บ้านโมเดิร์น ทรงกล่อง 3 ชั้น ได้รับการออกแบบให้สะท้อนถึงการแบ่งสัดส่วนพื้นที่อย่างชัดเจน แต่ทว่ากลับยืดหยุ่นเพื่อตอบรับการใช้งานที่แตกต่างได้อย่างลงตัว โดยมีตู้ไม้สักใบใหญ่ใจกลางบ้าน ทำหน้าที่สอดประสานพื้นที่ส่วนกลางให้เชื่อมต่อกับสเปซส่วนตัวของสมาชิกครอบครัวแต่ละคน ทั้งยังเป็นที่รวบรวมประโยชน์ใช้สอยสำคัญของบ้านไว้ในที่เดียว
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Phyicalist
บ้านโมเดิร์น หลังนี้ สถาปนิกตั้งชื่อมันว่า BAAN CHUMPHAE ตัวบ้านตั้งอยู่บนที่ดิน 360 ตารางวา ในอำเภอชุมแพ ไม่ไกลจากตัวเมืองจังหวัดขอนแก่น แนวคิดการออกแบบที่นี่มาพร้อมเงื่อนไขการใช้ชีวิตที่เฉพาะเจาะจงของครอบครัวขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสามเจเนอเรชั่นตั้งแต่รุ่นอาวุโสไปจนถึงรุ่นหลาน
“เจ้าของบ้านเป็นครอบครัวใหญ่ที่มี ธุรกิจครอบคลุมหลายจังหวัด ดังนั้นช่วงวันธรรมดาคุณพ่อกับคุณแม่จะอยู่กันสองคน ส่วนลูก ๆ อีก 5 คน จะแยกย้ายกันไปทำงานต่างสถานที่ผลัดกันกลับมาอยู่บ้านบ้าง แต่พอถึงช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ทุกคนจะกลับมา อยู่ด้วยกัน ส่วนหลานๆ ก็ไปเรียนที่กรุงเทพฯ นาน ๆ ครั้งจะกลับมาอยู่พร้อมหน้า”
คุณกาจวิศว์ ริเริ่มวนิชย์จาก สำนักงานสถาปนิก Physicalist ออกแบบบ้านพื้นที่ใช้สอยกว่า 1,000 ตารางเมตร ให้ลงตัวสำหรับสมาชิกทุกคนในครอบครัว พร้อมจัดการแบ่งโซนพื้นที่ใช้งานแบบแนวตั้งพื้นที่ชั้นล่างกลายเป็น “บ้านหลังเล็ก” สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งให้ความรู้สึกอบอุ่นง่ายต่อการใช้งานและดูแลรักษาของสมาชิกอาวุโสทั้งสองท่าน
“รูปทรงภายนอกของบ้านดูเหมือน กล่อง 3 ใบเรียงซ้อนกัน สะท้อนถึงการแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 3 ส่วนอย่างชัดเจน กล่องชั้นล่างกำหนดให้เป็นพื้นที่สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ มีพื้นที่ส่วนกลาง ห้องโฮมเธียเตอร์ ห้องนอน และส่วนเซอร์วิสเพียงพอสำหรับการใช้งานตอนอยู่กันสองคน ส่วนชั้น 2 เป็น ห้องนอนของลูกหลานไว้สำหรับช่วงสุดสัปดาห์ และกล่องชั้นบนสุดเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ ไว้พักผ่อนสังสรรค์บนดาดฟ้า”
โครงสร้างกล่องไม้ใบใหญ่กลางบ้าน คือหัวใจสำคัญที่เชื่อมโยงพื้นที่ส่วนกลางทั้งหมดเข้าด้วยกัน มวลสี่เหลี่ยมขนาดความ กว้าง 2 เมตร ยาว 12.5 เมตร สูงจรดเพดาน ชั้น 3 ถูกเจาะและคว้านออกเพื่อให้เกิดทั้ง “ช่องเปิด” และ“สเปซภายใน” ทำหน้าที่เป็นเหมือนตู้อเนกประสงค์โอบอุ้มฟังก์ชัน ใช้สอยหลากหลายประเภทให้สอดคล้อง กับพื้นที่เชื่อมต่อแต่ละจุด อาทิ แพนทรี่ ชั้นล่าง ห้องเด็กเล่นบนชั้น 2 โถงบันได ไปจนถึงสวนเล็ก ๆ ใต้สกายไลต์บนชั้น 3
“การเลือกใช้วัสดุในส่วนต่างๆ ของบ้าน ยังช่วยสะท้อนแนวคิดการจัดการพื้นที่ด้วย เช่นกัน อย่างชั้นล่างใช้พื้นหินอ่อนสีดำกับ ผนังหินแกรนิตสีเข้ม ส่วนชั้น 2 และ 3 เน้น บรรยากาศสีขาวเรียบ ๆ โดยพยายามคุม โทนสีให้เกิดเอกภาพ ขับเน้นตู้ไม้ให้เด่นที่สุด แต่ในโซนพื้นที่ส่วนตัวจะปรับเปลี่ยนไปตาม ความต้องการของสมาชิกแต่ละคน”
สเปซโปร่งโล่งระหว่างตู้ไม้และโครงสร้างพื้นของชั้น 2 และ 3 ทำให้เกิดดับเบิลสเปซทะลุจากชั้นล่างสู่ชั้นบน นอกจากจะช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกครอบครัวให้สามารถมองเห็นกันและกันได้ทันทีที่ก้าวออกมาจากพื้นที่ส่วนตัวแล้ว ยังช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศภายในบ้านได้อย่างปลอดโปร่ง โดยอากาศร้อนจะลอยตัวขึ้นสูงและพัดพาลมเย็นจากการระเหยของผิวน้ำในสระเข้าสู่ตัวบ้าน บ้านชั้นล่างจึงเย็นสบายในช่วงเวลากลางวัน
และเนื่องจากตัวบ้านหันหน้าสู่ทิศตะวันตก บ้านจึงต้องเผชิญความร้อนของแดดบ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สถาปนิกจึงแก้ปัญหาด้วยการออกแบบชายคาของ ตัวอาคารชั้น 2 ให้ยื่นยาวเป็นพิเศษ เพื่อสร้างร่มเงาให้พื้นที่ริมสระได้ตลอดวัน
ส่วนระเบียงห้องนอนบนชั้น 2 ติดตั้งผนัง บานเลื่อนกรุแผงเกล็ดบังแดดอะลูมิเนียม สำหรับกรองแสงแดด กลายเป็นฟาซาด รูปแบบเฉพาะให้กับตัวอาคารไปโดยปริยาย ภายใต้รูปลักษณ์โมเดิร์น บ้านหลังนี้ ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับ “บ้านที่เหมาะสม สำหรับครอบครัวใหญ่” และนำเสนอแนวคิด การออกแบบสถาปัตยกรรมที่มุ่งตอบโจทย์ เงื่อนไขการใช้ชีวิตของผู้ใช้งานด้วยวิธีการ แก้ปัญหาที่เรียบง่าย ยืดหยุ่น และใส่ใจ รายละเอียดของบริบทการอยู่อาศัย
เจ้าของ: คุณโสภิรักษ์ อรุณเดชาชัย
ออกแบบ: Phyicalist
เรื่อง: MNSD
ภาพ: ศุภกร