เรามักจะหลงเสน่ห์ลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์สะท้อนผ่านผลงาน ก่อนได้รู้จักตัวตนของศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานเสียด้วยซ้ำ “ ผลงานสะท้อนตัวตนของศิลปิน ” ได้จริงอย่างที่ใคร ๆ บอกไว้หรือเปล่า วันนี้ my home พาไปเยี่ยมสตูดิโอ พร้อมพูดคุยถึงการเดินทางบนถนนที่ขีดด้วยลายเส้นพริ้วไหว ของดีไซเนอร์สาว ผู้เป็นเจ้าของลายเส้นอ่อนช้อย ราวกับเส้นเหล่านั้นปลิวไสวล้อไปกับสายลมของเธอ Pomme Chan หรือ ปอม-ธัชมาพรรณ จันทร์จำรัสแสง
จากเส้นร่างดินสอ ค่อย ๆ วาดทับด้วยหมึกสีดำจนเป็น ปอม ชาน
การเดินทางบนเส้นทางศิลปะของอดีตนักศึกษาคณะมัณฑนศิลป์ จากรั้วสีเขียวเวอร์ริเดียน ที่เคยลากเส้นดินสอไกด์ไลน์เอาไว้ ค่อย ๆ ถูกลากเส้นทับด้วยปากกาหมึกสีดำ จนเส้นเริ่มคมและชัดขึ้นเรื่อย ๆ เธอใช้กว่า 17 ปี ในการทดลองเป็นปอมชานในหลาย ๆ เวอร์ชั่น ทั้งอินทีเรีย , จูเนียร์กราฟฟิก จนเธอตัดสินใจบินไปศึกษาอนุปริญญาต่อที่ประเทศอังกฤษ หลังจากการตัดสินใจออกบินในครั้งนั้น ทำให้เธอเริ่มมีผลงาน จนเป็นที่รู้จักในวงการศิลปะฐานะนักภาพประกอบ 3 ปีที่ไกลบ้านเป็นช่วงเวลาที่เธอค่อย ๆ บรรจงลงหมึกบนเส้นทางสายนี้ จนได้ร่วมงานกับแบรนด์ดัง ๆ ระดับโลกอย่าง MTV, The New York Times , Topshop, Nike, Adidas, Sony, BMW, ฯลฯ
จากอินทีเรียนสู่การทำงานแบบไฟน์อาร์ต แล้วกระโดดข้ามสู่ท้องทะเลของงานแบบคอมเมอร์เชียลขั้นตอนการทำงานและวิธีคิดงานของเธอได้เปลี่ยนไปบ้างมั้ย
“งานคอมเมอร์เชียล สำหรับปอม คือการทำงานตามโจทย์ลูกค้า ปอมจะดูก่อนค่ะว่าตัวแบรนด์ต้องการอะไร แล้วเราทำอย่างไรเพื่อจะแมตซ์งานของปอมเข้ากับแบรนของเขาได้ แต่ถ้าเป็นงานแบบไฟน์อาร์ต มันจะเป็นการสร้างงานจากใจของเราซะมากกว่า ตัวปอมเองไม่ใช่ไฟน์อาร์ตติส ปอมจะมีติ่งหนึ่งที่คำนึงถึงลูกค้าเสมอ ถ้าลูกค้าให้โจทย์มาว่า ให้ปอมวาดอะไรก็ได้ ปอมจะถามก่อนว่าวาดประมาณนี้นะ โอเคมั้ยคะ ? ปอมพยายามจะตั้งกรอบขึ้นเล็ก ๆ ขึ้นมาให้ลูกค้าเห็นภาพเดียวกับที่ปอมเห็นเสมอ”
“ ขั้นตอนการทำงานของลักษณะงานทั้งสองอย่างแตกต่างกันแบบชัดเจนเลยค่ะ ปัจจุบันปอมทำงานทั้งสองอย่าง ทั้งงานแบบไฟน์อาร์ตที่ใช้มือเพ้นท์ กับงานแบบคอมเมอร์เชียล ความแตกต่างมันต้องมาตั้งแต่ระบบความคิดเลยค่ะ ปอมว่าเราต้องมองเห็นปลายทางก่อน ว่าภาพสำเร็จมันควรจะต้องเป็นแบบไหน พอเห็นปลายทางแล้ว ปอมถึงค่อยกลับมาคิดว่าเราจะเริ่มกระบวนการวาดอย่างไรดี ปอมอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีมันเคยช้ากว่าตอนนี้มาก ๆ กว่าจะออกมาเป็นงานมันต้องผ่านการคำนวณและใช้เวลากับมัน แต่พอมีเทคโนโลยีเข้ามาทำให้ขั้นตอนการสร้างงานนั้นต่างกันไป แต่ปอมมองว่ามันช่วยเสริมกันนะคะ เมื่อก่อนก็วาดเส้นด้วยมือ แต่เดี๋ยวนี้ก็วาดบนคอมไปเลย ใส่ลูกเล่นให้ดูน่าสนใจขึ้นได้ ก็นับว่าแนวใหม่ที่ปอมก็เพิ่งมาเจอ มันก็คือการทำงานใหม่จากลายเส้นเดิม ทำให้ได้ความรู้สึกที่แตกต่างกันไป ”
อาชีพนักดมกระดาษของปอมชาน
“ ปอมเป็นมนุษย์ดมกระดาษ ทุกประเทศที่เดินทางไป ปอมจะต้องไปซื้ออุปกรณ์ ซื้อกระดาษกลับมาอยู่เรื่อย ไปลองจับเท็กเจอร์ของกระดาษแต่ละชนิด บางทีเราก็จะลองเล่นสีกับกระดาษชนิดใหม่วนไปเรื่อย ๆ ปอมรู้สึกเหมือนเขามีชีวิต มีคาแรคเตอร์ที่แตกต่างกัน ต่างกับงานในไฟล์แบบดิจิตัล โปรแกรมทุกโปรแกรมมันมี UNDO สำหรับปอมมันแค่นี้เลยค่ะ พอเราทำงานในคอม เราผิดพลาดเรากด UNDO ได้ แต่ปอมกลับชอบความผิดพลาดแบบนั้นนะคะ ปอมรู้สึกว่าสีที่เกยขอบขึ้นมา ความไม่เรียบเนียนนั้นมันมีเสน่ห์ ถ้าเนียนกริ๊บไปเลยนั้นคือคอม ใคร ๆ ก็ทำได้ถ้ามีโปรแกรม ทุกคนมีเครื่องมือที่เหมือนกันหมด แต่งานเพ้นท์มือมันไม่ใช่ ลายเส้นแบบนี้จากการตวัดข้อมือแบบนี้มันมีได้แค่คนเดียว ”
จะเป็นนักรบ ดาบต้องคมอยู่เสมอ
“ แค่เปลี่ยนปากกาอารมณ์ของงานก็เปลี่ยนแล้ว เพราะฉะนั้นปอมจะใส่ใจเรื่องการเลือกอุปกรณ์มาสร้างงานมาก ทุกอย่างที่ปอมเลือกใช้มันมีเหตุผล ทำไมต้องทำส่วนนี้ด้วยคอม ทำไมต้องทำส่วนนี้ด้วยมือ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราจบงานด้วยดิจิตอลเราต้องอาศัยเพื่อนที่ดีที่สุดเลยคือเครื่องปริ้นท์ สำหรับปอมนะคะ “เวลาสำคัญกว่าเงิน” ถ้าเรามีปริ้นท์เตอร์ที่ดี ก็เหมือนมีคนจบงานให้เราดี เราจะไม่เสียเวลาแก้งาน นั่นเท่ากับเราสามารถติดตั้งวอลเปเปอร์ลูกค้าได้เร็วขึ้น เมื่อเราทำหนึ่งบ้านได้เร็วขึ้น เราทำยอดได้เพิ่มขึ้นในหนึ่งเดือน เพราะฉะนั้นการแก้บรูฟให้ได้น้อยที่สุดนั้นคือการเซฟเวลา ปริ้นท์เตอร์ที่ดีจะพิมพ์สีออกมาได้อย่างคมชัด ไม่ว่าจะปริ้นลงบนกระดาษ , ผ้า หรือวัสดุแบบไหนก็ตาม เวลาปอมเอาชิ้นงานตัวอย่างไปให้ลูกค้าดู ก็มีความคาดหวังว่าสิ่งที่เป็นตัวอย่าง กับงานจริงจะใกล้เคียงกันมากที่สุด ”
“ ปริ้นเตอร์ที่สามารถพิมพ์บนแคนวาสได้คุณภาพที่ดี สำหรับปอมนั้นหายาก สิ่งแรกที่ปอมต้องคำนึงในฐานะคนสร้างงานคือระบบการพิมพ์ เวลาที่สีถูกพิมพ์ลงบนวัสดุที่ลักษณะไม่เรียบ ผิวสัมผัสนั้นจะมีช่อง มีรู ซึ่งถ้าเนื้อสีไม่แน่นจริง สีจะไม่เกาะ มันจะทำให้ผลงานดูไม่เนี๊ยบ ขอบฟุ้ง ๆ และสีไม่ติดทนนาน แต่เมื่อเนื้อสีเกาะและซึมลงบนแคนวาสได้มากพอจากระบบพิมพ์ที่ดี ชิ้นงานที่ได้จะดูประหนึ่งเป็นออริจินัลอาร์ตเวิร์คขึ้นมาเลยค่ะ มันเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับงานอีกอย่างหนึ่ง เก็บไว้ได้นานหลายสิบปีโดยที่สีไม่ซีดจาง และข้อดีทั้งหมดนั้นปอมหาได้จาก Epson S-Series ”
ด้วยเทคโนโลยี หัวพิมพ์ที่เขาพัฒนาขึ้นมาทำให้งานพิมพ์มีประสิทธิภาพและมันยังช่วย ตอบโจทย์งานพิมพ์ที่ต้องการความแม่นยำของสีที่ค่อนข้างสูง เพราะสามารถพิมพ์ไล่ระดับสีได้อย่างเรียบเนียน ให้สีถูกต้องแม่นยำ คมชัด เม็ดสีเนียนเรียบ และนอกจากนี้ยังสามารถพิมพ์ลงบนวัสดุได้หลากหลาย ทั้งพิมพ์ลงวอลเปเปอร์ , แคนวาส , ไวนิล หรือ PU ก็ได้เช่นกัน ไม่เพียงแต่เทคโนโลยีการพิมพ์เท่านั้น Epson S-Series ยังมีหมึกพิมพ์แบบ Eco-Solvent หมึกพิมพ์รุ่นใหม่จาก Epson ที่มีคุณสมบัติแห้งเร็วขึ้นกว่าเดิม ให้ช่วงสีที่กว้างขึ้นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาพร้อมกับระบบแท็งค์หมึกขนาดใหญ่ ช่วยประหยัดเวลาและลดขั้นตอนการดูแลรักษาเครื่องปริ้นเตอร์ที่เคยยุ่งยากให้ง่ายขึ้น และด้วยคุณสมบัติที่ดีเหล่านี้ ไม่แปลกใจเลยค่ะที่ Epson S-Series จะถูกเลือกเป็นตัวช่วยในการต่อยอดความคิดของเหล่าดีไซน์เนอร์ ให้ออกมาเป็นผลงานได้มากขึ้นในเวลาที่น้อยลง
ปอม ชาน ในอนาคต จากสายตาของ ปอม ชานเวอร์ชั่น 2020
“ อนาคตมันเปลี่ยนไปตลอดเลยค่ะ ก่อนไปเรียนต่อที่อังกฤษ ปอมเคยคิดไว้ว่าจะเปิดแกลลอรี่ ในนั้นจะเอาละครใบ้มาเล่น จะสนับสนุนวัฒนธรรมไทย จะมีกิจกรรมมากมาย นั้นคือความคิดตอนปี 2001 แล้วมันก็เปลี่ยนไป จนตอนนี้ปี 2020 ปอมมีน้องคนนี้เกิดขึ้น ปอมมี swoon มีอะไรที่ปอมไม่ได้ตั้งใจแพลนมันอย่างสุด ๆ ย้อนไปเมื่อห้าปีที่แล้วก็แพลนว่า อีกห้าปีข้างหน้าฉันจะต้องอยู่ Art Basel ในฐานะไฟน์อาร์ติสท์ให้ได้เลย แล้วอยู่วันหนึ่งตื่นมาก็รู้สึกว่าไม่จำเป็นอีกต่อไป มันไม่ใช่จุดหมายอีกต่อไปแล้ว ปอมสามารถตอบได้แค่ว่าในแต่ปี ปอมตั้งใจว่าจะเป็นคนที่ดีขึ้น และตั้งใจว่าจะทำงานที่มีคุณค่าขึ้น หลัง ๆ มานี้ปอมอยากให้คนพูดถึงว่าปอมเป็นคนดี ไม่ได้อยากให้คนพูดถึงเราแค่เรื่องงานด้วยซ้ำ ปอมว่าจะดีใจมากเลยนะคะ ถ้ามีคนบอกว่าพี่ปอมนิสัยดี พี่ปอมให้คำปรึกษาที่ดี หรือแบบงานพี่ปอมงานนี้มีคุณค่าอยู่ได้อีกสิบปี ปอมอยากได้ฟีดแบคที่สื่อถึงความเป็นมนุษย์ มากกว่างานที่แสดงออกไปอย่างเดียว ถ้าถามเมื่อห้าปีหรือสิบปีที่แล้ว คำตอบก็จะเป็นแบบนั้น ปอมอยากประสบความสำเร็จ เป็นนักภาพประกอบเบอร์ต้น ๆ แต่มันเหมือนเรากำลังวิ่งขึ้นบนบันไดไปเรื่อย ๆ ในหัวมีคำว่า “แล้วยังไงต่อ” แต่ตอนนี้ปอมมองภาพที่เรา กำลังเดินขึ้นบันไดไปกับทั้งทีม เราไม่ต้องวิ่งขึ้นแบบเมื่อก่อน บางทีเราก็แวะพักขั้นนี้แล้วมองรอบข้างบ้าง มันไม่ต้องวิ่งขึ้นบันไดไปเพื่อพบกับคำว่าแล้วไงต่ออีกแล้ว ”
ถึงตอนนี้ my home ไม่แปลกใจแล้วค่ะว่า ทำไมเรามักจะสัมผัสถึงไอของความสุข รอดผ่านสายเส้นพริ้วไหลเหมือนสายน้ำของเธออยู่เป็นประจำ ก้าวอีกขั้นของปอมชาน แม้จะไม่หวือหวา แต่มันกลับมั่นคง เรื่องราวการเดินทางตามเส้นดินสอที่เธอร่างและบรรจงตวัดมือลงหมึกทับมันลงไปเป็นร้อย ๆ ครั้ง จากโซโล่อาร์ตติสสู่วันที่มีทีมงานเดินเคียงข้างไป “ เมื่อก่อนบริษัทชื่อ Happy Pomme Studio ตอนนี้เปลี่ยนเป็น Happy People Studio แล้วค่ะ ” my home ว่าเรารับรู้ถึงความหมายของชื่อสตูดิโอ ที่เธอตัดสินใจเปลี่ยนได้เอง โดยที่ไม่ต้องถามซ้ำ