NOTE KRITSADA ศิลปินหนุ่มผู้กล้าจะล้มเหลว ล้มเลิก และเริ่มใหม่เสมอ - room

NOTE KRITSADA ศิลปินหนุ่มผู้กล้าจะล้มเหลว ล้มเลิก และเริ่มใหม่เสมอ

โน้ตกฤษดา ภควัตสุนทร หลายคนอาจรู้จักเขาในฐานะนักออกแบบผู้ร่วมก่อตั้งครีเอทีฟสตูดิโอและโปรดักชั่นเฮ้าส์ James Dean บางคนอาจเพิ่งได้ฟังซิงเกิ้ลใหม่ ‘หอน’ (Horn) จากวง The Keylookz ที่เขาเป็นนักร้องนำ หรือบางทีก็อาจเคยใส่เสื้อเชิ้ตแบรนด์ Wolfkind ที่เขาเคยออกแบบไว้เมื่อหลายปีก่อน แต่เชื่อว่าใครก็ตามที่ได้เห็นผลงานศิลปะของเขาสักครั้ง ก็ต้องมีภาพจำของลายเส้นและสไตล์ อันเป็นเอกลักษณ์ภายใต้ลายเซ็นของ NOTE KRITSADA แน่นอน

หมวกหลายใบ และบทบาทหลายด้านที่ศิลปินหนุ่มไฟแรงคนนี้สวมอยู่ได้สะท้อนตัวตน และความเชื่อของเขา ณ ขณะนั้นอย่างชัดเจน มาวันนี้บทบาทความเป็นศิลปินครอบครองพื้นที่ครึ่งหนึ่งของชีวิต และเป็นพื้นที่ที่ถ่ายทอดความหลงใหล ความทรงจำหรือประสบการณ์ส่วนตัวของ NOTE KRITSADA ให้แปรเปลี่ยนเป็นผลงานศิลปะที่ไร้กรอบจำกัด

“ครึ่งหนึ่งของชีวิตทำงาน ผมมีหุ้นส่วนร่วมกันทำบริษัท มีพนักงานที่เราต้องดูแล มีงานที่เราต้องคิดให้ตอบโจทย์ลูกค้าตลอด อีกครึ่งหนึ่งคือเรื่องงานศิลปะ จริง ๆ ผมก็ไม่ได้มองว่าผมเป็นนักดนตรี เพราะเชื่อว่านักดนตรีจริง ๆ คงต้องทุ่มเทกว่าผมเยอะ แค่มีเพื่อนอีกสองคนที่ทำวงสนุก ๆ ด้วยกัน”

“งานศิลปะช่วยบำบัดผมจากงานคอมเมอร์เชี่ยลที่บริษัทขณะเดียวกันงานที่บริษัทก็บำบัดผมจากงานศิลปะและงานดนตรีเองก็ช่วยบำบัดผมจากการหมกมุ่นกับศิลปะหรืองานคอมเมอร์เชี่ยล ผมว่าแต่ละอย่างที่ผมทำมันมีมิติ และเสน่ห์ที่ต่างกันไป”

room เคยได้พูดคุยกับโน้ต กฤษดา ครั้งแรกในหนังสือฉบับพิเศษ room The Book Vol.04 เมื่อหลายปีก่อน มาวันนี้เราเจอเขาอีกครั้งในงาน Bangkok Art Biennale (BAB) 2020 ภายใต้บรรยากาศสุดแสนอนามัยของคลินิกทันตกรรม WOW WOW…MORE FUN!!!  ที่เขาจำลองขึ้นเพื่อนำเสนอประสบการณ์การทำฟันอันแสนเจ็บปวดตั้งแต่วัยเยาว์จวบจนถึงปัจจุบัน โดยบอกเล่าผ่านผลงานศิลปะในหลากหลายสื่อ ทั้งงานวาดเส้น ประติมากรรม และแอนิเมชั่นสามมิติ 

note Kritsada

note kritsada

แต่ไหนแต่ไร ผลงานของโน้ต-กฤษดา เชื่อมโยงกับประสบการณ์ส่วนตัว มุ่งถ่ายทอดความรู้สึกของตนอย่างตรงไปตรงมา สอดแทรกอารมณ์ขันแกมเสียดสี โดยปราศจากความคาดหวังหรือผลตอบรับใดๆ แต่กระนั้น เรากลับรู้สึกว่าเรื่องราวเรียบง่ายอย่างเช่น ‘การทำฟัน’ ได้สร้างประสบการณ์ร่วมที่คาดไม่ถึงกับผู้ชม 

“จริง ๆ ผมไม่ได้คาดหวังอะไรล่วงหน้าจากคนที่ดูงาน อาจจะเคยคาดหวังในการแสดงงานครั้งแรกเพราะกลัวว่างานจะไม่ดีพอ แต่พอผ่านครั้งนั้นไปแล้ว เราก็ไม่ได้สนใจอะไรเท่าไหร่ว่าใครจะคิดอย่างไร เพราะคิดว่าเขาต้องใช้ประสบการณ์ และรสนิยมของตัวเองในการตัดสินงานเราอยู่แล้ว ผมปล่อยให้งานศิลปะมันทำหน้าที่ของมันไปดีกว่า”

“สิ่งที่ผมสนใจที่สุดคือการมีวินัยในการทำงาน การแบ่งเวลาของตัวเอง การกล้าที่จะเผชิญกับวัสดุหรือกระบวนการใหม่ที่ไม่คุ้นเคย”

Note Kritsada
Pencil drawing & oil color on canvas, 2014 (ภาพ: Note0Kritsada)
Note Kritsada
Pencil and acrylic on canvas, 2017 (ภาพ: Note0Kritsada)

มองย้อนกลับไป นิทรรศการแสดงผลงานเดี่ยวของเขาทั้ง ‘Wolf’ ในปี 2014 และ ‘Flow’ ในปี 2019 คือบทสรุปประมวลผลแนวคิดในแต่ละช่วงชีวิตของเขาได้เป็นอย่างดี จากเรื่องราวของหมาป่า ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ประจำตัว มาถึงการเสียดสีปัญหาสุขภาพของตนเองด้วยสำเนียงตลกร้าย เทคนิคการสร้างสรรค์ และวัสดุ สำหรับเขาดูจะเป็นเพียงสื่อกลางที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง และทดลองกับสิ่งใหม่ได้ตลอดเวลา

“ผมชอบวาดคนที่ผมไม่รู้จักสำหรับผม คนเหล่านี้ก็เทียบเท่ากับวัสดุ ไม่ต่างจากสีน้ำมันดี ๆ แปรงสวย ๆ เป็นวัสดุหนึ่งที่ถ่ายทอดความคิดของผม ซึ่งผมมักจะเลือกทำงานกับชาวคอเคเชี่ยน (Caucasian) ตั้งแต่สมัยทำงานแฟชั่นแล้ว คงเพราะดูเป็นสากลดีมั้ง”

Note Kritsada
Note Kritsada on Ilford canvas, 2019 (ภาพ: Note0Kritsada)
Note Kritsada
Note Kritsada hair cut, 2019 (ภาพ: Note0Kritsada)

“การแสดงงานของผม นอกจากการขายงานเพื่อหาเงินทุนมาสร้างงานใหม่ ผมชอบเชิญเพื่อน เชิญคนที่เราชอบพอมาดูงานของเรา ถามเขาว่าคิดอย่างไร งานชิ้นไหนที่พัฒนาต่อไปได้ บางทีผู้ใหญ่ที่ผมนับถือจะมีคำแนะนำดี ๆให้เสมอ ช่วยเติมไฟให้เราทำงานต่อไป”

“ผมเคยทำงานขึ้นมาชิ้นหนึ่งแล้วผมรู้สึกชอบมันมาก มากเสียจนผมรู้สึกว่าผมคงไม่สามารถทำงานที่สวยกว่านี้ได้อีกแล้ว ผมวางรูปนี้ไว้แล้วก็นั่งกินเบียร์ดูมันทุกวัน แล้วคิดว่ามันจะมีรูปไหนที่สวยกว่านี้ได้อีกไหม แต่เราก็วาดภาพต่อไปเรื่อย ๆ บางทีก็สวย บางทีก็ไม่สวย แต่สุดท้ายแล้วมันคือการพัฒนา การแปรผันของความละเอียดกับเวลา ความละเอียดอาจจะเท่าเดิมแต่ใช้เวลาน้อยลง เพราะว่ามีความแม่นยำมากขึ้น”

“แต่ก่อนผมอาจจะวาดคนแล้วไม่ค่อยเหมือนหรือผิดหลักสรีระบ้าง ตอนนั้นผมรู้สึกไม่ชอบ แต่มาตอนนี้ผมก็กลับไปวาดแบบตอนนั้นไม่ได้อีก เพราะว่าเราแม่นยำขึ้นแล้ว จนกลายเป็นว่างานเก่า ๆ ของผมกลับดูมีเสน่ห์มากกว่า”

 

Note Kritsada
Hypertext Transfer Protocol Female – Graphite, acrylic on canvas, 2019 (ภาพ: Note0Kritsada)
Note Kritsada
A meaning without feeling I – Brass, spray paint, fibreglass, rubber, steel, 2019 (ภาพ: Note0Kritsada)

แน่นอนว่าเส้นทางบนผืนผ้าใบของศิลปินย่อมไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ตลอดการเดินทาง เขาตัดสินใจเปิดประตูทางออกหลายบานอย่างไม่ลังเล เพื่อพาตัวเองออกจากเส้นทางเดิม

“ผมเป็นคนที่ชอบหาทางใหม่ ๆ ตลอด เมื่อก่อนตอนที่เรียนจบด้านนิเทศศิลป์ก็เคยคิดว่าอยากจะเป็นนักโฆษณา อยากเป็นครีเอทีฟ แต่พอเรียนจบเรากลับรู้สึกไม่อยากเป็นแล้ว หันไปหลงเสน่ห์แฟชั่น อยากจะเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ เลยลองทำงานที่  Greyhound เราก็ได้เป็นดีไซเนอร์เต็มตัว แต่พอผ่านไปสักระยะก็รู้สึกอิ่มตัวอีก”

“เริ่มรู้สึกว่าเราน่าจะเรียนเพิ่มเติมเพื่อฉีกตัวเองไปเป็นศิลปินบ้างเพราะว่าเราชอบวาดรูป ก็เลยลองเข้าไปเรียนปริญญาโทด้านทัศนศิลป์ ได้ความรู้มาก็ออกมาทำงานศิลปะเต็มตัว พร้อมกับเปิดแบรนด์เสื้อผ้า Wolfkind ก็ประสบความสำเร็จอยู่ช่วงหนึ่งแล้วก็ปิดตัวไป”

“พอเรามาทำงานศิลปะ ศิลปะก็สอนเราเหมือนกันว่าเราไม่ควรจะอยู่นิ่ง ไม่ควรจะพอใจกับสิ่งที่เราเป็นอยู่หรือมีอยู่แล้ว ควรต้องพัฒนาไปเรื่อย ๆ พัฒนาข้อดีข้อด้อยของเรา ถ้าผมเอาแต่คิดมันก็ไม่มีวันสำเร็จ แต่ถ้าผมคิด ผมจะต้องทำให้เสร็จเลย เช่น ถ้าผมตั้งใจว่าจะต้องทำให้เสร็จในวันนี้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าใครก็ตามจะต้องมาช่วยเราทำให้มันเสร็จให้ได้”

Fail Fast, Succeed Faster หากพูดถึงแนวคิดยอดนิยมทางธุรกิจ การล้มเหลวตั้งแต่เริ่มต้นย่อมสูญเสียน้อยกว่า และเบนเข็มไปสู่เส้นชัยได้เร็วยิ่งขึ้น แต่สำหรับเส้นทางชีวิต ความกล้าหาญในการล้มเลิก ล้มเหลว และเริ่มต้นใหม่ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน

“การที่เราจะฉีกตัวเองออกมาหรือละทิ้งอะไรบางอย่าง  อาจไม่ใช่การล้มเลิกหรือเจอทางตันเสมอไป จริง ๆ ผมว่าการล้มเลิก ก็คือความกล้าหาญอย่างหนึ่ง ความล้มเหลวกับการล้มเลิกเป็นของคู่กัน ล้มเลิกก็ได้ ไม่เห็นจะเป็นอะไร ถ้าคนมันไม่กลัวสักอย่าง อยู่ที่ว่าเราจะกล้าทำสิ่งใหม่ แล้วล้มเหลวอีกครั้งหรือเปล่า

“ผมว่าการเป็นศิลปินมันไม่มีจุดสูงสุดของอาชีพ ไม่เหมือนนักกีฬา ที่เมื่อคุณได้เหรียญทองโอลิมปิก นั่นคือสุดยอดของอาชีพแล้ว แต่งานศิลปะมันอยู่ที่ว่า คุณจะทำแบบเดิมหรือทำแบบใหม่ กล้าพอที่จะฉีกตัวเองไปทำแบบใหม่ แล้วทิ้งลายเซ็นเดิมของคุณหรือเปล่า”

และแน่นอนว่าเขากำลังมองหาประตูบานใหม่ ที่จะออกไปผจญภัยบนเส้นทางอื่นอีกครั้ง เตรียมพบกับงานแสดงศิลปะโซโล่ครั้งใหม่ของเขาช่วงต้นปีหน้ากับผลงานเซรามิก วัสดุใหม่ล่าสุดที่เขาซุ่มสร้างสรรค์มาตั้งแต่สามปีก่อน

“งานแสดงครั้งใหม่ที่จะถึงนี้ ผมว่าจะกลับไปหาหมาป่าอีกสักครั้ง”

ระหว่างนี้ตามไปเยือนร้านทำฟันกับผลงานแบบจัดเต็มของเขาได้ในงาน BAB 2020 ภายใต้ธีม Escape Routes ณ ชั้น 15 The PARQ ถนนพระราม 4 ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 มกราคม 2564

ติดต่อ

Instagram : Note_kritsada

www.notekritsada.net

เรื่อง: monosoda

ภาพ: นันทิยา / ภาพผลงาน: Note0Kritsada

 

อ่านเรื่องราวอื่น ๆ จากงาน BAB 2020 ต่อได้ที่ https://www.baanlaesuan.com/206181/arts/bab-2020-2


P7 ศิลปินที่ไม่พึ่งคอมพิวเตอร์ ทำแต่งานแฮนด์เมด ที่ไม่มีชิ้นไหนซ้ำกัน