Prague Design week 2020 คืองานแสดงงานออกแบบซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปราก เมืองหลวงที่สุดแสนโรมแมนติกใจกลางยุโรป เป็นเวลา 7 วันเต็มๆ โดยคอนเซ็ปของการจัดงานและการคัดเลือกนักออกแบบในปีนี้
นอกจากจะเน้นการออกแบบที่ร่วมสมัยและสามารถใช้งานได้จริงแล้ว ยังเน้นการนำเสนอทักษะด้านงานฝีมือ และไอเดียนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดจากการพัฒนาของเทคโนโลยี พร้อมเรื่องราวแนวคิดของแบรนด์ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปลายทางของผลิตภัณฑ์เลยทีเดียว ในวันนี้เราได้คัดสรรค์งานออกแบบสไตล์รักษ์โลก ที่มีความโดดเด่นทางนวัตกรรมด้านความคิดมาฝากกันถึง 4 งานด้วยกัน
“ เมื่อฝูงผึ้ง..กลายเป็นนักออกแบบจำเป็นของแบรนด์ Beehive ”
Seibert Eduard นักออกแบบผู้มีวิถีชีวิตอยู่กับธรรมชาติและป่าเขาลำเนาไพร เกิดไอเดียเด็ดในการทำงานกับ “ผึ้ง” ใช่ค่ะ..เรากำลังพูดถึงผึ้ง! แมลงสีเหลือง-ดำปีกใสสุดน่ารัก ที่เป็นฮีโร่ในการออกแบบและสร้างสรรค์ colloection โคมไฟและเทียนไข รูปแบบสุดเอ็กซ์คลูซีฟในครั้งนี้ โดยขั้นตอนการสร้างสรรค์งานศิลปะจากผึ้งชิ้นนี้ Seibert Eduard เล่าว่า เขาเป็นผู้ริเริ่มทำโมลด์นวัตกรรม ที่มีส่วนผสมพิเศษ สามารถส่งกลิ่นหอม เย้ายวนให้ฝูงผึ้งเริ่มบินมาทำรัง และด้วยความสามัคคีของเหล่าผึ้งนี้เอง ทำให้รังเริ่มใหญ่ขึ้นและมีรูปร่างที่สวยงามแตกต่างกันไปจนเกิดเป็นผลงานชิ้นเอกในคอลเล็คชันนี้ขึ้น นอกจากนี้รายได้บางส่วนที่เกิดจากการจำหน่ายผลงานคอลเล็คชันนี้ ยังถูกส่งกลับไปสนับสนุนกลุ่มคนเลี้ยงผึ้งในชุมชนเพื่อพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจและความยั่งยืนของพื้นที่อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการออกแบบที่คำนึงถึงระบบนิเวศอย่างครบวงจรอย่างแท้จริง
“ Tomas Holub เครื่องประดับมินิมอลจากขยะอลูมิเนียม ”
คอลเล็คชันเครื่องประดับสไตล์มินิมอลเหล่านี้ หากเราไม่พูดคุยกับนักออกแบบ หรืออ่านเรื่องราวของแบรนด์ คงไม่มีใครดูออกเลยว่า ความเรียบหรูดูดีเหล่านี้ ล้วนทำมาจาก “ขยะอลูมิเนียม” ทั้งสิ้น Tomas Holub นักออกแบบชาวเช็ก ได้หยิบเอาขยะอลูมิเนียมตามโรงงานต่างๆ มาดัดแปลง ตัดต่อ ทำสีใหม่จนเกิดเป็นเครื่องประดับสุดเก๋ ไม่เหมือนใคร และที่สำคัญคือเขาได้ลบภาพของขยะที่ไร้ค่าออกไปได้อย่างราบคาบ ด้วยความสามารถทางการออกแบบและฝีมือการผลิตที่สุดแสนจะเนี๊ยบพร้อมให้เราได้เลือกใช้มิกซ์แอนด์แมชกันอย่างสนุกสนาน
“ เมื่อที่บ้านทำธุรกิจ แต่เราอยากเป็นดีไซน์เนอร์ แบรนด์ Vinna เครื่องประดับจากต้นองุ่นจึงเกิดขึ้น ”
Silvie Hruskova นักออกแบบสาว เกิดและเติบโตในครอบครัวที่ทำธุรกิจไร่องุ่นและผลิตไวน์ เกิดไอเดียหยิบต้นองุ่นที่หมดอายุ และไม่สามารถผลิตองุ่นเพื่อใช้ทำไวน์ได้แล้ว มาเพิ่มมูลค่าด้วยการออกแบบและความชำนาญด้านงานฝีมือจนกลายเป็นแบรนด์ Vinna เครื่องประดับไม้สุดยูนีคที่สามารถส่งต่อเสน่ของไม้องุ่น และความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้แก่ผู้สวมใส่ได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งตัวอย่างของนักออกแบบ ที่มองเห็นโอกาสจากสิ่งใกล้ตัวและนำมาต่อยอดด้วยไอเดียสร้างสรรค์ได้อย่างน่าชื่นชม
“ โอกาสของนักออกแบบ ที่อาจหาได้ในห้องทดลอง ”
ใครบอกว่าด็อกเตอร์ ทำงานออกแบบไม่ได้ ต้องขอเถียงสุดเสียงเลยค่ะ เพราะ Jaroslava Frajova นักเรียนปริญญาเอกผู้นี้ ได้ทำการคิดค้นเส้นใยกันน้ำแบบพิเศษ วัสดุใหม่แห่งวงการ textile ที่ทำจากขยะขวดพลาสติก ประกอบกับการทดลองกับวัสดุเหลือใช้อื่นๆ ทำให้เกิดเส้นใยนวัตกรรมคุณสมบัติพิเศษต่างๆ ขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสชั้นดีสำหรับนักออกแบบ ในการต่อยอดให้เกิดเป็นสินค้านวัตกรรมใหม่ขึ้นได้
จะเห็นได้ว่าใน Prague Design Week 2020 ในครั้งนี้ได้มีการนำเสนอไอเดียเรื่องรางของสิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมด้านความคิดที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการนำขยะมาเพิ่มมูลค่า การทำงานร่วมกับแมลงเพื่อพัฒนาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน หรือแม้กระทั่งการออกแบบที่เกิดจากขยะของธุรกิจครอบครัว ซึ่งทำให้สะท้อนแนวโน้มด้านการออกบบและการเลือกใช้สินค้าในยุคปัจจุบัน ที่ผู้คนเริ่มหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อนำไปสู่แนวทางการใช้ชีวิต และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
เรื่องและภาพ โดย อรกานต์ สายะตานันท์ ( กานต์ ) [email protected]