บ้านชั้นเดียว ก็ออกแบบฟังก์ชันครบ พอดีความต้องการได้
room รวม บ้านชั้นเดียว จากทั่วโลก 5 หลังที่ออกแบบได้อย่างน่าอยู่มาก จากคอลัมน์ Global Design Update มาฝากให้เป็นไอเดียในการนำไปประยุกต์วิธีคิดเข้ากับการออกแบบบ้าน หรือสร้างบ้านบนที่ดินของคุณให้มีฟังก์ชันที่คุ้มค่าทุกตารางเมตร บ้านแต่ละหลังที่เรานำมาฝาก มีการนำวัสดุธรรมดามาสร้างสรรค์ให้เกิดความไม่ธรรมดาทั้งสิ้น อาทิ บล็อกช่องลม อิฐ และไม้ มาดูกันว่าแต่ละหลังน่าสนใจขนาดไหน
บ้านชั้นเดียว ที่สร้างหลังคาซิกแซกเตรียมไว้สำหรับปลูกผักสวนครัว
นี่คือบ้านโมดูลาร์ชั้นเดียวที่มีโครงสร้างหลักเป็นไม้ทั้งหลัง ทั้งยังเป็นบ้านต้นแบบจากเเนวคิดบ้านที่มีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมของบริบทที่ตั้ง ดังเช่นหลังคาของบ้านหลังนี้ที่ออกแบบในลักษณะซิกแซก สำหรับเตรียมไว้เพื่อปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานเอง
สถาปนิกแยกส่วนพื้นที่ใช้งานและพื้นที่สำหรับปลูกต้นไม้ออกจากกัน แต่ยังคงเปิดมุมมองรับวิวธรรมชาติโดยรอบได้ พร้อมกับมีฟังก์ชันที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้อยู่อาศัย คิดรูปแบบอาคารที่เอื้อต่อการระบายอากาศที่ดี และมุ่งเน้นการประหยัดพลังงานและทรัพยากรให้มากที่สุด
อีกทั้งในการคิดและออกแบบบ้านหลังนี้ ยังสอดคล้องกับความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีการก่อสร้างตัวบ้านได้รับการสร้างเสร็จภายในเวลา 5 เดือน โดยแตะต้องสภาพแวดล้อมเดิมน้อยที่สุด นอกจากนี้ระบบโมดูลาร์ยังคิดมาเผื่อไปถึงกรณีการย้ายถิ่นฐานในอนาคต เจ้าของสามารถรื้อถอนได้ง่าย ใช้เวลาเพียงไม่กี่วันก็พร้อมเคลื่อนย้ายไปตั้งที่อื่นได้เลย โดยไม่ทำให้ระบบนิเวศเเละสภาพแวดล้อมเดิมเสียหาย หรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
อ่านเนื้อหาฉบับเต็มได้ที่ https://web.facebook.com/roomfan/posts/10158646465886419
Casa de Madera ออกแบบโดย Estudio Borrachia | https://www.estudioborrachia.com/
ภาพ: Fernando Schapochnik
VDO: https://vimeo.com/184046260
บ้านชั้นเดียวที่ออกแบบกลมกลืนธรรมชาติกลางทุ่งกว้าง
ในบริบทแวดล้อมที่เต็มไปด้วยธรรมชาติอันน่าอิจฉานี้ เป็นที่ตั้งของบ้านตากอากาศหลังน้อยซึ่งเป็นความตั้งใจของผู้เป็นเจ้าของที่ต้องการสร้างสถานที่พักผ่อนให้ห่างออกจากการใช้ชีวิตในเมือง มาสู่อ้อมกอดของธรรมชาติเเละบรรยากาศอันเงียบสงบ
แนวคิดในการออกแบบของทีมสถาปนิก คือการสร้างบทสนทนาซึ่งกันและกันระหว่างสถาปัตยกรรมกับธรรมชาติโดยรอบ ผ่านการสร้างบ้านที่มีความเรียบง่ายและต้องการการบำรุงรักษาน้อยที่สุด ที่สำคัญคือต้องมีความใกล้ชิดกับทัศนียภาพและผืนดินกลิ่นหญ้า
วัสดุที่ใช้จึงเป็นมีความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม เด่นด้วยกำแพงบล็อกหินจากหินในเหมืองแร่ละแวกใกล้เคียง ร่วมด้วยดิน ไม้ และกระจก โดยวัสดุทุกชนิดจะไม่ถูกปรุงแต่งใด ๆ เลย โครงสร้างเปิดช่องโปร่งรับวิวเต็มสายตาเอื้อต่อการพักผ่อนเป็นอย่างดี
อ่านเนื้อหาฉบับเต็มได้ที่ https://www.baanlaesuan.com/193290/design/living/aculco-house
Aculco ออกแบบโดย PPAA Pérez Palacios Arquitectos Asociados โดย Pablo Pérez Palacios + Alfonso de la Concha Rojas, Miguel Vargas, José Luis Jiménez | https://www.perezpalacios.mx/en
ภาพ: Rafael Gamo
บ้านชั้นเดียว ที่ออกแบบให้เป็นที่อยู่ของความเงียบ
The House of Silence ตั้งอยู่ในเมือง Quevedo ในจังหวัด Los Ríos ประเทศเอกวาดอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองเศรษฐกิจการค้าที่มีสถานที่ท่องเที่ยวอันยอดนิยมของประเทศ แต่ในขณะเดียวกันจุดเด่นดังกล่าวก็แลกมาด้วยการเป็นเมืองที่มีเสียงดัง สร้างความรบกวนต่อการใช้ชีวิตเเละพักผ่อนอยู่ไม่น้อย
แนวคิดในการออกแบบบ้านหลังนี้ของทีมสถาปนิก จึงตั้งต้นมาจากการสร้างพื้นที่เพื่อหลบภัยจากมลภาวะทางเสียง ออกแบบบ้านให้มีมุมนั่งเล่นกลางคอร์ตยาร์ดที่ขนาบด้วยกล่องอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งเป็นส่วนใช้สอยหลักของบ้าน ตัวอาคารเลือกวัสดุอย่างไม้ที่เหมาะกับพื้นที่เขตร้อน จำลองบ่อน้ำและสวนหิน เพื่อเป็นพื้นที่ธรรมชาติเเบบส่วนตัว ให้ผู้อาศัยได้ฟังเสียงของตัวเอง อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ดี
นอกจากความเงียบสงบอันเป็นจุดตั้งต้นของการออกแบบ ที่นี่ยังเป็นบ้านที่ออกแบบมาเพื่อให้เอื้อต่อการสร้างความสัมพันธ์ภายในครอบครัว โดยมีลานกลางแจ้งสำหรับให้หลาน ๆ ได้วิ่งเล่น พร้อมกับแสงและลมที่ลอดผ่านช่องเปิดบนหลังคาและผนังบล็อกช่องลมเข้ามา ช่วยสร้างบรรยากาศน่าพักผ่อน
อ่านต่อฉบับเต็มได้ที่ https://web.facebook.com/roomfan/posts/10158689605386419
The House of Silence ออกแบบโดย Natura Futura Arquitectura (https://naturafuturarq.com/)
ภาพ: Lorena Darquea
บ้านชั้นเดียวล้อมคอร์ตยาร์ด ที่เจาะช่องหลังคาหลบหลีกต้นไม้ และมีดาดฟ้ากว้างเป็นสวนเขียว
บ้านชั้นเดียวที่ตั้งอยู่ในเมืองเซา เปาโล ประเทศบราซิล บนที่ดินในลักษณะเป็นที่ราบขนาดกว้างถูกใช้พื้นที่เป็นสวนผลไม้พื้นถิ่นหลากหลายชนิด
ซึ่งไอเดียของทีมสถาปนิก คือการสร้างสถาปัตยกรรมหลบหลีกและอยู่ร่วมกับภูมิทัศน์เดิมที่มีอยู่ให้ได้มากที่สุด พวกเขาจึงเลือกเก็บรักษาต้นไม้ใหญ่ไว้ แล้วเปิดช่องอาคารให้ต้นไม้สามารถขยายกิ่งก้านสาขาได้ โดยไม่กระทบกับโครงสร้างอาคาร พร้อมกับได้รับการออกแบบและแบ่งพื้นที่ใช้สอยกว่า 248.50 ตารางเมตร โดยให้ความสำคัญกับการแทรกตัวพื้นที่สีเขียวแซมลงไปในทุกหย่อมหญ้าของบ้าน
จุดเด่นของบ้านหลังนี้คงจะหนีไม่พ้นบรรดาช่องเปิดต่าง ๆ ทั้งจากพื้นที่หนึ่งไปสู่พื้นที่หนึ่งระหว่างอาคารเดียวกัน มีพื้นที่ภายในต่อเนื่องกับพื้นที่ภายนอก เเละจากพื้นชั้นล่างขึ้นไปจนถึงชั้นบนของหลังคาที่เป็นดาดฟ้าและสวนสีเขียว ช่วยลดทอนความกระด้างดิบของสัจวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอย่าง คอนกรีตเปลือย บล็อกคอนกรีต และอิฐช่องลมได้อย่างดี
อ่านเนื้อหาฉบับเต็มได้ที่ https://web.facebook.com/roomfan/posts/10158689605386419
Jabuticabeiras House ออกแบบสถาปัตยกรรมโดย: Terra e Tuma Arquitetos Associados โดย Danilo Terra, Pedro Tuma, Fernanda Sakano และ Juliana Terra | www.terraetuma.com | Terra e Tuma | arquitetos associados
.
ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม: Gabriella Ornaghi Arquitetura da Paisagem | www.gabriellaornaghi.com.br
ก่อสร้าง: do.Construtora
รับเหมา: Escudero consultoria e planejamento
ภาพ: Pedro Kok | www.pedrokok.com
บ้านชั้นเดียว ก่อบล็อกช่องลมเปิดโปร่ง และมีสวนในบ้าน
บ้านจากเวียดนามกลางหลังนี้ ออกแบบโดยคำนึงถึงสภาพอากาศแบบร้อนชื้น โดยเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมกับการระบายอากาศอย่าง “บล็อกช่องลม” เป็นวัสดุหลัก พื้นที่ภายในออกแบบให้เปิดรับสภาพอากาศภายนอกได้ โดยไม่มีการใช้เครื่องปรับอากาศใด ๆ เนื่องจากบล็อกช่องลมที่นำมาใช้ทำหน้าที่เป็นเปลือกอาคารทั้งด้านหน้าเเละด้านข้างนั้น เป็นวัสดุที่ยอมให้เเสงเเละลมลอดผ่านเข้ามาสู่ตัวบ้านได้
ขณะเดียวกันก็ยังคงไว้ซึ่งความเป็นส่วนตัวอยู่ เเต่เมื่อมีทางลมเข้า ย่อมต้องมีทางลมออก สถาปนิกจึงออกแบบพื้นที่หลังบ้านให้ลมสามารถระบายออกได้ผ่านทางระเบียงห้องนอน นอกจากนั้นการออกแบบให้มีบานกระจกด้านหลังบล็อกช่องลมที่เปิดออกได้ ในส่วนของหน้าบ้านเเละห้องนอนด้านหลัง ยังช่วยควบคุมปริมาณลมที่จะไหลผ่านเข้ามา ว่าจะมากหรือน้อยได้ตามความต้องการ เพื่อมอบอากาศที่เย็นสบายไม่อึดอัด สามารถพักอาศัยอยู่ในบ้านได้ตลอดวัน
พิเศษด้วยการออกแบบให้ภายในมีการจัดสวนหย่อมเล็ก ๆ 3 จุด ได้แก่บริเวณส่วนรับแขก ระเบียงห้องนอน และพื้นที่หลังบ้าน โดยในส่วนของสวนหย่อมบริเวณรับแขกนั้น สถาปนิกได้เลือกเปิดช่องสกายไลท์จากหลังคา เพื่อให้แสงธรรมชาติสาดลงมายังต้นไม้ที่ปลูกอยู่ในสวนได้ในยามเช้า เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพรรณไม้ที่เลือกนำมาปลูก
ภาพรวมคุมโทนด้วยสีขาวและไม้เป็นหลัก ร่วมกับสีปูนของบล็อกช่องลมและพื้นปูนขัดมัน นอกจากนั้นยังมีลวดลายจากแสงแดดในยามเย็นลอดผ่านบล็อกช่องลมเข้ามา ช่วยเติมเต็มบรรยากาศให้มีมิติสวยงาม โดยเเสงเงาจะค่อย ๆ ขยับองศาไปเรื่อย ๆ ตามเวลาที่เคลื่อนไปจนกว่าพระอาทิตย์จะลาลับ
อ่านต่อฉบับเต็มได้ที่ https://web.facebook.com/roomfan/posts/10158506092361419
ออกแบบ : Khuon Studio
ภาพ : Khuon Studio
เรียบเรียง: ND24