หากวันหนึ่งคุณเกษียณจากงานที่ทำ แต่พลังและแรงของคุณยังเหลืออยู่ คุณเคยคิดไหมว่าอยากทำอะไร ผมเชื่อว่าคำตอบส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้น “ไม่รู้จะทำอะไร”
ไต้ลิ้ม ไต้ลิ้ม ผมเองก็คงตอบเช่นนั้นเหมือนกัน แต่คำพูดนี้คงใช้ไม่ได้กับ คุณเอื้อย – พรรณประภา ตันติวิทยาพิทักษ์ ทายาทของ “อู่ต่อเรือ ไต้ลิ้ม ” อู่ต่อเรือตังเกที่ได้ชื่อว่าเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี
คุณเอื้อยเล่าว่าหลังสิ้นคุณพ่อซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ของธุรกิจต่อเรือ “ไต้ลิ้ม” ก็เป็นเพียงโกดังไม้เก่าๆที่ตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิท ด้วยเหตุผลที่ว่าการต่อเรือด้วยไม้มีราคาแพงมากขึ้น และความนิยมในการต่อเรือก็ลดลง
วันเวลาผ่านไปทำให้กระแสของอู่ต่อเรือไต้ลิ้มค่อยๆซาลง อีกทั้งลูกๆแต่ละคนก็มีเส้นทางเป็นของตัวเอง คุณเอื้อยก็เป็นแอร์โฮสเตส ส่วนน้องสาวของเธอย้ายไปอยู่นิวซีแลนด์ คงเหลือไว้เพียงช่างไม้คู่ใจของคุณพ่อที่ยังคอยดูแลเรื่องไม้และงานช่างเล็กๆน้อยๆในโกดังเท่านั้น
“ระหว่างที่ทำงานประจำเป็นแอร์โฮสเตส ในใจลึกๆก็คิดถึงโรงไม้ของพ่อตลอดเวลา เหมือนเป็นความผูกพัน แต่ก็ยังคิดไม่ออกว่าจะทำอะไร เวลากลับมาบ้านก็จะเดินรอบๆโรงไม้เพื่อดูและถามตัวเองว่าไม้ที่อยู่รอบตัวเรานี้ทำอะไรได้บ้าง ถ้าขายทั้งหมดได้เงินมานั่นคือไต้ลิ้มจบเลย ไม่มีอีกแล้ว แต่เรายังคิดถึงพ่อ พ่อกับแม่สร้างมา จะให้เราเอามาขาย เราทำไม่ได้หรอก” คุณเอื้อยเอ่ยด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
เริ่มจากทำเล่นๆในบ้าน
วันหนึ่ง คุณอ้อ – จันทรจรูญ จิระณานนท์ น้องสาวที่อยู่นิวซีแลนด์กลับมาบ้านพร้อมด้วยหนังสือดีไอวายเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่ทำเองได้ง่าย “นั่นถือจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานไม้ เพราะน้องสาวเลยถึงทำให้ ‘ไต้ลิ้ม’ ได้ไปต่อ พี่ก็เริ่มรู้แล้วว่าตัวเองอยากจะทำอะไร ดังนั้นพอได้แบบมาแล้วก็ให้ลุงช่างไม้ที่ทำงานกับพ่อมานานเป็นคนช่วยแกะแบบและทำให้ เริ่มจากการทำเล่นๆในบ้าน ทำไปทำมาก็เริ่มเยอะขึ้นจนมีความคิดอยากออกร้าน เลยไปออกร้านที่สวนหลวง ร.9 ไปอยู่โซนเฟอร์นิเจอร์กลางแจ้ง ซึ่งส่วนใหญ่ของคนอื่นจะเป็นเฟอร์นิเจอร์จากล้อเกวียน”
วันที่ต้องออกเดิน
“การได้ออกร้านที่สวนหลวง ร.9 เริ่มทำให้มีคนรู้จักมากขึ้นและเดินเข้ามาทักว่าทำไมเฟอร์นิเจอร์แบบนี้ไม่ไปออกงานบ้านและสวนแฟร์ คือตอนนั้นเรายังไม่กล้า เพราะเฟอร์นิเจอร์ของเราก็ยังมีรูปแบบบ้านๆอยู่ เรากลัวไปหมดทุกอย่าง ตอนนั้นในใจคิดเรื่องเรียนออกแบบเหมือนกันแต่ก็ยังไม่มีข้อมูล ไม่รู้จะเรียนที่ไหน จะเรียนได้ไหม คือเราก็อายุห้าสิบกว่าแล้ว ขณะนั้นก็เริ่มออกงานบ้านและสวนแฟร์ด้วย แต่ไปอยู่มุมหลืบๆ พูดง่ายๆก็เหมือนอยู่แบบไร้ตัวตน โชคดีที่ได้พี่ๆสถาปนิกมาช่วยออกแบบสินค้าให้ เราเองก็ยังทำงานประจำอยู่ ยังบินมาจนถึงปี 2016 พี่ก็ขอเกษียณก่อนกำหนด แล้วได้มาเจอรุ่นน้องที่แนะนำให้ไปเรียนออกแบบที่สถาบันออกแบบนานาชาติ ‘ชนาพัฒน์’ คนที่ไม่มีความรู้ด้านการออกแบบ วาดรูปไม่เป็นก็สามารถเรียนได้ ส่วนมากจะเน้นเรื่องกระบวนการคิด เช่น จะออกแบบสินค้าสักอย่างอย่าคิดว่าเราออกแบบใช้เอง ต้องคิดว่าลูกค้าชอบอะไร โดยมีหลักที่เขียนไว้เลยว่า What Where When Why How หลังจากเรียนเราก็เริ่มคุยกับลูกค้ารู้เรื่องขึ้น โดยเฉพาะในแง่มุมของศิลปะ ไม่ได้เน้นขายอย่างเดียว เหมือนเรามีหลักการในการขายมากขึ้น พี่ว่านี่คือสิ่งสำคัญที่พี่ได้จากการเรียนที่นี่ อีกอย่างหนึ่งในขณะที่เรียนนั้นพี่ก็มีปัญหาชีวิต คือสองปีที่ผ่านมาเรียนไม่ค่อยรู้เรื่องเลย เทคนิคต่างๆ การใช้โปรแกรม เราไม่รู้เรื่องเลย แต่ที่สุดก็ได้ Daniel Martinez ครูผู้สอนและเป็นที่ปรึกษา ให้ทั้งกำลังใจ เป็นแรงผลักดันและกดดันในการเรียน วิธีสอนของเขาคือ อะไรทำได้ไม่ได้เรามาช่วยกันทำและปรับไป เรียกว่าเหนื่อยกันทั้งครูและลูกศิษย์”
ผลงานชิ้นแรก
“เป็นการบ้านที่จะต้องทำเพื่อจบของดาเนียล โดยอาทิตย์แรกเขาให้พี่ไปหาภาพเก้าอี้ 10 ตัวที่ชอบ อาทิตย์ที่สองมาดูรายละเอียดของเก้าอี้ทั้ง 10 ตัวว่าทำอย่างไร ใช้วัสดุอะไร อาทิตย์ที่สามให้คิดจาก 10 แบบนั้นให้เป็นของเราแล้วสเก็ตช์ภาพ อาทิตย์ที่สี่ต้องส่งรูปที่สเก็ตช์ทั้งหมด 10 ภาพ มีอยู่ตัวหนึ่งเป็นรูปแบบที่ถูกใจมากที่สุดแล้วนำมาปรับให้เป็นสไตล์เรา โดยเริ่มทำโมเดลกระดาษ มีการปรับแบบจนถึงขั้นที่พอใจที่สุด ดาเนียลให้ทำตัวต้นแบบด้วย เราก็เริ่มกังวล จนดาเนียลถามว่าพี่ขาดอะไร ไม้ก็มี ช่างก็มี มีตรงไหนที่ทำไม่ได้ ต้องบอกก่อนเลยว่าเก้าอี้เป็นงานออกแบบที่ยากที่สุด คือออกแบบมาแล้วเวลาใช้งานมันต้องนั่งสบาย เพราะมันเกี่ยวข้องกับสรีระของคน จนเป็นที่มาของการทำโมเดลออกมาถึง 8 ตัวด้วยไม้สัก เพราะทำแล้วไม่พอใจ สุดท้ายจึงกลายมาเป็นเก้าอี้ที่ชื่อว่า “สบาย” และทำออกขายมาจนถึงปัจจุบัน
ก่อนจากกันในวันนั้นผมแอบถามดาเนียลว่า “เห็นอะไรในตัวผู้หญิงคนนี้” เขาตอบกลับมาทันทีว่า “ทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ค์อยู่ในตัว คุณรู้ว่าทำคอมพิวเตอร์ไม่ได้ คุณรู้ว่าวาดรูปไม่ได้ แต่คุณรู้ว่าสิ่งที่คุณอยากได้ออกมาคืออะไร สามารถอธิบายได้ว่าสิ่งนี้คืออะไร ใช้งานอย่างไร ครูจะคอยช่วยเติมในส่วนที่ขาด ผมเห็นความมุ่งมั่นและความดื้อรั้นของเธอ”
ผมยังคงหาคำตอบให้ตัวเองอยู่ตลอดว่า “จะทำอะไรดี” แต่สำหรับคุณเอื้อย เธอคงได้คำตอบที่ชัดเจนแล้วว่า เฟอร์นิเจอร์แบรนด์ “ไต้ลิ้ม” นั้นเป็นสิ่งที่เธอต้องทำและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไป อยู่ๆผมก็นึกถึงคำพูดของใครสักคนหนึ่งที่เคยบอกไว้ว่า…
“ชัยชนะในความสำเร็จมักมาจากความดื้อรั้น”
ขอขอบคุณ
คุณพรรณประภา ตันติวิทยาพิทักษ์
คุณจันทรจรูญ จิระณานนท์
Daniel Martinez, Desinger & Lecturer from Barcelona
เรื่อง : ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข
เรื่องที่น่าสนใน
- Make Series : ม้าหินอ่อน
- เปลี่ยน เครื่องปั้นดินเผา ธรรมดาให้มีค่ามากกว่าเดิม
- ตามไปชมวิธีการทำ อิฐโบราณ ประดับที่ จ.อ่างทอง
l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l