ห่างออกไปจากตัวเมืองเชียงราย มุ่งหน้าไปยังตีนดอยแม่สลอง ตำบลแม่จัน อำเภอแม่จัน เรากำลังพาทุกคนหนีความวุ่นวายไปแอบอิงธรรมชาติแบบบ้าน ๆ กับเจ้าของพื้นที่ตัวจริงกันที่ AHSA FARMSTAY ฟาร์มสเตย์เล็ก ๆ ที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวผู้เสาะหาความสงบ และอยากสัมผัสกับวิถีชีวิตแบบพื้นบ้านอย่างแท้จริง
บนผืนที่ดินกว่า 85 ไร่ นี้ ประกอบไปด้วยรูปแบบสัณฐานที่หลากหลาย ทั้งเนินเขา ที่ลุ่ม และที่ราบ ซึ่งล้วนอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันบริสุทธิ์และอุดมสมบูรณ์ เอื้อต่อการผ่อนคลายทั้งกายและใจ พร้อม ๆ กับสัมผัสวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในความตั้งใจของเจ้าของที่ต้องการให้แขกผู้มาเยือนได้เปิดประสบการณ์รูปแบบใหม่ที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของกิจกรรมการพักผ่อนต่าง ๆ รวมไปถึงสถาปัตยกรรมที่สวยงามน่าสนใจ
ภายในพื้นที่ของฟาร์มสเตย์ที่กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา เราจะมองเห็นกลุ่มศาลาสำหรับนักท่องเที่ยวแบบ One day trip ที่มีไว้สำหรับเรียนรู้การทำอาหารและวัฒนธรรมตั้งอยู่อย่างโดดเด่น ในส่วนของด้านหน้าที่อยู่ติดกับทางเข้า และถัดมาด้านในจะพบกับกลุ่มบ้านพัก 3 หลัง ซึ่งมีห้องพักเพียง 4 ห้องเท่านั้น ที่ดินส่วนที่เหลือเลือกเก็บไว้เป็นผืนนา ป่ายาง และพื้นที่สำหรับเลี้ยงสัตว์ เพื่อยังคงไว้ซึ่งรูปแบบการใช้ชีวิตเดิมของชาวบ้าน อีกทั้งตอบสนองต่อความต้องการที่อยากให้แขกได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับวิถีชีวิตเหล่านี้
“เราตั้งใจให้คนที่มาเที่ยว ไม่ได้เข้ามาทำให้คนในพื้นที่เปลี่ยนแปลงไป หากแต่ได้อะไรกลับไปจากคนในพื้นที่มากกว่า สิ่งที่ควรจะทำก็ควรเป็นอะไรที่คนในพื้นที่ทำกันเป็นกิจวัตร สถาปัตยกรรมหรือบ้านที่ปลูกสร้างก็ควรเป็นผลงานของช่างฝีมือแถวนั้น ซึ่งมันจะเป็นอะไรที่ยั่งยืนกว่า”
แนวคิดของสถาปนิกจาก Creative Crews ที่เจ้าของวางใจให้เข้ามาสานต่อความตั้งใจต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมผ่านงานสถาปัตยกรรมนั้น เกิดจากการเลือกหยิบรูปแบบของสถาปัตยกรรมแบบล้านนามาเล่าใหม่ในภาษาที่ดูโมเดิร์นขึ้น จนออกมาเป็นกลุ่มบ้านพัก 3 หลัง พร้อมศาลา 1 หลัง สำหรับใช้เป็นพื้นที่พักผ่อน ส่วนกลาง ซึ่งอาคารทั้งหมดล้วนใช้ “ไม้เก่า” มาเป็นวัสดุหลักแทบทั้งสิ้น
“จากการที่ชาวบ้านพยายามจะขายไม้เก่า เราเลยเลือกใช้ไม้เก่ามาเป็นวัสดุหลัก ช่วยแสดงให้เห็นว่าจริงๆแล้วมันสามารถนำมาจัดการได้ เพราะยิ่งถ้าไม้ไม่ถูกนำมาทำ ภูมิปัญญา หรือทักษะในการทำงานไม้ก็จะยิ่งเลือนหายไป
“พิสูจน์ว่าไม้เมื่อรื้อแล้วมาทำใหม่ ไม้มันจะยังมีชีวิตอยู่ ทำต่อได้ ดีกว่าบ้านก่ออิฐ ฉาบปูนทาสีเสียอีก พอเราทำแล้วชาวบ้านมาเห็น ถ้าเขาคิดว่ามันดี เขาก็จะนำไปทำบ้าง เหมือนกับสถาปัตยกรรมสมัยก่อนที่เกิดจากการนำสิ่งที่ดีแล้วไปปรับใช้และต่อยอด”