แบบอาคารเรียน สร้างสรรค์ ที่ใชัวัสดุธรรมดาสามัญมาสรรสร้างเป็นพิเศษ - room
แบบอาคารเรียน แบบโรงเรียน

อาคารเรียนสร้างสรรค์ ที่ใชัวัสดุธรรมดาสามัญมาสรรสร้างเป็นพิเศษ

ท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมที่กลายมาเป็นข้อกำจัด ทั้งเรื่องงบประมาณ ทางเลือกของวัสดุ ตลอดจนระยะห่างของที่ตั้งกับความเจริญตามหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งเป็นกำแพงกั้นขวางสำคัญในการสร้าง แบบอาคารเรียน ที่ได้คุณภาพสำหรับเยาวชนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา

หากแต่ในความร่วมมือขององค์กรหรือหน่วยงานช่วยเหลือสังคมในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ก็ทำให้เราได้เห็น “ความเป็นไปได้” ในการสร้างอาคารเรียนที่ดีพอ และพอดีสำหรับทุกคนภายใต้ข้อจำกัดมากมายผุดขึ้นอยู่หลาย ๆ แห่ง และนี่คือบางส่วนที่ room รวบรวมต้น แบบอาคารเรียน จากทั่วโลกมาให้ชมกัน

กับ 5 อาคารเรียนสร้างสรรค์ ที่ใชัวัสดุธรรมดาสามัญมาสรรสร้างเป็นพิเศษ จากประเทศเวียดนาม กัมพูชา ไทย สาธารณรัฐวานูอาตู และคอสตาริกา แต่ละแห่งนั้นไอเดียไม่ธรรมดาทีเดียว

| เวียดนาม

BÓ MON PRESCHOOL อาคารเรียนที่สร้างด้วยแผ่นหลังคาลอนเล็กยกหลัง

ภาพ: Hoang Le, Trieu Chien

Bó Mon Preschool เป็นโรงเรียนเล็ก ๆ ในแถบชนบทของเวียดนาม ที่สร้างขึ้นด้วยงบประมาณอันจำกัด โดยความร่วมมือและสนับสนุนขององค์กรไม่แสวงผลกำไร “MT Community” และโครงการระดมทุน “Pay It Forward Fund” โดยมีสำนักงานสถาปัตยกรรม “KIENTRUC O” เป็นทีมผู้ออกแบบ

ภาพ: Hoang Le, Trieu Chien

แผ่นหลังคาออนดูลินลอนเล็ก ซึ่งมีความทนทานและเหมาะกับสภาพอากาศในเขตร้อนชื้น คือวัสดุหลักที่ผู้ออกแบบเลือกใช้กับอาคารทั้งในส่วนหลังคาและผนัง หลังคาโค้งรูปทรงฟรีฟอร์มที่ดูอ่อนช้อยแต่แฝงไว้ด้วยประโยชน์ใช้สอยมุงซ้อนกันสองชั้นเพื่อกันความร้อน และสร้างระยะห่างให้อากาศได้หมุนเวียนผ่านช่องว่างเพื่อช่วยระบายความร้อนได้อีกทางหนึ่ง ทั้งยังทำหน้าเป็นชายคายื่นคลุมรอบอาคารช่วยป้องกันแสงแดดและฝนสาดเข้ามาปะทะโดยตรงได้

อ่านต่อฉบับเต็มที่นี่

| กัมพูชา

ADVENTUROUS GLOBAL SCHOOL อาคารเรียนที่ใช้ล็อกเกอร์เป็นทั้งผนังและที่เก็บของ

ภาพ : Magic Kwan, Kenrick Wong
ภาพ : Magic Kwan, Kenrick Wong

อาคารเรียน ในหมู่บ้านที่พระตะบอง ประเทศกัมพูชา โดย Orient Occident Atelier สำนักงานออกแบบจากฮ่องกงต้องการให้ที่นี่ไม่ได้เป็นเพียงอาคารเรียนแบบเน้นการบรรยายทั่วไป แต่ใช้สำหรับเป็นพื้นที่เรียนรู้ด้านการออกแบบ ก่อสร้าง รวมไปถึงความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งในระหว่างกระบวนการก่อสร้างนั้นเด็ก ๆ จะได้มีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่ ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกับทีมสถาปนิกด้วย

ภาพ : Magic Kwan, Kenrick Wong
ภาพ : Magic Kwan, Kenrick Wong

อาคารเรียน มีลักษณะสองชั้น ชั้นล่างออกแบบให้เป็นพื้นที่เเบบใต้ถุนสูง ซึ่งเป็นลักษณะบ้านเรือนดั้งเดิมของชาวกัมพูชา โดยประยุกต์เป็นห้องเรียนแบบเปิดโล่งสามารถเชื่อมต่อกับชุมชนและวิวท้องนารอบ ๆ ที่จะใช้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมการเรียนรู้ เอื้อให้เกิดปฏิสัมพันธ์กันระหว่างชาวบ้านให้ได้รับรู้ถึงกิจกรรมต่าง ๆ ของเด็ก ๆ ที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียน ทั้งยังสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมการเรียนรู้นั้น ๆ ได้ตลอดเวลาโดยไม่รู้สึกเคอะเขิน

อ่านต่อฉบับเต็มที่นี่

| ไทย

BARN KLONG BON SCHOOL & ART SPACES อาคารเรียนที่อยากให้นักเรียนมีโอกาสได้ใช้งานสถาปัตยกรรมที่ดี 

ภาพ: Ketsiree Wongwan

อาคารเรียน โรงเรียนบ้านคลองบอน (Barn Klong Bon School & Art Spaces) สถาปัตยกรรมแห่งการเรียนรู้สำหรับเยาวชนและชุมชนมุสลิมบนเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา สถานศึกษาที่ได้รับการสานฝันให้เป็นจริงโดยกลุ่มคนใจกว้างที่มุ่งหวังจะเห็นรอยยิ้มแห่งความสุขของผู้ใช้งานกลับมาเป็นผลตอบแทน

โครงการไม่แสวงผลกำไรนี้ริเริ่มขึ้นโดย The Build Foundation โดยมีทีมผู้ออกแบบจาก Vin Varavarn Architects (VVA) และเหล่าพันธมิตรในภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมแรงร่วมใจกันจน โรงเรียนบ้านคลองบอน ประสบผลสำเร็จตามความตั้งใจในวันนี้

ภาพ: Ketsiree Wongwan

จุดเด่นของอาคารเรียนหลังนี้ คือการเลือกใช้วัสดุที่หาได้ง่ายจากท้องถิ่น เช่น ประตูและหน้าต่างเลือกใช้โพลีคาร์บอร์เนตแทนกระจก ผนังอาคารทั้งภายในและภายนอกตกแต่งด้วยไม้ไผ่ วัสดุที่ใช้ต้นทุนต่ำ น้ำหนักเบา และขนย้ายง่าย แต่ช่วยให้เกิดผิวสัมผัสและแพตเทิร์นที่น่าสนใจได้เช่นเดียวกัน

อาคารเรียนหลังใหม่โรงเรียนบ้านคลองบอน หมายมุ่งให้เกิดความสมดุลระหว่างขนาดพื้นที่ใช้งานกับจำนวนของนักเรียนทั้งในระดับอนุบาลจนถึงประถมศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน เพื่อให้เป็นสถานศึกษาที่เหมาะสำหรับการเรียนการสอนได้เต็มศักยภาพ ทั้งยังสามารถรองรับกิจกรรมด้านศิลปะสำหรับนักเรียนและชุมชน เพื่อผลักดันให้อาคารหลังนี้พัฒนาไปเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปจากนี้

อ่านต่อฉบับเต็มที่นี่

| สาธารณรัฐวานูอาตู

RANWAS SCHOOL อาคารเรียนกลางป่าที่ออกแบบมาเพื่อสู้กับสภาพอากาศอันโหดร้าย

ภาพ : Katie Edwards
ภาพ : Katie Edwards

อาคารเรียน ที่เห็นนี้ตั้งอยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐวานูอาตู ประเทศที่มีลักษณะเป็นหมู่เกาะเล็ก ๆ ใกล้กับประเทศออสเตรเลีย ที่ในปี 2015 ได้เกิดเหตุการณ์พายุไซโคลนถล่มหมู่บ้านทำให้ที่นี่สูญเสีย อาคารเรียน ของหมู่บ้านไป เด็ก ๆ ต้องไปเรียนในที่พักพิงชั่วคราว จนกระทั่งองค์กร NGO ที่ให้ความช่วยเหลือผู้เดือดร้อน ได้เล็งเห็นความสำคัญของการฟื้นฟูอาคารเรียนขึ้นมาใหม่ ให้ควบรวมฟังก์ชันห้องสมุดและออฟฟิศไว้ด้วยกัน โดยมีโจทย์ว่าต้องทนทานต่อสภาพอากาศที่รุนแรงของที่นี่ได้

ภาพ : Katie Edwards

โปรเจ็กต์นี้ถูกส่งต่อให้กับ CAUKIN Studio ทีมนักออกแบบรุ่นใหม่ที่ทำงานเพื่อสังคม ทำการชักชวนอาสาสมัครเเละสถาปนิกท่านอื่น ๆ จากหลากหลายเชื้อชาติกว่า 15 คน มาทำงานร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ เกิดเป็นความร่วมมือและมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการก่อสร้างอาคารเรียนหลังนี้จนเเล้วเสร็จ โดยใช้เวลาก่อสร้างเพียง 2 เดือนเท่านั้น

และเมื่อวันที่ 6 เมษายน ที่ผ่านมา ที่นี่ได้เผชิญกับพายุไซโคลนแฮโรลด์ที่มีความรุนแรงระดับ 5 อีกครั้ง บ้านเรือนกว่า 90% บนเกาะได้รับความเสียหาย มีเพียงอาคาร 3 หลังเท่านั้นที่รอดมาได้ เเละหนึ่งในนั้นคืออาคารเรียนใหม่หลังนี้นั่นเอง

อ่านต่อฉบับเต็มที่นี่

| คอสตาริกา

CASA DE LASESTRELLAS โรงเรียนทางเลือกในคอสตาริกา ที่ออกแบบให้เด็กได้สัมผัสธรรมชาติแบบเต็มร้อย

ภาพ: Andrés GarcíaLachner (www.garcialachner.com)

ความท้าทายของที่นี่คือการนำแนวคิดการศึกษาของโรงเรียน แปลงออกมาในรูปแบบของงานสถาปัตยกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมีทั้งความโดดเด่น เปิดโล่ง ผนังโค้งดูลื่นไหล สี และวัสดุทำมาจากธรรมชาติ ดูกลมกลืนไปกับพื้นที่ป่ารอบ ๆ ให้มากที่สุด สถาปนิกจึงเลือกออกแบบอาคารเรียนเป็นแนวยาว ขนานไปกับชายหาด และรูปแบบภูมิสัณฐานของที่ตั้ง ตัวอาคารแยกออกเป็นก้อน ๆ เพื่อแบ่งการใช้งานตามระดับของชั้นเรียน ซึ่งมีความต้องการพื้นที่ใช้งานที่ต่างกัน

ภาพ: Andrés GarcíaLachner (www.garcialachner.com)

SalagnacArquitectos ผู้ออกแบบวางแผนผังของอาคารประกอบด้วยส่วนที่มีรูปทรงแบบก้นหอย ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดโล่งในส่วนของทางเข้า แล้วค่อย ๆ ปิดทีละนิดตามเส้นทางที่คดเคี้ยว จนกระทั่งถึงห้องเรียนรวมที่เด็ก ๆ จะทำกิจกรรมร่วมกัน หลังคาของอาคารส่วนก้นหอยนี้ ทำขึ้นจากโครงสร้างไม้ไผ่ให้มีลักษณะคล้ายกระโจม แล้วมุงด้วยหญ้าแห้งเป็นชั้น ๆ แทนการมุงกระเบื้อง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านทางภาคใต้ของคอสตาริกา

อ่านต่อฉบับเต็มที่นี่

เรียบเรียง: ND24