SOP CAFÉ คาแฟ่สีสนิมลุคดุดันที่ขอลงสนามเป็นหมุดหมายใหม่ของการเดินทางไปยังโพธาราม จังหวัดราชบุรี ที่นี่มีจุดเริ่มต้นมาจากเจ้าของอย่าง คุณตี๋-มิตรชัย พงศ์เนตรวิไล จากตอนแรกที่ตั้งใจหาทำเลสวยเพื่อสร้างบ้านพักตากอากาศ จนมาพบกับที่ดินขนาดเกือบ 4 ไร่ ริมแม่น้ำแม่กลองผืนนี้ ทำให้ต้องเลือกพับโครงการบ้านพักไว้ก่อน แล้วเปลี่ยนมาเป็นคาเฟ่สุดเท่แทน เพียงเพราะคิดว่า “ทำไมเราไม่แชร์ให้คนอื่นได้เห็นวิวสวย ๆ บ้าง”
DESIGNER DIRECTORY :
ออกแบบ : Backyard Architect
SOP CAFÉ มีที่มาจาก “Sense of Place” หรืออีกนัยหนึ่งคือสถานที่ที่อบอวลไปด้วยจิตวิญญาณ เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่ทำให้ผู้ใช้งานเข้ามาแล้วรู้สึกดี เช่นเดียวกันกับเรา ทันทีที่ก้าวเข้ามาในอุโมงค์สนิมขนาดยาวกว่า 50 เมตร เราก็รับรู้ได้ถึงความรู้สึกเหล่านั้นจริง ๆ พร้อมกับยังสร้างความเซอร์ไพร้ส์ให้ไม่น้อย ด้วยแสงที่สาดส่องเข้ามาและเงาที่พาดผ่านไปยังพื้นผิวอย่างเป็นอิสระ
โดยเส้นสายแสงเงาที่เกิดขึ้นนั้น เป็นฝีมือสถาปนิกชาวนครปฐมอย่าง คุณมีชัย เจริญพร จากสำนักงานออกแบบ BackYard Architect ที่มาเติมเต็มความดิบให้กับสถาปัตยกรรมแห่งนี้ โดยมีวัสดุหลักคือ “เหล็ก” ตามที่เจ้าของชื่นชอบ
“ผมโทรคุยกับคุณมีชัยครั้งแรก ผมถามว่าคุณออกแบบสไตล์โมเดิร์นใช่ไหม เขาตอบผมมาว่า เขาไม่ใช่สไตล์โมเดิร์น แต่เป็นแนวทันสมัย คือความทันสมัยเนี่ยมันแปลว่า ตลอดไป ไม่มีวันจบสิ้น ถ้าสิ่งปลูกสร้างที่มีสไตล์ หรือเป็นรูปแบบต่าง ๆ มันจะมีวันเวลาของมัน ผมเลยตัดสินใจให้เขามาเป็นคนออกแบบที่นี่ให้”
หลังจากตอบรับโจทย์อันท้าทายกับ “สิ่งใหม่” ที่กำลังจะเกิดขึ้น คุณมีชัยจึงทำการศึกษาประวัติศาสตร์ของพื้นที่ พบว่าในสมัยที่พระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพไปรบกับพม่า ท่านเลือกให้โพธารามเป็นศูนย์ตีดาบ ตีเหล็ก ตีเกราะ และเป็นคลังอาวุธแถว ๆ ถ้ำมรกต เกิดเป็นความเชื่อมโยงที่ว่าพื้นที่ตรงนี้มีความเกี่ยวข้องกับเหล็กมาเป็นเวลานาน จึงนำประวัติศาสตร์ที่ได้รับรู้มาผสานเข้ากับ “ความดิบ” ที่เจ้าของให้โจทย์มาพอดิบพอดี
นำไปสู่การวางผังคร่าว ๆ จากการสำรวจพื้นที่ไซต์ที่ค่อนข้างกว้าง พร้อมกับเก็บรักษาต้นไม้เดิมในพื้นที่ไว้ให้มากที่สุด เช่น ต้นกระทุ่มน้ำเก่าแก่ เพื่อสร้างร่มเงาและบรรยากาศเขียวชอุ่ม โดยผู้ออกแบบต้องการสร้างความน่าสนใจให้กับคนที่ก้าวเข้ามาได้โฟกัสกับอะไรบางอย่าง ก่อนจะไปพบกับวิวต้นไม้และแม่น้ำแม่กลองที่อยู่ปลายสุดสายตาด้านหลัง ด้วยการออกแบบอุโมงค์เหล็กจากปากทางเข้าให้ทอดยาวไปสู่ด้านในกว่า 50 เมตร เพื่อพาคุณค่อย ๆ เดินช้า ๆ สัมผัสกับมิติแสงเงาและสีสนิมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอย่างไม่สม่ำเสมอกัน ก่อนจะเปิดมุมองออกสู่วิวยอดไม้ที่ปลายสุดของอุโมงค์ ได้หยุดชื่นชมบรรยากาศสักพักหนึ่ง แล้วจึงค่อยเดินลงบันไดไปยังชั้นล่าง
เมื่อหลุดจากอุโมงค์มิติมาแล้วจะพบกับความเซอร์ไพร้ส์ซ้ำสองด้วยบ่อน้ำรูปวงกลม โดยเส้นโค้งที่เห็นจะช่วยดึงสายตาของคุณให้ไปหยุดที่ต้นไม้ขนาดใหญ่แทน ส่วนน้ำที่ใช้ในสระก็เป็นน้ำที่สูบจากน้ำแม่กลองขึ้นมา เพื่อดึงความเป็นธรรมชาติเข้ามาใกล้เราให้มากที่สุดอย่างไร้การปรุงแต่ง ระบบน้ำของสระใช้ระบบน้ำล้นที่มีการหมุนเวียนน้ำกลับคืนสู่ธรรมชาติดังเดิม ทำให้สีของน้ำในบ่อเปลี่ยนไปตามฤดูกาลของน้ำในแม่น้ำเช่นกัน
อีกหนึ่งความตั้งใจที่เจ้าของอยากเล่าคือเรื่องของ “ธรรมชาติ” หลังจากตัดสินใจเลือกใช้เหล็กเป็นวัสดุหลักแล้ว วัสดุนี้ยังมีความเป็นธรรมชาติในตัวเอง กล่าวคือเป็นวัสดุที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสีสันและสนิมที่เกิดขึ้น รวมถึงการผุกร่อนของเนื้อเหล็ก จากความงามตามกาลเวลาดังกล่าว จึงได้รับการนำมาผนวกเข้ากับแสงธรรมชาติจากดวงอาทิตย์ที่เปลี่ยนไปตามเวลาเช่นกัน เกิดเป็นช่องแสงจากด้านบนที่เจาะเป็นเส้นเฉียงตัดกันบ้าง วางขนานกันบ้าง เมื่อมีแสงสาดเข้ามาไล่ตั้งแต่เช้าจรดเย็น คุณจะพบการเปลี่ยนแปลงภายในเหมือนกับว่าอุโมงค์นี้มีชีวิตอย่างไรอย่างนั้นเลย
“งานออกแบบครั้งนี้ผมคิดว่ามันไม่ใช่สไตล์ แต่คือการเลือกใช้ให้ถูกที่ถูกเวลามากกว่า เราพยายามหาวัสดุที่เป็นตัวของเขาเอง ไม่ต้องไปประดิษฐ์เขามาก วัสดุหลาย ๆ อย่างเขาดีของเขาอยู่แล้ว แต่คุณมักไปประดิษฐ์เขาทำให้ความงามที่ควรจะเป็นถูกจำกัดลง การปล่อยให้วัสดุมีความไม่เรียบร้อย มีสนิม หรือแตกลายงา ผมว่านั่นคือเสน่ห์ แต่บางคนเขารับในสิ่งที่เป็นนี้ไม่ได้ แค่นั้นเอง
“ผมมีความคิดว่าทำไมเราไม่นำสิ่งที่เขาเป็น มาทำให้เกิดความสวยงาม ก็เลยลองหยิบพวกงานดิบ ๆ มาใช้ แล้วพบว่ามันท้าทายดี การเกิดเอฟเฟ็กต์ขึ้นมานั้นไม่ได้เกิดเพราะเรา แต่เกิดเพราะเขา เกิดเพราะวัสดุนั้นทำให้เกิด ผมรู้สึกว่าน่าสนใจกว่าความรู้สึกที่ดูเรียบเนียน ซึ่งต้องใช้การดูแลรักษาอยู่ตลอดเวลา”
ในแง่ของการเลือกใช้วัสดุนอกจากเหล็กแล้ว ยังเลือกใช้ไม้เก่าที่คงทิ้งรางลิ้นไว้ให้เห็นมาปูเป็นพื้น โดยเลือกที่จะไม่ตัดไม้ให้เกิดเศษขยะ ไม่ขัด ไม่ทำสีใด ๆ แม้จะดูไม่เรียบร้อย แต่กลับเป็นความตั้งใจที่อยากจะโชว์เสน่ห์ของวัสดุเสียมากกว่า เพราะเชื่อว่าความงามไม่ต้องสมบูรณ์ไปเสียทุกอย่างก็ได้
ในอนาคตคุณตี๋มีแพลนที่จะขยายต่อเติมที่นี่เป็นที่พัก พร้อมเปิดเป็นสถานที่จัดอีเว้นต์เล็ก ๆ โดยวางตำแหน่งไว้ให้อยู่บริเวณสนามหญ้าสองฝั่งของอุโมงค์ ด้วยการที่อุโมงค์มีความทึบเช่นนี้ จึงสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับห้องพัก พร้อมกับทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมต่อไปยังส่วนอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย
คุณมีชัยได้ทิ้งท้ายกับเราไว้ว่า “เวลาของงานผมจริง ๆ ผมอาจจะใช้เวลาอีก 10 ปี ข้างหน้า แล้วผมจะมาถ่ายรูปอีกครั้ง ผนังอาจจะมีรูเล็ก ๆ ที่เกิดจากการกัดกร่อนและผุพังไปตามกาลเวลา เพราะเราไม่ได้เคลือบ โดยตอนนี้เราไม่รู้เลยว่าอนาคตมันจะเกิดรูผุพังตรงไหน อันนั้นแหละคือเสน่ห์ในพาร์ทของ 10 ปีข้างหน้า”
หวังว่า SOP CAFÉ จะเป็นสถานที่สำหรับใครที่กำลังมองหาอะไรใหม่ ๆ ในการสร้างแรงบันดาลใจอะไรบางอย่าง หรือหากอยากได้ที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับใครที่กำลังเหนื่อยล้า แค่ขับรถมา “ซบ” อิงกับธรรมชาติและกล่องเหล็กกล่องนี้ รับรองจะช่วยให้อบอุ่นหัวใจขึ้นได้แน่นอน
เจ้าของ: คุณมิตรชัย พงศ์เนตรวิไล
ออกแบบ: BackYardArchitect
เรื่อง: Woofverine
ภาพ: นันทิยา