอาคารควรต้องคำนึงถึงอย่างหนัก ดังนั้น แทนที่จะก่อสร้างอาคารที่ยืนหยัด ต้านทานแผ่นดินไหวอย่างไม่หวั่นแม้วันที่มีแรงสั่นสะเทือนมาก อาจารย์กลับเลือกใช้ กระดาษ เพราะเป็นวัสดุที่คงทนในระดับหนึ่ง แม้เมื่ออาคารพังทลาย ผู้คนก็ยังปลอดภัย นับเป็นความอ่อนน้อมถ่อมตนในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างแท้จริง

เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชาวเมือง อาจารย์จึงต้องเริ่มโปรเจกต์จากบ้านพักภัยพิบัติก่อน โดยใช้การระดมทุนด้วยตนเอง และได้แรงงานจากเด็กนักเรียนในการร่วมกันสร้างบ้านพัก 50 หลังตลอดช่วงเวลาหน้าร้อน โดยใช้ลังเบียร์เป็นฐานราก เพื่อให้ประกอบและรื้อถอนได้ง่าย

(ภาพ: Brett-Boardman www.divisare.com)
(ภาพ: Brett-Boardman www.divisare.com)

“ผมขอให้เบียร์คิริน ช่วยเป็นสปอนเซอร์ให้เรา ทำไมผมไม่ขอจากทางอาซาฮีนะหรอ ก็เพราะตอนนั้นลังเบียร์ของอาซาฮีเป็นสีแดง สีเหลืองของลังเบียร์คิริน เข้ากับสีของท่อกระดาษมากกว่า สีสันในงานออกแบบเป็นเรื่องสำคัญมากนะ” อาจารย์กล่าว และยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ผมกับเด็กๆ แอบเสียดายเล็กๆ เพราะนึกว่าในลังจะมีเบียร์ติดมาด้วยซะอีก”

เมื่อโปรเจกต์นี้เสร็จสิ้นลง อาจารย์จึงได้รับความไว้วางใจจากท่านเจ้าอาวาส ให้ก่อสร้างโบสถ์กระดาษแห่งโกเบขึ้น โดยไม่ได้มีนายทุน หรือผู้จัดจ้าง ต้องระดมทุนเองและได้แรงงานจากเด็กนักเรียนมาช่วยสร้างอีกเช่นกัน เริ่มแรกอาจารย์ตั้งเป้าว่า จะให้โบสถ์ชั่วคราวแห่งนี้ มีอายุใช้งานเพียง 3 ปีก็พอ แต่พอเอาเข้าจริง โบสถ์กระดาษแห่งโกเบ กลับตั้งอยู่ได้นานกว่า 10 ปี

ระยะเวลา 3 ปีหรือ 10 ปีนี้ หาใช่อายุขัยที่เกิดจากการใช้งานของวัสดุ หากแต่เป็นระยะเวลาที่ถูกขยายให้จากหัวใจของผู้ใช้งาน

“งานออกแบบ จะอยู่ยืนนาน ตราบใดก็ตามที่ผู้คนรักมัน” คือคำกล่าวของอาจารย์

ถ้าคุณอยากไปเยือนโบสถ์กระดาษแห่งนี้ที่โกเบ คงต้องบอกว่า สายไปเสียแล้ว เพราะชิ้นส่วนทั้งหมด ถูกรื้อถอน และนำไปประกอบใหม่ที่ไต้หวัน เพื่อเป็นการช่วยเหลือ สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นที่นั่นในอีก 10ปี ต่อมา และแน่นอนว่า ใครๆที่นั่นก็รักโบสถ์แห่งนี้ ทำให้โบสถ์กระดาษของอาจารย์ Shigeru Ban กลายเป็นสิ่งปลูกสร้างถาวรที่ยังคงตั้งอยู่ที่ประเทศไต้หวันจนถึงปัจจุบัน

โบสถ์กระดาษที่โกเบ Hiroyuki Hirai (ภาพ: www.designstoriesinc.com)
โบสถ์กระดาษที่โกเบ Hiroyuki Hirai (ภาพ: www.designstoriesinc.com)
โบสถ์กระดาษ เมื่อย้ายชิ้นส่วนไปสร้างไต้หวัน (ภาพ: solomo.xinmedia.com)
ภาพภายในบ้านพักผู้อพยพจากแผ่นดินไหวที่เมืองโอนากาว่า ปี 2011 ตัวอาคารภายนอก สร้างจากตู้คอนเทนเนอร์ เฟอร์นิเจอร์ภายใน มาจากความช่วยเหลือทั้งในด้านเงินทุน เวลา วัสดุและแรงงาน จากหลายๆฝ่าย รวมถึงเด็กนักเรียนของอาจารย์ ผู้เป็นกำลังหลัก ผู้อยู่อาศัยหลายคนกล่าวว่าถ้าได้อยู่ตลอดไปก็คงจะดี (ภาพ: inhabitat.com)

ในขณะที่คนทั่วไปแข่งกันสร้างอนุสาวรีย์ ยังมีใครบนโลกใบนี้อีกหลายคน ที่ไม่มีแม้ที่ซุกหัวนอน ทุกสิ่งในโลกล้วน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่ว่าจะอนุสาวรีย์ที่ดูยิ่งใหญ่เหนือธรรมชาติ หรือสถาปัตยกรรมกระดาษที่แสนถ่อมตัว ต่างก็มีกาลเวลาของมัน แต่สิ่งไหนจะอยู่ได้นานกว่ากันนั้น อาจจะไม่ได้ขึ้นกับเพียงแค่ความทนทานของวัสดุหรือโครงสร้าง แต่อยู่ที่ความรักที่ผู้ใช้งานมอบให้ต่างหาก

*  ที่งาน The World Economic Forum’s ใน Davos

** The Sydney Morning Herald ผู้สัมภาษณ์ Susan Wyndham, 9 มีนาคม 2017

*** แปลจากเรื่องที่อาจารย์บัง ชิเกรุ เล่าใน Shigeru Ban at TEDxTokyo : Emergency shelters made from paper

——————————————–

เรื่อง ID19

 

 

 

FUSUMA ประตูกั้นห้อง หัวใจและวัฒนธรรมนอก-ในของชาวญี่ปุ่น