WEAVE ARTISAN SOCIETY คราฟต์คอมมูนิตี้แห่งใหม่ในโรงน้ำแข็งเก่า - room
คาเฟ่เชียงใหม่

WEAVE ARTISAN SOCIETY คราฟต์คอมมูนิตี้แห่งใหม่ในโรงน้ำแข็งเก่า

โรงน้ำแข็งเก่าอายุกว่าครึ่งศตวรรษได้รับการแปลงโฉมสู่ Weave Artisan Society คราฟต์คอมมูนิตี้แห่งใหม่ของชาวเชียงใหม่ ที่เปิดกว้างสำหรับทุกกิจกรรมสร้างสรรค์ของชุมชน

เมื่อราว 40 ปีก่อน ณ ถนนวัวลาย ย่านหัตถกรรมเครื่องเงินขึ้นชื่อของชาวเชียงใหม่ ที่แห่งนี้คือโรงงานน้ำแข็งขนาดใหญ่ซึ่งต่อมาได้ถูกทิ้งร้างเนื่องจากปิดกิจการ จนมาวันนี้อาคารโรงงานสภาพเก่าคร่ำคร่าได้รับการแปลงโฉมให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ในชื่อ Weave Artisan Society ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่จัดนิทรรศการหมุนเวียน คาเฟ่ ร้านดอกไม้ โคเวิร์คกิ้งสเปซ และสำนักงานของสตูดิโอออกแบบ Weave Studio

Weave Artisan Society แบบร้านกาแฟ
การออกแบบปรับปรุงอาคารเกิดขึ้นบนพื้นฐานของแนวคิดในการคงโครงสร้างดั้งเดิมของอาคารไว้ให้มากที่สุด รวมทั้งสร้างความกลมกลืน ให้ผู้ใช้งานไม่อาจแบ่งแยกได้ว่าส่วนไหนใหม่ ส่วนไหนเก่า ดั้งนั้นเราจึงพบว่าร่องรอยของการรื้อทุบนั้นได้ผสมผสานไปกับการปรับปรุงที่เรียบเนี้ยบได้อย่างไม่แปลกแยก
Weave Artisan Society แบบร้านกาแฟ
การออกแบบหลังคา และช่องเปิดเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนและระบายอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดของปี ก็ยังสามารถใช้งานอาคารได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องปรับอากาศ

จุดเริ่มต้น

Julian:   “โครงการนี้เริ่มต้นมาเกือบสามปีแล้ว เป็นเส้นทางที่ยาวนาน และผ่านความท้าทายมามากมาย  โดยจุดเริ่มต้นของที่นี่มาจากการที่ผมได้มีส่วนร่วมในครีเอทีฟอีเว้นท์ และเทศกาลการออกแบบหลายๆ งาน เช่น TEDxChiangMai หรือ Chiang Mai Design Week ในช่วงตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผมจึงมีโอกาสได้พูดคุย ทำงานกับดีไซเนอร์และช่างฝีมือท้องถิ่นมากมาย ผมรู้สึกว่าพวกเขาต้องการพื้นที่สำหรับการแบ่งปันไอเดียและความรู้ และแม้ว่าเชียงใหม่จะถือได้ว่าเป็นเมืองหลวงแห่งงานคราฟท์ของไทย แต่ถ้าเราอยากจะไปถึงแหล่งงานคราฟต์ เราก็ต้องไปให้ถึงสันกำแพงหรือสันทราย ผมเลยคิดว่า จะดีกว่าไหมถ้าผมสร้างพื้นที่หนึ่งขึ้นมาใจกลางเมือง เพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างผู้คนที่สนใจกับชุมชนงานคราฟต์เหล่านั้น”

คุณ Julian Huang อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่คือหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง และสถาปนิกหลักของโครงการนี้ นอกเหนือไปจากการทำงานร่วมกับนักออกแบบและช่างฝีมือ วิชาชีพอาจารย์ช่วยให้เขาได้ใกล้ชิดกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญงานคราฟต์ดั้งเดิมอีกแล้ว ดังนั้น อีกหนึ่งความคาดหวังของเขา คือ Weave Artisan Society จะกลายเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเด็กรุ่นใหม่และช่างฝีมือดั้งเดิม ให้คนทั้งสองกลุ่มนี้มาพูดคุย แลกเปลี่ยนและทำงานร่วมกันได้ในระยะยาว และนั่นก็นำไปสู่การตามหาและการค้นพบ “พื้นที่” ที่ตอบโจทย์ความฝันของเขาได้

Weave Artisan Society แบบร้านกาแฟ
จากมุมมองบนชั้นลอย ผนังกรุหินอ่อนสีชมพูและพื้นหินขัดดั้งเดิมของอาคารดูกลมกลืนเข้ากับเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งซึ่งออกแบบขึ้นใหม่ โต๊ะตัวยาวทำหน้าที่เป็นพื้นที่สำหรับการสร้างปฏิสัมพันธ์ และสามารถปรับใช้งานได้หลากหลาย

Julian:   “เดิมทีตรงนี้เป็นโรงน้ำแข็งเก่าที่รกร้าง ทรุดโทรม ไม่มีหลังคา ด้านหลังก็เป็นป่ารก แต่ผมกลับรู้สึกได้ว่าที่นี่คือสถานที่พิเศษไม่เหมือนใคร มีเรื่องราวมากมาย เราอยากทำอะไรกับที่นี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารนี้อยู่ในบริบทของถนนวัวลาย ซึ่งเป็นชุมชนช่างเงินสืบต่อกันมายาวนาน เราเลยคิดว่าเราสามารถสร้างความเชื่อมโยง ‘อดีต’ ของที่นี่เข้ากับ ‘อนาคต’ ของเราได้”

Weave Artisan Society คุณ Julian Huang (ขวา) และ คุณกัญชพร ชูวงษ์ (ซ้าย)

สถาปัตยกรรมที่ไม่มีวันเสร็จสมบูรณ์

นอกจากคุณ Julian แล้ว คุณกัญชพร ชูวงษ์ คืออีกหนึ่งสถาปนิกหลักของโครงการ พวกเขาเรียกที่นี่ว่า A Process Driven Creative Destination ที่ซึ่งทีมงานของ Weave ใช้เวลาออกแบบและก่อสร้างที่นี่อยู่ประมาณหนึ่งปีครึ่ง เพื่อศึกษาและค้นหากระบวนการสร้างสรรค์ที่จะทำให้พื้นที่นี้สามารถเล่าเรื่องราวของตัวมันเองในอดีตไปพร้อมๆ กับเล่าเรื่องราวของชุมชนที่อยู่รอบๆ ด้วย ดังนั้นผลลัพธ์ของโครงการนี้ จึงน่าสนใจที่ “กระบวนการ” ที่เกิดขึ้นมากกว่าผลงานในเชิงรูปธรรม

Julian:   “จริงๆ แล้ว ที่นี่คือ จุดหมายปลายทางที่ขับเคลื่อนด้วยกระบวนการสร้างสรรค์ เพราะเราเชื่อว่า “กระบวนการ” คือสิ่งสำคัญสำหรับงานคราฟต์และการออกแบบ เราตั้งคำถามเสมอว่าอะไรคือคุณค่าของงานคราฟต์ คือแค่ตัวผลิตภัณฑ์หรือเปล่า และพบว่าจริงๆ แล้วคุณค่าอยู่ในกระบวนความคิด ในกระบวนการสร้างสรรค์ ในความล้มเหลวทั้งหลาย ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ผู้บริโภคไม่เคยเห็น เพราะเป็นกระบวนการเบื้องหลัง แนวคิดการออกแบบของที่นี่จึงคือการนำกระบวนการเบื้องหลังเหล่านั้นมาสู่เบื้องหน้าเพื่อให้ทุกคนได้เห็น”

กัญชพร: “เราจึงไม่สร้างให้พื้นที่นี้เสร็จสมบูรณ์ตั้งแต่แรก แต่จะค่อยๆ พัฒนากระบวนการออกแบบไปพร้อมๆ กับผู้คนที่เข้ามาใช้งานในโครงการ และให้สเปซพัฒนาเข้ากับคน เราจะปรับพื้นที่ให้เข้ากับกิจกรรมในโซนนั้นๆ ให้เข้ากับผู้ใช้งาน ดังนั้นคนที่มาใช้พื้นที่จะพบว่าทุกอาทิตย์ที่เขามา พื้นที่จะเปลี่ยนแปลงไปหมดเลย บางทีต้นไม้ก็ย้ายไปข้างนอก ชั้นวางของต่างๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปตามการใช้งานในช่วงนั้นๆ การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่จึงออกแบบให้เคลื่อนย้ายได้ และพยายามใช้วัสดุดั้งเดิมในพื้นที่ เช่น ประตูไม้เก่าของห้องน้ำแข็งก็นำมาขัดทำเป็นโต๊ะ หรือพื้นหินขัดและผนังหินอ่อนสีชมพูของโรงน้ำแข็งเราก็คงไว้”

Weave Artisan Society แบบร้านกาแฟ
ทั้งไม้พื้นเก่า และบานประตูของดรงน้ำแข็งได้รับการแปรสภาพให้กลายเป็นท็อปโต๊ะ ซึ่งช่วยแต่งเติมบรรยากาศให้ดูอบอุ่นขึ้น

Julian:   “สำหรับเรา Weave คือโปรเจ็คต์ที่ไม่มีวันเสร็จ มันเป็นโครงการที่จะมีกระบวนการพัฒนาไปเรื่อยๆ เราคิดว่าพื้นที่ที่สร้างสรรค์จริงๆ ควรยืดหยุ่น ไม่ควรเป็นการออกแบบที่ตายตัว ต้องสามารถเปลี่ยนแปลงได้ และสามารถปรับตัวเข้ากับบริบทและผู้ใช้งานได้ตลอดเวลา แม้ว่าเราจะอยู่ในอาคารทรงกล่องสี่เหลี่ยม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นภายในนี้ควรมีพลังความเคลื่อนไหว มีความยืดหยุ่นตลอดเวลา”

Weave Artisan Society แบบร้านกาแฟ
แท่นวางเครื่องจักรเดิมได้รับการปรับปรุงให้เรียบร้อย กลายเป็นเวทีเสวนาย่อมๆ อีกทั้งเส้นสายโค้งมนยังช่วยลดทอนความกระด้างของคอนกรีตเปลือยได้เป็นอย่างดี

Weave Artisan Society แบบร้านกาแฟ

นิทรรศการคือหัวใจ

เนื่องจากที่นี่ ก่อตั้งขึ้นจากความตั้งใจที่ให้เป็นพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ ดังนั้นจึงมีกิจกรรมมากมายต่อคิวตลอดทั้งปี

Julian: “ตอนนี้มีอีเว้นท์ที่น่าสนใจคือ เราร่วมงานกับสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และองค์กรจากสิงคโปร์ UR Field Lab ร่วมงานกับศิลปิน 15 คนจากทั่วโลก เพื่อสร้างผลงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับปัญหาน้ำท่วมในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นปัญหาที่ย่านวัวลายเองก็เผชิญอยู่ นิทรรศการบอกเล่าถึงวิธีการที่ผู้คนใช้ชีวิตท่ามกลางปัญหาน้ำท่วมนี้ เช่น การศึกษาปัญหาในแง่มุมต่างๆ ไปจนถึงการออกแบบเฟอร์นิเจอร์เพื่อใช้ชีวิตในช่างน้ำท่วม”

“ส่วนช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้เราจะมีเวิร์คช็อปที่ทำงานร่วมกับชุมชนในแม่แจ่มกับดอยอินทนนท์ ร่วมกันสำรวจความเป็นไปได้ใหม่ๆ เกี่ยวกับวัสดุไม้ไผ่ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ในแง่ของการใช้ก่อสร้าง แต่ยังรวมไปถึงในแง่ของวัสดุที่เราใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน โดยจะมีนักออกแบบนานาชาติมาร่วมเวิร์คช็อปครั้งนี้ด้วย และจะนำผลงานมาจัดนิทรรศการ”

Weave Artisan Society แบบร้านกาแฟ
ผ้าม่านสีขาวยึดติดบนราวโครงสร้างลอยตัว สร้างพื้นที่ปิดล้อม และขับเน้นความสำคัญให้กับพื้นที่นี้
Weave Artisan Society แบบร้านกาแฟ
พื้นที่ตรงกลางอาคารคือ Co-creation Space เป็นพื้นที่เอนกประสงค์สำหรับนิทรรศการ เวิร์คช็อป ฯลฯ เมื่อผู้คนเข้ามาในพื้นที่ ม่านสีขาวจะช่วยกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นให้กับกิจกรรมที่อยู่ด้านหลัง

ความเชื่อมโยงกับชุมชน

Julian: “ทุกครั้งที่เราจัดงานเราจะชวนเด็กๆจากมูลนิธิที่อยู่ข้างเคียงหรือผู้คนในชุมชนมาร่วมงานด้วยอย่างในช่วงกันยายนนี้เราจะจัดงานที่ชวนช่างฝีมือในย่านนี้มาจัดเวิร์คช็อปงานฝีมือที่ใครๆก็เข้ามาร่วมได้เพื่อแบ่งปันวัฒนธรรมดั้งเดิมนี้ให้กับคนรุ่นใหม่ถ้าลองเดินดูจะพบว่ามีช่างฝีมืออยู่ในชุมชนมากมายบางทีไม่ได้มีหน้าร้านแต่เราได้ยินเสียงตอกโลหะอยู่ตลอด”

“ที่นี่เปิดรับผู้ที่สนใจมาจัดนิทรรศการซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องราวของนิทรรศการนั้นๆเราไม่อยากยกพื้นที่นี้ให้นักออกแบบหรือศิลปินโดยตรงแต่จะเป็นรูปแบบของความร่วมมือที่เราจะร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆเพราะเราเชื่อในความร่วมมือ”

“Weave มาจากไอเดียของผืนผ้าที่เกิดจากการถักทอเส้นใยมากมายเข้าด้วยกัน เหมือนกับการที่เราสอดประสานความร่วมมือจากชุมชนท้อนถิ่นโดยรอบ”

Weave Artisan Society แบบร้านกาแฟ
บันไดนำขึ้นไปสู่ชั้นลอย ซึ่งเป็นทั้งพื้นที่โคเวิร์กกิ้งสเปซ และสตูดิโอของ Weave วัสดุหลังคาโปร่งแสงนำมาใช้เป็นผนังของสตูดิโอให้ความรู้สึกของความเย็นจากน้ำแข็งจนมีฝ้าเกาะ

ร้านค้าพันธมิตร

นอกเหนือไปจากพื้นที่แห่งความร่วมมือ ที่นี่ยังมีคาเฟ่และร้านดอกไม้ เพื่อช่วยสร้างสีสันและพลังความเคลื่อนไหวให้พื้นที่ได้อยู่ตลอด

Julian: “เนื่องจากเราไม่ได้ให้เช่าพื้นที่ ทุกร้านคือส่วนหนึ่งของ Weave เราเลือกจากร้านที่มีแนวคิดไปในทิศทางเดียวกับเรา อย่าง Taste Cafe Atelier ซึ่งมีแนวคิดการดำเนินธุรกิจไม่ต่างจากแนวคิดการออกแบบของเราซึ่งคือ Material Culture เราเลือกที่จะศึกษากระบวนการออกแบบกับวัสดุใดวัสดุหนึ่ง ซึ่งคาเฟ่นี้ก็เสิร์ฟเฉพาะเมนูกาแฟเรียบง่าย แต่คุณภาพดีมาก เจ้าของเขาเป็นคนที่รู้จักเมล็ดกาแฟ รู้จักกระบวนการชงกาแฟเป็นอย่างดี ให้ความสำคัญกับกระบวนการจากเมล็ดสู่แก้ว ซึ่งนั่นตรงกับปรัชญาการออกแบบของเรา”

Taste Cafe Atelier ของคุณปรีติ สุวรพงษ์ มีสาขาแรกอยู่ในย่านมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีโรงคั่วเมล็ดกาแฟส่วนสาขาใหม่ล่าสุดที่นี่นั้นเกิดจากความเชื่อที่ว่า “เมื่อกาแฟบวกสถาปัตยกรรมจะนำไปสู่บางอย่างใหม่ๆ ที่น่าสนใจ” พื้นที่คาเฟ่ออกแบบให้เชื่อมโยงกับวัสดุดั้งเดิมของอาคาร อย่างตัวเคาน์เตอร์ทำจากคอนกรีตหล่อในที่ สร้างผิวสัมผัสลอนด้วยท่อพลาสติก
ด้วยความตั้งใจจะทำกาแฟไทยให้ดียิ่งขึ้น นอกจากเมนูเรียบง่ายคุณภาพเยี่ยมแล้ว ยังมีเมนูใหม่ๆ ที่สร้างรสสัมผัสใหม่ด้วยการใช้น้ำเสาวรสหมักกับเมล็ดกาแฟจากท่าสองยาง จังหวัดตาก ก่อนนำไปตาก 48 ชั่วโมง เมื่อมีเนื้อเสาวรสไปเกาะอยู่ค่อยนำไปคั่ว หรือการหมักเมล็ดกาแฟจากขึนช่างเคี่ยนกับยีสต์ ก็ทำให้เกิดรสชาติใหม่

Julian: “นอกจากนี้ เรารู้สึกว่าที่นี่ค่อนข้างกระด้างด้วยโครงสร้างและวัสดุต่างๆ ดังนั้น เราจึงอยากร่วมงานกับ Les Fleurs Fac เจ้าของเป็นคนที่หลงใหลในดอกไม้ ซึ่งจะช่วยสร้างความอ่อนโยนให้พื้นที่นี้  ร้านนี้เติบโตไปพร้อมๆ กับเรา เขาขายดอกไม้ตามฤดูกาล มีการเวิร์คช็อปจัดดอกไม้ ซึ่งพอดอกไม้สดกลายเป็นดอกไม้แห้ง เราก็ไม่โยนทิ้ง แต่นำมาตกแต่งบนผนังดอกไม้สร้างบรรยากาศที่อ่อนละมุนขึ้น ซึ่งตรงกับแนวคิดการออกแบบเพื่อความยั่งยืนของเราด้วย”

Weave Artisan Society แบบร้านกาแฟ

Weave Artisan Society

12/8 ซอย  3 ถนนวัวลาย ตำบลหายยา
เทศบาลนครเชียงใหม่ 50100
โทร. 062 046 3338

เปิดทุกวัน เวลา 9.00-18.00 น.
Tastecafe Atelier เปิดเวลา 10.00 – 17.00 น.
www.weaveartisansociety.com


เรื่อง : monosoda
ภาพ : ศุภกร