รีโนเวท บ้านจีน โบราณ ขนาด 160 ตารางเมตร ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเป็นบ้านแบบโบราณของจีนที่เรียกว่า “Siheyuan” หรือบ้านชั้นเดียวที่ล้อมรอบคอร์ตตรงกลางไว้ทั้งสี่ด้าน และมีทางเข้าออกเพียงทางเดียว
จุดประสงค์ของการ รีโนเวตบ้านเก่า ในครั้งนี้ คือเพื่อปรับการใช้งานของบ้านให้ตอบสนองต่อรูปแบบการใช้ชีวิตที่ทันสมัยยิ่งขึ้น ด้วยการเปลี่ยนคอร์ตยาร์ดแบบดั้งเดิม ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ใช้งานหลักของบ้าน ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะของเขตเมืองชั้นใน
การออกแบบในครั้งนี้ ทีมสถาปนิกจาก ARCHSTUDIO จึงมีความตั้งใจที่จะทลายความเข่งขรึม และรูปแบบที่ตายตัวของ Siheyuan ทิ้งไป แล้วแทนที่ด้วยพื้นที่เปิดกว้างที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา โดยยังคงยึดหน้าที่หลักของคอร์ตยาร์ดที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อพื้นที่ภายในและภายนอกที่มีความสูงต่างกันเข้าหากัน
การขยับขยายพื้นที่เข้าไปยังภายในบ้าน ออกแบบผ่านการบิดผนังและหลังคา ที่สร้างการเชื่อมต่อแบบไดนามิคระหว่างพื้นทีภายในกับภายนอก ช่องว่างที่เกิดขึ้นจากการบิดตัวจึงซ่อนไว้ด้วยพื้นที่เสริมที่จำเป็นอย่าง ห้องครัว ห้องน้ำ และห้องเก็บของ ในขณะที่ส่วนต้อนรับ และพื้นที่นั่งรับประทานอาหาร ถูกจัดวางไว้ด้านนอกของโค้งผนัง ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังคอร์ตยาร์ดและพื้นที่อื่น ๆ ได้ โดยใช้การปูพื้นด้วยอิฐสีเทาทั้งข้างในและข้างนอก เพื่อเชื่อมต่อพื้นที่อย่างลื่นไหล
ลานขนาดเล็กมีหน้าที่หลัก คือใช้เป็นพื้นที่พับลิกของเมือง ในขณะที่ยังคงความเป็นไปได้ในการอยู่อาศัยได้ด้วย โดยอาคารทั้ง 4 หลัง เปิดให้เช่าสำหรับใครที่ต้องการจัดอีเว้นต์ในเชิงนันทนาการ จัดประชุม หรือการชุมนุมต่าง ๆ ในขณะเดียวกันก็ยังทำหน้าที่เป็นโฮสเทลสำหรับครอบครัวกับ 3 ห้องนอน
การเลือกเฟอร์นิเจอร์ถูกออกแบบให้มีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนไปได้ตามรูปแบบการใช้งาน กล่องเฟอร์นิเจอร์ถูกสอดแทรกไว้ในเฟรมไม้เดิมทางฝั่งทิศตะวันออกและตะวันตก แท่นไม้พร้อมโต๊ะที่ถูกซ่อนไว้ด้านในสามารถดึงออกมาเป็นห้องน้ำชา และห้องนอนได้ ส่วนผนังหัวเตียง และม่านบังแสง ก็ยังออกแบบไว้เพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลายด้วยเช่นกัน
สำหรับรูปแบบอาคารแบบ “Siheyuan” คอร์ตยาร์ดนับเป็นหัวใจสำคัญของการใช้ชีวิตในบ้านพักอาศัยของคนจีน การสร้างความบิดเบี้ยวให้กับคอร์ตยาร์ดที่เกิดขึ้นครั้งนี้ กลับสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ช่วยเปลี่ยนอารมณ์ให้กับพื้นที่ ซึ่งเป็นการค้นพบการใช้งานรูปแบบใหม่ ๆ โดยไม่ต้องทำการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเดิมของอาคาร และยังคงไว้ซึ่งกลิ่นอายของวัฒนธรรมในวันวาน ในรูปแบบที่สอดคล้องกับความเป็นปัจจุบันได้อย่างลงตัว
ภาพ: Wang Ning, Jin Weiqi
เรียบเรียง: BRL