บนที่ดินเพียง 50 ตารางวา แต่กลับต้องบรรจุสมาชิกในครอบครัวไว้ถึง 10 คน เมื่อลูกๆเริ่มแต่งงานและพาสมาชิกใหม่เข้ามาเพิ่ม คุณขวัญชัย ลุประสิทธิวร เจ้าของบ้านจึงตัดสินใจรื้อบ้านหลังเดิมออก แล้วสร้างหลังใหม่เพื่อเพิ่มพื้นที่การใช้สอยให้เพียงพอ โดยได้ คุณจีรศักดิ์ เกื้อสมบัติ ผู้เป็นทั้งเพื่อนและสถาปนิกจากบริษัท Message Design Studio มารับหน้าที่ในการออกแบบบ้านหลังใหม่ให้ โดยมี บล็อกคอนกรีต มาเป็นพระเอกของบ้าน
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Message Design Studio
โดยมีโจทย์จากเจ้าของบ้านว่า “ต้องการบ้านที่ไม่อึดอัด โปร่งโล่ง อยู่สบาย” ในขณะที่บริบทโดยรอบบ้านกลับรายล้อมไปด้วยบ้านเดี่ยวที่ตั้งชิดกันมาก อีกทั้งพื้นที่ฝั่งตรงข้ามยังเป็นอพาร์ทเม้นและตลาด สถาปนิกจึงเลือกที่จะเปิดคอร์ทกลางบ้านเพื่อให้ทุกห้องสามารถระบายอากาศและรับแสงธรรมชาติได้ ทั้งยังใช้เป็นพื้นที่กิจกรรมของครอบครัวซึ่งยังคงความเป็นส่วนตัวอยู่
และด้วยความแออัดของพื้นที่ตั้งของบ้าน “บล็อกคอนกรีต” จึงเป็นวัสดุที่สถาปนิกหยิบมาใช้เป็นตัวแปรในการตอบโจทย์การอยู่อาศัย โดยใช้ตั้งแต่ส่วนของกำแพงบ้านที่ช่วยพรางสายตาจากคนข้างนอกได้ ในขณะที่คนข้างในบ้านก็ไม่รู้สึกอึดอัด ต่อมาถึงผนังบางส่วนที่ช่วยแบ่งพื้นที่สำหรับลำดับการเข้าถึง ของพื้นที่พับลิกอย่างที่จอดรถกับพื้นที่ไพรเวทอย่างคอร์ตกลางบ้าน รวมไปถึงใช้เป็นแผงฟาซาดสำหรับบังแดดรุ่นหายใจได้ไปในตัว
“คอนกรีตบล็อก เป็นวัสดุที่ตัวมันเองมีคุณสมบัติหลายอย่าง เช่น ตัวมันเองนำมาประกอบร่างกันก็กลายเป็นผนัง เป็นการสร้างขอบเขตไปในตัว แล้วด้วยความพรุนของวัสดุก็มีประโยชน์เวลาไปใช้กับผนังอาคารแบบอื่นได้อีก พอมันมีประโยชน์หลายอย่าง มีหน้าที่ มันก็ดูสมเหตุสมผลที่จะใช้มัน แล้วอย่างที่ผมบอกว่าทำไมต้องเป็นบล็อกช่องลมเพราะว่าจริงๆแล้วผมพยายามออกแบบให้มันล้อไปกับรูปทรงของโครงสร้างสี่เหลี่ยม”
สถาปนิกจึงใช้วัสดุ “บล็อกคอนกรีต” มาเป็นวัตดุถิบหลักในการปรุงบ้านหลังนี้อย่างตรงไปตรงมา ด้วยความที่เป็นวัสดุสำเร็จรูป หรือ Prefabrication ขนาดของวัสดุจึงเป็นตัวกำหนดระยะขององค์ประกอบต่างๆอย่างลงตัวด้วยระบบก่อ ไม่พยายามไปออกแบบอะไรให้ดูหวือหวา ทว่าใช้วัสดุให้คุ้มค่าแบบที่มันเป็น
พื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน 200 ตารางเมตร ทุกตารางเมตรจึงถูกใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด ชั้นหนึ่งประกอบไปด้วยห้องนั่งเล่นที่เชื่อมต่อไปกับส่วนรับประทานอาหารและคอร์ตกลางบ้าน ห้องนอนพ่อ-แม่ และห้องน้ำ ส่วนชั้นสองประกอบไปด้วยห้องนอน 3 ห้องและห้องน้ำเพียง 1 ห้องใช้ร่วมกันเพื่อเป็นการประหยัดพื้นที่
อีกหนึ่งภาษาทางสถาปัตยกรรมที่ถูกนำมาใช้คือ “ขนาดของช่องเปิด” ที่แปรผันตามความเป็นส่วนตัว กล่าวคือห้องที่ต้องการความเป็นส่วนตัวอย่างห้องนอนจะมีช่องเปิดขนาดเล็ก แค่เพียงพอให้แสงเข้าถึง แล้วค่อยๆไล่ขนาดใหญ่ขึ้นในส่วนของพื้นที่พับลิกอย่างห้องนั่งเล่น โดยเป็นองค์ประกอบง่ายๆที่สามารถรับรู้ได้จากสถาปัตยกรรมชิ้นนี้
เจ้าของ : คุณขวัญชัย ลุประสิทธิวร
ออกแบบ : Message Design Studio
เรื่อง : woofverine
ภาพ : Beer Singnoi