ทันทีที่กรุงเทพมหานครสั่งเดินหน้าแผนงานก่อสร้าง ‘โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา’ หรือที่เรียกกันว่า ‘ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา’ ระยะทาง 12.45 กิโลเมตร (จากแผนเดิม 14 กิโลเมตร) โดยเริ่มต้นช่วงที่ 1 จากสะพานพระราม 7 ไปจรดกรมชลประทาน ริมถนนสามเสน เขตดุสิต ฝั่งพระนคร และเขตบางพลัด ฝั่งธนบุรี เสียงเรียกร้อง “ไม่เอาทางเลียบฯ” จึงกลับมาก้องดังอีกครั้ง หลังจากประเด็นนี้เคยถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเมื่อปี พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นช่วงริเริ่มโครงการ ‘Chaophraya for All’ โดยมีโครงการสร้างทางเลียบฯเป็นส่วนหนึ่งในแผนฯดังกล่าว
โดยครั้งนี้มี 35 องค์กรจากหลากหลายสาขาอาชีพเข้าร่วมคัดค้านในนาม ‘สมัชชาแม่น้ำ’ โดยยกเหตุผลอ้างอิงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมซึ่งจะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนี้ หากการพิจารณาให้สร้างทางเลียบฯ สำเร็จขึ้นจริงในอนาคต โดยหนึ่งในแกนนำผู้คัดค้านคือรองศาสตราจารย์ ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสมาคมนักผังเมืองไทย ที่ได้ออกคำแถลงการณ์ขอคัดค้านการดำเนินโครงการดังกล่าว ด้วยเหตุผลทางวิชาการ และวิชาชีพทางผังเมือง 6 ประเด็นหลัก โดยสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้
- รูปแบบทางเดินและทางจักรยานที่อยู่สูงกว่าระดับทะเลปานกลาง 2.25 เมตร และต่ำกว่าระดับเขื่อนป้องกันน้ำท่วมในปัจจุบันประมาณ 1.00 เมตร จะทำลายความเป็นชุมชนและความเป็นส่วนตัวของบ้านเรือนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
- ไม่มีความจำเป็นต้องเข้าถึงพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดแนวแม่น้ำ เเต่ควรเลือกเฉพาะพื้นที่บางส่วนที่มีศักยภาพในด้านความงามและการเข้าถึงได้อย่างสะดวก โดยไม่กระทบต่อชุมชนและบ้านเรือนริมน้ำ
- ในช่วงเวลากลางคืนอาจกลายเป็นพื้นที่มั่วสุมหรือทำกิจกรรมอันไม่พึงประสงค์ที่เป็นอันตรายได้
- ลดความสามารถในการป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชนริมน้ำ
- กระทบต่อทัศนียภาพและเอกลักษณ์ของพื้นที่ริมฝั่งเเม่น้ำเจ้าพระยา
- โครงการไม่ได้ถูกกำหนดไว้ในแผนแม่บท และขาดความเชื่อมโยงกับโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ในเมืองและภาคมหานครโดยสิ้นเชิง
room ขอร่วมไขประเด็นการคัดค้านโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กับรศ.ดร.พนิต ภู่จินดา เพื่อหาคำตอบว่าเหตุใดเราจึงไม่ควรสร้างทางเลียบฯ เเละแท้จริงแล้วโครงการนี้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้จริงหรือไม่ รวมถึงคำถามที่ไร้คนตอบว่าทำไมไม่เริ่มต้นจากการพัฒนา หรือปรับเปลี่ยนพื้นที่ของรัฐที่อยู่ริมแม่น้ำให้เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจและท่องเที่ยวที่ดีเสียก่อน
ทางเลียบฯ แลนด์มาร์กที่ทำลายชุมชนริมแม่น้ำ
“ขอหยิบประเด็นที่สองมาพูดก่อน พื้นที่ริมน้ำเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญ มีทิวทัศน์ สภาพแวดล้อม เเละบรรยากาศที่ดี แต่คำถามสำคัญคือเราต้องการพื้นที่ริมน้ำตลอดแนวแม่น้ำหรือไม่ ซึ่งมันไม่มีความจำเป็นต้องมีตลอดแนวแม่น้ำ ฉะนั้นสิ่งที่ต้องคิดคือพื้นที่ริมน้ำเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ ประชาชนควรเข้าถึงได้ง่าย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีทางเลียบฯตลอดแนวสองฝั่งเเม่น้ำอย่างนี้
“เรามีพื้นที่เยอะแยะเวลาเวนคืนทำสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา โดยทั้งสองฝั่งของสะพานจำเป็นต้องถูกเวนคืนเพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับซ่อมบำรุง ทำให้สามารถพัฒนาเป็นพื้นที่สวนสาธารณะได้ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ของรัฐริมฝั่งเเม่น้ำอีกมากมาย ทั้งอู่ต่อเรือกรุงเทพฯ โรงภาษีร้อยชักสาม ฯลฯ รวมถึงพื้นที่ของภาคเอกชนที่เขาเห็นประโยชน์เเล้วพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เช่น โครงการเอเชียทีคฯ ที่เปิดพื้นที่ริมน้ำบนฝั่ง โดยไม่ต้องลงไปในแม่น้ำ เขาก็อยู่ได้
“ย้อนกลับมาประเด็นที่หนึ่ง ว่าการมีทางเลียบฯ ตลอดแนวเเม่น้ำนั้นจะเกิดปัญหาอะไรตามมา เเน่นอนว่าน้ำต้องไม่ท่วม ถูกไหม? ฉะนั้นทางเดินจึงต้องอยู่สูงกว่าระดับน้ำที่เคยท่วมถึง หรือในระดับสองเมตรกว่า ขณะที่บ้านเรือนริมน้ำบางหลังเป็นบ้านชั้นเดียวหรือสองชั้น ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือทางเลียบแม่น้ำจะมีระดับความสูงเท่ากับชั้นสองของบ้านพอดี ซึ่งเป้าหมายของการทำทางเลียบฯนี้คือทำไว้สำหรับออกกำลังกายเเละพักผ่อนหย่อนใจ จึงมีทั้งคนเดิน วิ่ง เเละปั่นจักรยานกันตั้งแต่เช้ามืด ส่งเสียงจ๊อกแจ๊กจอเเจ หรือบางวันอาจมีกิจกรรมกันถึงดึกดื่น สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นข้างห้องนอนคุณ คุณเอาไหม?
“แล้วระดับความสูงเท่านี้คนปีนเข้าบ้านคุณได้สบายเลย จะหาความปลอดภัยได้อย่างไร หรือหากจะมาอ้างว่ามีเขื่อนอยู่แล้ว แต่เขื่อนก็ไม่มีคนใช้ มันทำให้วิถีของชุมชนหายไป ความเป็นส่วนตัวของคนริมน้ำก็หายไป ถ้าคุณบอกว่าเพื่อเป็นการป้องกันคนบุกรุกริมน้ำ คุณก็เอากฎหมายไปจัดการ ไม่ใช่ทำทางเดินตลอดแนว แล้วมาเบียดเบียนบ้านเรือนริมน้ำที่เขาถูกกฎหมาย นอกจากนี้สภาพเเวดล้อมทางกายภาพที่เอื้อต่อการเป็นอยู่อาศัยก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย จากเดิมช่วงกลางวันที่มีแดดร้อน ผิวน้ำจะช่วยสะท้อนเเสงเเดดเเละดูดความร้อนไว้ ลมที่พัดเข้ามาก็จะพัดพาความเย็นจากไอระเหยของน้ำเข้าสู่ตัวบ้าน ช่วยให้บ้านไม่ร้อน เเต่ในทางกลับกันหากมีเเต่พื้นผิวคอนกรีต คอนกรีตจะสะสมเเละสะท้อนความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน ทำให้บ้านอยู่ไม่สบาย”
เริ่มพัฒนาทางเดินเฉพาะส่วนพื้นที่ของรัฐก่อนดีไหม
“มันไม่ใช่ทางเลียบแม่น้ำ แต่มันอยู่บนฝั่งได้ มันเป็นพ็อกเก็ตพาร์ก ซึ่งเราก็มีพ็อกเก็ตพาร์กริมน้ำอยู่เเล้วมากมาย เช่น ใต้สะพานพระราม 8, พระราม 9 ก็มี ใต้สะพานต่าง ๆ ก็มี ไม่จำเป็นต้องทำล้ำลงไปในแม่น้ำเลย แค่เป็นพ็อกเก็ตพาร์กก็พอแล้ว ที่ดินของรัฐมีเยอะแยะ ที่วัด หรือที่สาธารณะประโยชน์ หรือของภาคเอกชนที่เขายินดีให้ใช้เป็นสาธารณะประโยชน์ก็ใช้ได้เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องมีทางเลียบฯ ตลอดแนวเเม่น้ำ
“ข้อสาม คือ มันจะเพิ่มปัญหาเเละต้นทุนด้านการดูแลรักษาความปลอดภัย ทางเลียบริมแม่น้ำนี้อย่างไรก็เป็นเส้นทางสาธารณะ ต้องออกแบบเป็นถนนให้รถขึ้นไปวิ่งได้ เพราะคุณต้องทำความสะอาด ถูกไหม คุณต้องเอาของไปใส่ คุณจะต้องติดไฟ หรือจะทำไม่ให้รถขึ้นไป ผมก็ไม่เห็นด้วย เพราะอย่างไรมันก็ต้องมีรถให้บริการ เกิดมีคนเจ็บป่วยบนนั้น หรือเกิดเหตุฉุกเฉินก็ต้องมีรถขึ้นไป แล้วถ้าคุณมีปัญหาเรื่องการรักษาความปลอดภัย เหมือนสะพานลอยตอนมืดที่ไม่ปลอดภัย โครงการยิ่งจำเป็นต้องมีกล้องวงจรปิด แต่คำถามคือทำไมเราต้องเอาเงินภาษีไปติดกล้องในที่แบบนี้ แล้วถ้าบอกว่าเป็นทางจักรยาน แสดงว่ารถมอเตอร์ไซค์ก็ต้องขึ้นได้สิ ต้องมียามมาเฝ้า ต้องสร้างระบบรักษาความปลอดภัยอีกมากมาย ทั้งที่แต่เดิมมันปลอดภัย เเต่พอมีโครงการกลับกลายเป็นไม่ปลอดภัย แล้วไหนจะมีต้นทุนค่าทำความสะอาด ค่าไฟฟ้า ตามมาอีก คุณมีพ็อกเก็ตพาร์กอยู่แล้ว คุณก็จบแล้วนี่”
ทางเลียบฯ คือภัยคุกคามของการบรรเทาอุบัติภัยในชุมชนริมน้ำ
“ข้อสี่ คือเส้นทางน้ำเป็นเส้นทางที่ใช้เพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งการอพยพผู้คนในยามเกิดเหตุฉุกเฉิน ตอนนี้เรือดับเพลิงเข้าไปถึงริมเขื่อนได้ ฉีดน้ำได้ไกล สามารถดับเพลิงได้ เวลามีคนเจ็บป่วยในบ้าน หรือตึกริมน้ำ เจ้าหน้าที่สามารถนำส่งผู้ป่วยลงเรือได้โดยตรง เเต่ถ้ามีทางเลียบฯ ก็จะทำให้การทำงานยากขึ้น เรือเข้าริมตลิ่งไม่ได้ ฉีดน้ำก็ไม่ได้ ความสามารถในการป้องกันภัยจากริมน้ำจะหายไป”
รู้(ทางเลียบฯ)เขา ทำไมไม่รู้เรา
“ข้อห้า คือโครงการนี้เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่ภาพจำของการท่องเที่ยวในประเทศไทยคือพื้นที่ริมน้ำอย่าง พระปรางค์วัดอรุณฯ เเละพระบรมมหาราชวังที่โดดเด่นเป็นสง่า เเซมด้วยหมู่อาคารบ้านเรือนขนาดเล็กริมน้ำ ทัศนียภาพไทย ๆ เเบบนี้ ไม่มีให้เห็นในเมืองนอก ผมเดาว่าโครงการนี้เกิดจากการไปเห็นทางเลียบแม่น้ำของเมืองนอก เเต่เราต้องตีความกันใหม่ว่าทางเลียบแม่น้ำของเมืองนอกนั้น แตกต่างจากวิถีของคนไทย คนอยู่แถบเส้นศูนย์สูตร น้ำในแม่น้ำไม่ว่าจะฤดูไหนก็ยังคงเต็มอยู่ตลอดเวลา เเละน้ำไม่เป็นน้ำแข็ง ขณะที่ประเทศอื่นที่ไม่ได้อยู่ในเส้นศูนย์สูตร น้ำในแม่น้ำแต่ละฤดูจะแตกต่างกันมาก หน้าหนาวเป็นน้ำแข็ง หน้าแล้งไม่มีน้ำ หน้าฝนระดับน้ำขึ้นสูง น้ำในแม่น้ำของเขาไม่ได้ปลอดภัย และเป็นคุณเท่ากับบ้านเรา
“เขาไม่ได้ต้องการอยู่ใกล้น้ำ เขาต้องการหนีออกไปจากน้ำ เพราะสำหรับพวกเขาน้ำคือความเสี่ยงภัย แต่ประเทศไทย ด้วยความที่ระดับน้ำต่างกันไม่มากในเเต่ละฤดู น้ำของไทยจึงเป็นคุณ ชุมชนของไทยจึงอยู่ริมน้ำ และปรับตัวเองให้สร้างบ้านยกพื้นสูง นั่นคือวิถีชีวิตเเบบไทยที่มีบ้านอยู่ริมน้ำ แล้วก็มีวัด วัง ตามมากับตัวชุมชน นั่นคือภาพจำของประเทศไทย
“นักท่องเที่ยวมานั่งเรือ เขาอยากถ่ายรูปกับภาพเหล่านี้ ไม่ได้อยากถ่ายภาพทางเลียบแม่น้ำแบบที่บ้านเขามี เท่ากับเราทำลายอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของประเทศไทย ด้วยองค์ประกอบหรือทางเลียบแม่น้ำที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนไทยเสียเลย แล้วที่บอกว่าสวยงาม เห็นรูปต่าง ๆ ที่เอามาลงแล้วดูสวยงาม คุณจะเห็นว่าระดับน้ำกับระดับของทางเดินที่ใกล้กันนั้นมันดูสวย แต่ปรากฏการณ์เเบบนั้นมีแค่ 1 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วงเวลาที่น้ำขึ้นสูงสุด ช่วงเวลาที่เหลือคุณจะได้เห็นเเต่ภาพเสาลอย ๆ มีตะไคร่น้ำเกาะเต็มไปหมด”
ทางเลียบฯ เมืองนอก ไม่รุกล้ำแม่น้ำ เหมือนทางเลียบฯ เมืองไทย
“ข้อสุดท้าย คือโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลต่อประชาชนเเละประเทศ เเต่ไม่ได้อยู่ในแผนของใครคนใดคนหนึ่งเลย ไม่เหมือนกับโครงการรถไฟความเร็วสูง ทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า ประปา สื่อสาร เขามีส่วนร่วมในการทำงานตลอดแนวรถไฟความเร็วสูง สิ่งต่าง ๆ ถูกวางระบบไว้เพื่อตอบสนองต่อการใช้งาน ในขณะที่ทางเลียบเเม่น้ำควรมีการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่ชัดเจนจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน หรือระบุผู้มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบเเละดำเนินแผนงานอย่างชัดเจน เพราะตอนนี้เรารู้เเต่หน่วยงานที่จะสร้าง เเต่หน่วยงานที่จะคอยกำกับควบคุมดูเเล อย่างหน่วยงานที่ดูแลเกาะรัตนโกสินทร์ หน่วยงานสิ่งแวดล้อม ไม่มีปรากฎ แปลว่าหน่วยงานอื่นก็ไม่ได้เอาด้วย แล้วสิ่งที่จะจัดการให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน สอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ก็ไม่มี แสดงว่าโครงการนี้เป็นโครงการโดดเดี่ยว ไม่มีใครสนับสนุน ไม่มีหน่วยงานอื่น ๆ ที่จะร่วมวางแผนการทำงาน หรือเพื่อยอมรับโครงการนี้ให้อยู่ในแผนงานของตัวเอง
“สิ่งที่จะต้องคิดคือเราจะทำอย่างไรต่อ ถ้าเรายอมรับว่าพื้นที่ริมน้ำเป็นพื้นที่ที่มีคุณภาพดี อย่างแรกที่ต้องปรับคือนำพื้นที่ของรัฐมาใช้ แต่ทำทางเลียบฯที่ล้ำไปในแม่น้ำ แม้แต่รัฐเองยังไม่ให้เลย แต่คุณจะทำให้ประชาชนคนอื่นเขาเดือดร้อน ในเมื่อพื้นที่สาธารณะของรัฐมีมากมาย พื้นที่ของรัฐก็เป็นพื้นที่สาธารณะ แล้วทำไมคุณไม่ใช้พื้นที่ของรัฐบนตลิ่งก่อน พื้นที่ภาคเอกชนที่เขาได้ประโยชน์จากพื้นที่ริมน้ำ ศูนย์การค้าทั้งหลายเขาก็ยินดีจะให้ใช้ คือผมไม่ได้คัดค้านการมีพื้นที่สาธารณะริมน้ำ แต่มันไม่จำเป็นต้องอยู่ตามตลิ่ง อยู่บนบกบริหารจัดการก็ง่าย ความปลอดภัยก็ดีกว่า ปัญหาเรื่องการไหลของน้ำ ขยะมาติดก็ไม่มี ทุนก็ไม่สูง แล้วทำไมต้องไปลงทุนขนาดนั้น”
“ย้ำอีกทีว่าเราไม่ได้คัดค้านพื้นที่สาธารณะ แต่ที่คัดค้านคือรูปแบบที่มันล้ำลงไปในแม่น้ำ ซึ่งจริง ๆ ไม่ควรล้ำ”
ทางออกของทางเลียบฯ คือการอย่าไปยุ่งกับแม่น้ำ
“นั่นคือทางออกจริง ๆ แต่ในมุมหนึ่งต่อให้ผมคัดค้านอย่างไร ในหลักการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ถ้าคุณมาเป็นผู้บริหารแล้วคุณไม่สามารถทำโครงการในความดูแลของคุณ หรือการทำงานแต่ละครั้งต้องทำประชามติ คุณก็ไม่ควรเข้ามาเป็นผู้บริหาร หรือไม่ต้องมีผู้บริหารก็ได้ เขาอยากทำก็ทำ เราแค่ให้เหตุผลในเชิงวิชาการและวิชาชีพไปว่าไม่เหมาะสมอย่างไร แล้วมหาชนจะเป็นผู้ตัดสินเอง
“ในมุมผมนะ ผมว่าเราอยู่ในยุคประชาธิปไตยเฟ้อ จะทำอะไรต้องประชามติทั้งหมด ถ้าคุณชนะการเลือกตั้งมา แล้วโครงการทั้งหลายอยู่ในอำนาจของคุณ แล้วคุณทำไม่ได้ คุณจะทำโครงการอะไรแล้วต้องมีประชามติทุกครั้ง แล้วเราจะเสียเงินเลือกตั้งกันมาทำไม แต่เราก็มีสิทธิ์ที่จะคัดค้าน คุณจะไม่ทำด้วยเสียงที่คัดค้านมันเยอะ คุณฟังแล้วมันมีเหตุผล เหมือนกับสิ่งที่ภาควิชาการวางแผนและคัดค้านจนเกิดเป็นภาคีกลุ่มต่าง ๆ นั่นเป็นเพราะเขาเห็นด้วยกับเหตุและผล
“ต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่ามี 30 กว่าภาคี ซึ่งย่อมมีความเห็นแตกต่างกัน ผมพูดแทนคนอื่นไม่ได้ บางภาคีก็ไม่เอาเลย บางภาคีก็คิดแตกต่างกัน บางภาคีก็ไปฟ้องศาลปกครองแล้ว แต่มุมมองของผม เรายอมรับว่าพื้นที่ริมน้ำมีคุณภาพ แต่เราไม่ยอมรับการล้ำลงไปในแม่น้ำ เรามาหาทางออกที่สวยงามกันดีกว่า เพื่อจะได้ไม่ก่อปัญหามากมายอย่างที่เป็นอยู่ ผมว่ามันมีทางออกนะ เว้นเสียแต่ว่าจะมีใครตั้งธง ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนทางเลียบแม่น้ำอย่างเดียว เเล้วทำอย่างอื่นไม่ได้ หรือฝ่ายที่คัดค้านว่าต้องไม่ยุ่งกับพื้นที่ริมน้ำเลย ถ้าตั้งธงกันแบบนี้ก็ไม่มีทางจบ แต่ถ้าเห็นภาพตรงกันว่าอยากได้พื้นที่ริมน้ำคุณภาพดีเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการท่องเที่ยว ฯลฯ ก็สามารถย้อนกลับมาคุยกันว่าจะเอารูปแบบไหน หากทั้งสองฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่าพื้นที่ริมน้ำเป็นพื้นที่คุณภาพดีและควรใช้งาน ผมมองว่าปัญหาอยู่ที่เราเลือกจะพัฒนามันในรูปแบบไหนต่างหาก”
ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเป็น 1 ใน 12 แผนงานใหญ่ของโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในชื่อ “Chaophraya for All” อันได้แก่
- ทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา
- ปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน
- พัฒนาท่าเรือ
- พัฒนาศาลาท่าน้ำ
- พัฒนาพื้นที่บริการสาธารณะ
- พัฒนาเส้นทางการเข้าถึงพื้นที่
- ปรับปรุงพื้นที่แนวคูคลองประวัติศาสตร์
- พัฒนาพื้นที่ชุมชน
- อนุรักษ์พัฒนาพื้นที่ศาสนสถาน
- พัฒนาพื้นที่นันทนาการและสวนสาธารณะริมน้ำ
- พัฒนาจุดหมายตา (แลนด์มาร์ก) ริมแม่น้ำ
- พัฒนาสะพานคนเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
อ่านต่อ: ทบทวนทางเลียบฯ – ทำความเข้าใจ “ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” กับแบบ “ทางเดินริมน้ำ” อื่นๆ ทั่วโลก
เรื่อง: เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ, นวภัทร ดัสดุลย์
ภาพถ่ายบุคคล: นวภัทร ดัสดุลย์
กราฟิก: ธนัญ ชิตชูสกุล