บ้านพักพิงชั่วคราวสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติ สู่พาวิลเลียนเทศกาล Chiang Mai Design Week
bamboo pavilion

จากบ้านพักพิงชั่วคราวสำหรับผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว สู่พาวิลเลียนไม้ไผ่ในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่

ชาวเชียงใหม่และนักท่องโลกที่มีหมุดหมายต้องการเดินทางมาเยี่ยมชมงานดีไซน์ดี ๆ ต่างมารวมตัวกันที่งาน Chiang Mai Design Week 2019 เเละเเน่นอนว่าทุกคนจะได้สะดุดตากับพาวิลเลียนโครงสร้างไม้ไผ่ในพื้นที่บริเวณหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ ใช่แล้ว! โครงสร้างที่เห็นนี้ ได้รับการใช้เป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานออกแบบของช่างฝีมือท้องถิ่นและช่างฝีมือในภูมิภาค รวมถึงเหล่านักออกแบบต่างสาขาจากทั่วสารทิศ เพื่อเนรมิตให้ที่นี่เป็นเสมือนศูนย์กลางในการถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ ก่อนเผยเเพร่สู่ชุมชนให้สามารถใช้ประโยชน์จากเเนวคิดนี้ได้จริง

จากโครงสร้างที่ทำจาก “ไม้ไผ่” วัสดุในท้องถิ่นใกล้ตัว รู้หรือไม่ว่านี่คือโครงสร้างของบ้านพักพิงชั่วคราวสำหรับช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว ผลงานการออกแบบเชิงทดลองของผู้ช่วยศาสตราจารย์กานต์ คำแก้ว จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบริษัท Gerard Collection ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไม้ไผ่ โดยมีจุดประสงค์เพื่อรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาเเล้วเมื่อปีก่อนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยเขาได้เคยนำเสนอเเนวคิดนี้มาเเล้วในงาน Chiang Mai Design Week 2018 ก่อนนำมาต่อยอดอีกครั้งในปีนี้เพื่อให้สมบูรณ์เเบบยิ่งขึ้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์กานต์ คำแก้ว เป็นสถาปนิกที่สนใจด้านงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น โดยเขาเป็นผู้ร่วมวิจัยในโครงการต่าง ๆ มาเเล้วมากมาย เช่น การเสริมสร้างสุขภาวะด้วยการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อสังคมผู้สูงอายุ การปรับปรุงที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุในพื้นที่จังหวัดลำปาง การเสริมสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้คุณธรรม วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ณ วัดสบลืน อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง และเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยการใช้ไม้ไผ่ เพื่อใช้เป็นวัสดุก่อสร้างบ้านพักอาศัยที่ยั่งยืนในเขตภาคเหนือตอนบน

Chiang Mai Design Week ผู้ช่วยศาสตราจารย์กานต์ คำแก้ว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์กานต์ คำแก้ว

เเละเพื่อเข้าถึงความเป็นมาของเเนวคิดนี้  room ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ช่วยศาสตราจารย์กานต์ คำแก้ว ผู้เป็นทั้งสถาปนิก อาจารย์ และผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและการสร้างภาพลักษณ์องค์กร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงแนวคิดและผลลัพธ์จากโครงการสร้างบ้านพักพิงชั่วคราวสำหรับผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว ก่อนนำมาสู่การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านด้วยวิธีคิดที่แตกต่างจากรูปแบบเดิม ซึ่งผลงานทั้งหมดได้รับการนำมาจัดแสดงไว้ให้ผู้สนใจได้เยี่ยมชมภายในงาน Chiang Mai Design Week 2019 จนถึงวันที่ 15 ธันวาคมนี้  ณ หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่

Chiang Mai Design Week

ทำไมต้องเป็นโครงสร้างไม้ไผ่หน้าจั่วตั้งรูปทรงสามเหลี่ยม 

“ครั้งนี้เป็น Shelter ตัวที่ 2 ที่ผมพัฒนาจากตัวแรกที่ทำเป็นเต็นท์สำหรับผู้ประสบภัยฯ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์กานต์ คำแก้ว บอกกับเรา

“ปีที่แล้วเรานำมาจัดเเสดงที่งานนี้เช่นกัน แล้วบังเอิญเกิดมีฝนตก มันก็เลยตอบโจทย์การใช้งานได้พอดี ส่วนในงานปีนี้  TCDC ได้เปิดโอกาสให้เราทดลองอีกครั้ง จากเต็นท์หลังเล็ก ๆ ขยายสู่เต็นท์ที่มีสเกลใหญ่ขึ้น กลายเป็น Shelter สำหรับใช้จัดแสดงงานครั้งนี้”

เนื่องด้วยพื้นที่ทางภาคเหนืออยู่ในเขตรอยเลื่อน จึงมีความเสี่ยงในการเกิดเหตุแผ่นดินไหวสูงกว่าภาคอื่น ๆ  เขาจึงเลือกใช้โครงสร้างไม้ไผ่หน้าจั่วตั้งรูปทรงสามเหลี่ยม ซึ่งมีมุมทะแยงที่แข็งแรงกว่ารูปทรงสี่เหลี่ยมมาใช้ในการออกแบบ ประกอบกับความเหนียวของเนื้อไม้ที่สามารถออกแบบโครงสร้างรับแรงได้ในตัว จึงช่วยให้โครงสร้างมีความมั่นคงเเข็งเเรงเหมาะกับพื้นที่ตั้ง ภายใต้ข้อแม้ที่ว่า ทุกชิ้นส่วนต้องสามารถถอดประกอบได้

“ลักษณะของการประกอบข้อต่อ (joint) ต่าง ๆ เราออกแบบให้สามารถถอดประกอบได้เหมือนเต็นท์ผ้าใบ แต่ปรับโฉมให้มีความน่าสนใจมากขึ้นกว่าเดิม ในขณะเดียวกันก็ต้องประกอบและเคลื่อนย้ายได้ง่ายเเละรวดเร็ว”

Chiang Mai Design Week

ขนาดโครงสร้างที่สามารถขนย้ายได้ง่ายด้วยรถกระบะ

“ในการออกแบบเรามี 2 โจทย์หลัก  ๆ คือ 1.เราต้องนำมาวางบนพื้นแข็ง (พื้นลานจอดรถหน้าหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่) เราจึงดีไซน์โดยใช้นอตที่สามารถหมุนปรับระดับความสูงได้ โดยก่อนออกแบบเรามีการเช็คระดับความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ตรงนี้ เเล้วพบว่ามีอยู่ไม่เกิน 5 เซนติเมตร เพราะฉะนั้นเราจึงเผื่อนอตไว้ 5 เซนติเมตร เพื่อขยับ Shelter นี้ให้ตั้งเสมอกัน (คล้ายการปรับระดับขาตั้งกล้อง)

“โจทย์ข้อที่ 2 คือ Shelter หลังเล็กที่ตั้งในสนามหญ้า เราใช้วิธีเสียบสมอบกเพื่อยึดโครงสร้างไว้ เพราะมีเงื่อนไขคือถ้าเราทำโครงสร้างลักษณะเดียวกันกับที่วางอยู่บนพื้นแข็ง ไปวางไว้กลางสนามหญ้า  หญ้าอาจตายเป็นหย่อม ๆ ได้ การใช้สมอบกจึงน่าจะเป็นวิธีที่ส่งผลกระทบน้อยที่สุด และช่วยให้เต็นท์เเข็งเเรงไม่ขยับหรือเคลื่อนไปไหน”

Chiang Mai Design Week

โครงสร้างบ้านพักพิงชั่วคราวสำหรับช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว 

“มหาวิทยาลัยเชียงใหม่สนับสนุนเงินทุนเเก่เรา ให้เราได้ทำงานทดลองครั้งนี้ในช่วงที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงราย เราเห็นว่าอาคารบ้านเรือนได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก แม้ภายนอกเหมือนจะสามารถใช้งานได้ แต่ชาวบ้านก็กลัวที่จะกลับเข้าไปอยู่อาศัยต่อ เพราะเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาหลายระลอก การออกมากางเต็นท์นอกบ้านจึงเป็นทางออกที่ปลอดภัยกว่า เราก็เลยคิดกันต่อว่า ถ้าเราทำเต็นท์ให้คนสามารถอยู่ได้ หรือกางเต็นท์ชั่วคราวในพื้นที่สักเดือนหนึ่ง ให้เขามีความเป็นส่วนตัวและปลอดภัย ก่อนกลับไปซ่อมแซมบ้านให้กลับมาอยู่ได้อีกครั้งอย่างสมบูรณ์นั้นคงจะดีไม่น้อย นั่นจึงเป็นที่มาของการทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่กับการคิดระบบวิธีการในการประกอบโครงสร้างเต็นท์จากไม้ไผ่  ก่อนหน้านี้เราทำตัวต้นแบบมาเเล้วหลายชิ้นมาก ทำแล้วเปลี่ยนใหม่จนมาลงตัวกับรูปแบบที่คล้ายกับบ้าน เราคิดว่าถ้าคนจะย้ายมาอยู่ใน Shelter ของเรา ต้องอยู่ได้เหมือนบ้านจริง ๆ ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ใช้งานหลัก ๆ  4 ยูนิต คือ ที่นอน ห้องเตรียมอาหาร ห้องเก็บของ และห้องน้ำ โดยห้องน้ำจะเป็นเเบบสำเร็จรูปนำมาประกอบขึ้นกับโครงสร้างไม้ไผ่เพื่อให้ดูน่าใช้งานมากขึ้น”

Chiang Mai Design Week

ห้องเก็บของสำหรับผู้ประสบภัยฯ ใครคิดว่าไม่สำคัญ 

หนึ่งในการเรียนรู้ระหว่างกระบวนการทำงานออกแบบเชิงทดลองชิ้นนี้ คือการค้นพบพื้นที่ที่จำเป็นสำหรับผู้อพยพหรือผู้ประสบภัยฯ นั่นคือ “ห้องเก็บของ”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์กานต์ อธิบายว่า “คนเวลาจะย้ายบ้าน เขาต้องติดของสำคัญมาด้วย มันเป็นความรู้เพิ่มเติมหลังจากที่เราทำการศึกษา เเล้วนำมาพัฒนาต่อเป็นห้องเก็บของ ซึ่งเราไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะต้องมี เเต่กลับกลายเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับผู้ประสบภัยฯ เพราะแต่ละบ้านเวลาขนย้ายของหนี เขาก็อยากจะได้พื้นที่สำหรับเก็บของที่ปลอดภัยด้วยเช่นกัน

“เราตั้งใจว่าภายในปีนี้ หรือต้นปีหน้า จะส่งมอบ Shelter นี้ ให้พื้นที่ที่เคยประสบภัยในจังหวัดเชียงราย เพื่อใช้เป็นศูนย์อพยพ เเละรองรับชาวบ้านผู้ประสบภัยฯ หากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้นอีก ถึงเวลานั้นเขาจะมี Shelter ที่พร้อมใช้งาน หรืออาจนำไปใช้งานในลักษณะอื่น ๆ ได้ เช่นใช้เป็นเต็นท์อเนกประสงค์ โดยเราจะให้เจ้าของผู้ได้รับมอบนำได้พัฒนาต่อยอดได้ตามจินตนาการของเขา เราไม่ได้หวง”

Chiang Mai Design Week

โครงสร้างไม้ไผ่ เเม้จะชั่วคราวแต่มั่นคงแข็งแรง

“เราพยายามทำงานเรื่องนี้แบบคู่ขนาน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์กานต์ตอบคำถามถึงความแข็งเเรงของโครงสร้างไม้ไผ่สำหรับการใช้งานในระยะยาว

“นอกจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ให้เราออกแบบ Shelter แล้ว ก็ต้องมีบททดสอบความสามารถในการรับแรง ซึ่งตอนนี้เราได้นำชิ้นส่วนของไม้ที่อยู่ในภาคเหนือมาทดสอบเพื่อให้รู้ว่ามีคุณสมบัติการรับน้ำหนักมากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว  ไม้ไผ่  มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับเหล็กในแง่ของความเหนียวเเละความทนทานสามารถรับน้ำหนักได้ดี ด้วยวิธีการใช้หน้าตัดเเบบตรง ๆ เส้นใยของเนื้อไม้ที่วิ่งไปตามแนวนอนนั้นจะมีความเหนียวทนเป็นพิเศษ ฉะนั้นการออกแบบจึงมีความสำคัญในเเง่ของการสร้างรูปทรงด้วย แต่ทั้งนี้ผลลัพธ์ด้านความทนทานอาจจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเราต้องคำนึงถึงการคัดเลือกชนิดพันธุ์ของไม้ไผ่ในการนำมาใช้งานด้วย เช่น การเลือกใช้ไผ่ตง และไผ่รวกดำที่ค่อนข้างมีเยอะ เเละหาได้ง่ายในท้องถิ่น เเต่หากต้องการไผ่ที่รับน้ำหนักได้ดีเเนะนำให้ใช้ไผ่สีสุก แต่เนื่องจากเป็นไผ่ป่า มีหนามเยอะ จึงค่อนข้างใช้ยากเเละไม่นิยมกัน เเต่เท่าที่ผมรู้มาหากต้องการใช้งานที่เน้นความทนทาน ส่วนใหญ่เขาจะใช้ไผ่สีสุกเเทบทั้งนั้น เหตุผลเพราะมันหาง่าย ทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ ใช้ทดแทนวัสดุในระบบอุตสาหกรรม หรือวัสดุไม้จริงได้อย่างดี  วัตถุประสงค์ของเราคือถ้าพัฒนาไม้ไผ่ได้ เราจะนำไปใช้แทนไม้จริง เพื่อให้ไม้จริงเจริญเติบโตต่อไปในธรรมชาติ”

Chiang Mai Design Week
สถาปนิกใช้ระยะสแปน หรือความยาวของไม้ไผ่ 6 เมตร (ระยะยาวที่สุด) ต่อ 1 ท่อน  ส่วนข้อต่อ หรือ joint ได้รับการออกแบบขนาดให้มีความใกล้เคียงกับขนาดของลำปล้องไม้ไผ่ และใช้ระบบขันนอตสกรูเพื่อล็อกลำปล้องให้โครงสร้างมีความแน่นหนา ส่วนฐานรากหล่อคอนกรีตหุ้มด้วยวัสดุพลาสติกสีดำคล้ายกระถางต้นไม้ ใช้สำหรับบนพื้นแข็ง และแบบสมอบกใช้บนพื้นที่สนามหญ้า

Chiang Mai Design Week

จากบ้านพักพิงชั่วคราว สู่เฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ที่สามารถถอดประกอบได้ 

บนสนามหญ้าหน้าหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ ละลานตาไปด้วยเหล่าเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่จากกลุ่ม Bamboo Furniture Meahongson อันเป็นผลลัพธ์จากการอบรมเชิงปฏิบัติการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่จากโรงงานเจอราร์ดฯ ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์กานต์ คำแก้ว, ณัฐวัฒน์ คำก๋อง และทีมออกแบบ ด้วยการนำผลผลิตจากวนเกษตรมาแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ กลายเป็นต้นแบบเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ถอดประกอบได้ เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่ในชุมชนให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกไผ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

Chiang Mai Design Week

“ผมเป็นสถาปนิกแต่ได้จับพลัดจับผลูมาทำงานนี้ โดยมีเงื่อนไขคือต้องเป็นวัสดุที่อยู่ในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นไม้ไผ่ ตองตึง หรือดิน ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เราสนใจ การสอนเป็นอาชีพหลัก แต่เราคิดว่าการสอนอย่างเดียวไม่พอ มันต้องหาประสบการณ์เพื่อนำมาเล่าให้นักศึกษาฟังได้ว่ารูปแบบที่เราทำ พอทำแล้วเกิดปัญหาอะไร โชคดีที่เราได้ทำงานแบบนี้ต่อเนื่องกันมาในระยะหลัง ๆ นี้

“เราคิดไปถึงว่าถ้านักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงแม่ฮ่องสอน เขาจะได้เฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ดี ๆ กลับไปสักชิ้น  หรือหากมากางเต็นท์ เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว เเล้วไม่ได้ตระเตรียมว่าจะต้องซื้อของฝาก หรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นชิ้นใหญ่ ๆ กลับไป การขายของแบบถอดประกอบได้ แล้วส่งไปถึงมือลูกค้าตามที่อยู่ นับเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย เราก็เลยเปลี่ยนดีไซน์เฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ที่ชาวบ้านทำขายกันใหม่ เช่น แคร่ การที่พวกเขาทำของชิ้นใหญ่ มันทำให้ขายผลิตภัณฑ์ได้ยาก เพราะคนที่สนใจซื้อ เขาไม่รู้จะขนกลับไปอย่างไร”

Chiang Mai Design Week Chiang Mai Design Week

“ถ้าเป็นชั้นวางของ เราสามารถนำไปซ้อนต่อกันได้ ด้วยเทคนิคเเละฝีมือของชาวบ้าน โดยใช้วิธีการประกอบและยึดด้วยสลัก หรืออย่าง ม้านั่ง ก็ แค่ปรับรูปแบบให้คล้ายกับเปลถอดสลักออกได้ เเล้วนำมาประกอบเข้าด้วยกัน หรือ ตู้เสื้อผ้า เราไม่ได้ต้องการตู้ไม้ขนาดใหญ่ เพราะจริง ๆ เเล้ว อาจต้องมีฟังก์ชันแค่ผ้าใบสำหรับป้องกันฝุนเกาะเท่านั้น การใช้ไม้ไผ่ที่เป็นโครงสร้างเบา ถอดประกอบได้ จะสามารถช่วยให้การจัดส่งเป็นเรื่องง่ายขึ้น เหมาะกับการสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ โดยให้ชาวบ้านผลิตสินค้าตามออเดอร์ เพื่อช่วยลดปัญหาการผลิตสินค้าออกมาวางขายเยอะ ๆ เเต่กลับขายไม่ได้ โดยเปลี่ยนให้เขารอว่ามีคนมาสั่งซื้อเสียก่อนแล้วจึงค่อยผลิต สิ่งนี้น่าจะช่วยเรื่องการค้าขายให้เขาเชื่อมั่นได้ว่าถ้ามีออเดอร์แล้วค่อยทำ วิธีนี้จะตอบโจทย์ได้มากกว่าทำเสร็จแล้วมาตั้งทิ้งไว้เพื่อรอคนมาซื้อ ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เราพยายามขับเคลื่อนอยู่ในตอนนี้”

Chiang Mai Design Week 2019 จัดขึ้นในย่านอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ CEA เชียงใหม่ และอีกกว่า 20 แห่งรอบเมือง เรื่อยไปจนถึงวันที่ 15 ธันวาคมนี้ ดูกิจกรรมที่น่าสนใจในปีนี้ได้ที่ https://bit.ly/2qvweur

ส่วนใครที่เดินชมงานดีไซน์จนอิ่มเอมใจจนเสียงธรรมชาติเพรียกหา นี่คือ 3 ที่พักเปิดใหม่+ปรับปรุงใหม่ในรอบปีที่ผ่านมาที่ทั้งบรรยากาศดี สงบเงียบ และที่สำคัญมีสถาปัตยกรรมซึ่งได้รับการออกแบบโดยเคารพต่อธรรมชาติที่อยู่มาก่อน ที่ room อยากชวนให้คุณลองไปนอนสักคืน https://bit.ly/2P30iqJ

10 ที่พักขนาดเล็กแต่น่าพักขนาดเจ้า จากหนังสือ 100 BEST DESIGN SMALL HOTELS & HOSTELS ที่ room อยากชวนให้คุณลองไปนอนสักคืนช่วงงาน Chiang Mai Design Week 2019 https://bit.ly/2sM6fzt

และ 8 คาเฟ่จากหนังสือ 100 BEST DESIGN CAFES + 2 คาเฟ่เปิดใหม่ที่ room อยากชักชวนให้คุณไปจิบกาแฟแลดีไซน์ ระหว่างพักจากการเดินชมงาน Chiang Mai Design Week 2019 https://bit.ly/33YysA6


เรื่อง/ภาพ: ND24