จากการสำรวจพื้นที่พบว่าที่ดินในตรอกเเคบ ๆ ผืนนี้เต็มไปด้วยร่องรอยของการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นทางรถไฟที่พาดผ่านด้านบนอยู่ตลอดเวลา หรือการขยายถนนเพื่อรองรับผังเมืองที่กระจายตัวออก ทำให้ไซต์งานนี้เป็นโลเกชั่นสุดพิเศษภายใต้บริบทที่แตกต่างกันสุดขั้ว ภาพแรกที่ผู้ออกแบบนึกถึงจึงเป็น บ้านทรงกล่อง ที่ยืนหยัดท่ามกลางความแตกต่างนี้ ทั้งในแง่ของสเกล ระยะทาง ความเร็ว เสียง และความสว่างไสว
ผลลัพธ์ที่ได้คือ บ้านทรงกล่อง ขนาด 4 ชั้น ชั้นแรกบรรจุด้วยร้านอาหารญี่ปุ่น โดยในช่วงสองปีแรกที่มีการทำถนน ทำให้ทางเข้าของร้านอาหารต้องเข้ามาแอบอยู่ในซอยเล็ก จนกระทั่งการก่อสร้างเสร็จสิ้น จึงเปลี่ยนไปเป็นฝั่งที่เข้าถึงได้จากถนนหลักแทน ส่วนพื้นที่ชั้น 2-4 ออกแบบเป็นที่อยู่อาศัย โดยพื้นที่ทั้ง 3 ชั้น ถูกเชื่อมต่อกันด้วยบันไดวนขนาดใหญ่และระเบียง
บันไดวนที่เห็นนี้ทำหน้าที่ร้อยพื้นที่ภายในและภายนอกเข้าไว้ด้วยกัน หากคุณเดินไปรอบ ๆ บ้านจะสามารถเห็นบันไดในบ้านได้จากทุกมุม ประหนึ่งบันไดนี้แหวกว่ายขึ้น-ลงอยู่ภายใน หรือหากมองลงมาจากทางรถไฟก็จะเห็นบันไดคดเคี้ยวอยู่ภายในอาคาร
บันไดที่ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวตลอดเวลานี้ ช่วยรังสรรค์สเปซที่เข้ากันดีกับสภาพแวดล้อม ซึ่งมีความบีบอัดและรีแลกซ์อยู่ในตัว ช่วยจับความเคลื่อนไหวและสร้างสัญชาตญาณของผู้คน
นอกจากสถาปัตยกรรมแห่งนี้ทำหน้าที่เป็นที่อยู่อาศัยแล้ว ยังเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมของเมืองที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไป แสดงให้เห็นถึงการเชื่อมต่อทั้งภายในตัวสถาปัตยกรรม ตัวอาคารภายนอก และกับเมือง กระตุ้นให้บ้านเรือนโดยรอบกล้าที่จะเปิดระเบียงแล้วจัดมุมมองเสียใหม่ และสำหรับที่นี่ระเบียงที่เกิดจากการเชื่อมต่อบันไดนี้เอง ยังทำหน้าที่ลดมุมอับของบ้าน เพิ่มแสงสว่าง และเอื้อต่อการระบายอากาศไปในตัว
ออกแบบ: Ryu Mitarai & Associates, Architects
ภาพ: Kai Nakamura
เรียบเรียง: BP