โรงแรมพังงา HOTEL GAHN ที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมบาบ๋า-ย่าหยาผ่านสเปซแห่งการพักผ่อน

HOTEL GAHN ถ่ายทอดวัฒนธรรมบาบ๋า-ย่าหยาผ่านสเปซแห่งการพักผ่อน

โรงแรมพังงา ภายใต้อาคารขนาดความสูง 5 ชั้น ที่โดดเด่นตั้งแต่ภาพด้านหน้าแห่งนี้ คือ HOTEL GAHN หรือโรงแรมกาล ซึ่งถ่ายทอดวัฒนธรรมความภูมิใจในความเป็น “บาบ๋า-ย่าหยา” หรือลูกหลานชาวจีนเลือดผสมที่ถือกําเนิดมาจากการแต่งงานข้ามเชื้อชาติระหว่างชาวจีนอพยพและชาวเมืองท้องถิ่นในพื้นที่คาบสมุทรมลายู-อินโดนีเซีย ผ่านทุกอณูของพื้นที่ด้วยเอกลักษณ์อย่างการแต่งกายชุดเสื้อฉลุลายลูกไม้ ผ้าปาเต๊ะ รองเท้าถักลูกปัด เครื่องประดับทองอันอ่อนช้อย รวมถึงรสมือการปรุงอาหารท้องถิ่น

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: STUDIO LOCOMOTIVE

โรงแรมพังงา โรงแรมไม้

โดยมีสตูดิโอออกแบบ Studio Locomotive ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ และความทรงจำดั้งเดิมเหล่านี้ ออกมาผ่านรูปแบบการออกแบบตกแต่งของโรงแรม ซึ่งมีฟังก์ชันครบครันทั้งที่พัก ร้านอาหาร และคาเฟ่รวมอยู่ด้วย จากการฟังเรื่องราวที่เจ้าของถ่ายทอดระหว่างการพูดคุยเกี่ยวกับเมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ที่สมัยก่อนพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นเมืองท่าที่สำคัญ และมีแร่ดีบุกเป็นทรัพยากรที่หาได้ง่ายในพื้นที่ จึงกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุก เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างผู้คน ในฐานะที่ที่นี่เป็นเส้นทางอพยพจากจีนมาคาบสมุทรมลายูและศูนย์กลางการค้ากับยุโรป

ซึ่งเปรียบเจ้าของโครงการคือ ผู้ที่เดินทางมากับเรือสำเภาจีน รับหน้าที่เป็นพ่อครัวประจำเรือในยุคนั้น จนกระทั่งมาตั้งรกรากบนที่แห่งนี้ เเล้วเกิดความคิดอยากส่งต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมจีนลูกผสมที่ยังพบเห็นอยู่ในเมืองตะกั่วป่าออกมาในรูปแบบของที่พัก โดยมีความตั้งใจที่จะให้แขกได้รับรู้วิถีชีวิตผ่านประสบการณ์ระหว่างการพักผ่อนและมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวเจ้าของโครงการอย่างเป็นกันเอง

การนำเสนอวิถีชีวิตผ่านการออกแบบโรงแรมกาล จึงไม่ได้มาจากการทำซ้ำตามแบบอาคารดั้งเดิม แต่เป็นการถ่ายทอดกลิ่นอายจากการจัดวางผังพื้นที่ใช้สอย การเลือกใช้วัสดุ การรักษาวัสดุ และรายละเอียดงานตกแต่งที่แสดงถึงภูมิปัญญาการก่อสร้าง ซึ่งจะเห็นได้จากประตูซุ้มโค้งเหล็กสูง 6 เมตร ที่มีลักษณะคล้ายทางเดินเชื่อมอาคารร้านค้า หรือที่เรียกว่า “หง่อคาขี่”  (五脚基) ซึ่งพบเห็นได้บ่อยตามพื้นที่ทางเดินด้านหน้าอาคารพาณิชย์เก่าแแก่ในเมืองตะกั่วป่า จนกลายเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ประจำถิ่น นำมาสู่เเรงบันดาลใจในการสื่อสารอัตลักษณ์ด้านสถาปัตยกรรมนี้ ผ่านการประยุกต์นำเเบบอย่างมาทำเป็นกำแพงด้านหน้า เพื่อทำหน้าที่สร้างความเป็นส่วนตัวให้กับแขกที่บริเวณชั้น 1 ซึ่งอยู่ติดกับถนน  โดยไม่เป็นการปิดทึบจนเกินไปสามารถยอมให้ลมธรรมชาติพัดผ่านเข้ามาในพื้นที่ใช้สอยภายใน ช่วยให้บรรยากาศปลอดโปร่งเเละเย็นสบายไปพร้อมกัน

บริเวณชั้น 1 ในส่วนของพื้นที่ต้อนรับ ร้านกาแฟ และร้านอาหารของโรงแรม เปิดให้แขกใช้พื้นที่ร่วมกันได้ จัดวางเฟอร์นิเจอร์ไม้คละรูปแบบ เด่นด้วยโต๊ะกลางขนาดใหญ่ที่ล้อมด้วยเก้าอี้หัวโล้น ทำให้ส่วนนี้ได้บรรยากาศของบ้านครอบครัวขยาย ประกอบกับตู้เก็บของความสูงเต็มผนัง สำหรับเก็บของใช้ของสะสมของคุณแม่ เสมือนเป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวของครอบครัว

ชมส่วนอื่น ๆ ต่อ คลิก