เนื่องในโอกาสพิเศษที่ 2 สื่อสิ่งพิมพ์รุ่นใหญ่ ซึ่งอยู่คู่สังคมไทยมานานอย่าง บ้านและสวน และ ขายหัวเราะ จับมือกันสร้างสรรค์ฉบับพิเศษของตัวเอง ทั้งผสมผสาน แลกเปลี่ยนแนวคิด เพื่อทดลองความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์สิ่งพิมพ์รายวาระที่แตกต่าง และแปลกใหม่
กว่า 40 ปีผ่านมา หาก บ้านและสวน ได้เป็นผู้ทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวรอบด้านของที่อยู่อาศัยในแต่ละช่วงทศวรรษ ขายหัวเราะ ก็ได้ทำหน้าที่เป็นผู้บันทึกเรื่องราวความน่าขันต่าง ๆ รอบ ๆ บ้านของเรามายาวนานไม่แพ้กัน และนี่อาจคือโอกาสอันดีที่เราจะได้พาทุกคนย้อนมองว่าอะไร ที่ทำให้นิตยสารหัวไทยแท้ยังคงอยู่คู่สังคมมาได้อย่างยาวนานท่ามกลางวิกฤตครั้งยิ่งใหญ่ของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ในยุคดิจิทัล ตาม room ไปเจาะลึก “ขายหัวเราะ” วิเคราะห์ความขำแบบไทย ๆ ที่นอกจากจะเป็นความบันเทิงคู่บ้านคู่เมืองแล้ว ยังสะท้อนถึงความเป็นอยู่ และปัญหาที่หยั่งรากลึกในสังคมไทยตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาอีกด้วย
——
Did you know?• พ.ศ.2516 วิธิต อุตสาหจิต ให้กำเนิด “ขายหัวเราะ” วารสารรวมเรื่องตลกภายใต้สำนักพิมพ์บรรลือสาส์น ครั้งแรกของนิตยสารรวมเนื้อหาความตลกรูปแบบต่าง ๆ จากหลายนักเขียน ทั้งเรื่องแปลก เรื่องสั้น และการ์ตูนตลก ที่วิธิตเคยกล่าวไว้ว่า คล้ายเป็นการรวมอาหารแบบต่าง ๆ ทั้งน้ำจิ้ม ของกินเล่น และอาหารจานหลัก มารวมไว้ให้ผู้อ่านได้เลือกอ่านในหนังสือเล่มเดียว
• พ.ศ.2519 กำเนิดนิตยสาร “บ้านและสวน” โดย ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ผู้ตั้งใจผลิตนิตยสารรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับบ้าน (และสวน) แบบเจาะลึก ทั้งแนวคิดการตกแต่งบ้าน ตัวอย่างบ้านน่าชมของเจ้าของบ้านท่านต่าง ๆ รวมถึงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการซ่อมแซมและดูแลบ้าน เน้นผลิตเนื้อหาเพื่อเจ้าของบ้าน และบรรดาคนรักบ้านโดยเฉพาะ
——
“ความฮาสามัญประจำบ้าน” เป็นนิยามที่ขายหัวเราะวางบทบาทของตัวเองต่อผู้อ่าน โดยตั้งใจทำหน้าที่เป็นผู้หยิบเรื่องราวใกล้ตัวมาเล่าเป็นเรื่องตลก สำหรับผู้อ่านวงกว้างทุกเพศทุกวัย แต่ทำไมเรื่องราวต่าง ๆ รอบบ้านรอบเมืองเราถึงเป็นเรื่องน่าตลกกันละ นอกจากเรื่องราวที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตที่เราประสบอยู่ทุกวัน ที่ได้ถูกนำมาเล่าผ่านฝีมือนักเขียนเพื่อสร้างความตลกขบขันแล้ว แก๊กเหล่านี้มีความสำคัญในแง่ใดอีกหรือไม่ ตลอดการดำรงอยู่ในระยะเวลามากกว่า 40 ปี ที่ผ่านมา
“ขายหัวเราะเป็นการ์ตูนที่ได้รับคำชมอยู่เสมอว่าภายใต้ภาพการ์ตูนและเสียงหัวเราะที่ดูเหมือนจะไร้สาระจริงๆแล้วมันคือความไร้สาระที่แหลมคม”
พิมพ์พิชา อุตสาหจิต กรรมการบริหารบริษัทวิธิตากรุ๊ป จำกัด ผู้ต่อยอดกิจการของเครือบรรลือสาส์นต่อจาก วิธิต อุตสาหจิต ให้ความเห็นต่อบทบาทของบรรดาตัวการ์ตูนทั้งหลายที่กล่าวได้ว่าเติบโตขึ้นมาพร้อมกัน
“ตลอดระยะเวลาการเดินทางของแก๊กขายหัวเราะที่ก้าวข้ามผ่านกาลเวลามากว่า 40 ปีนี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแฝงอยู่สูงมากเพราะว่าอีกฟังก์ชันหนึ่งของแก๊กขายหัวเราะก็คือการบันทึกเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในไทยและเหตุการณ์ระดับโลกในขณะนั้นๆเช่นเรื่องโควิด-19 การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯหนังดังการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือสิ่งที่เป็นกระแสต่างๆที่เกิดขึ้นล้วนถูกบันทึกผ่านอารมณ์ขันการ์ตูนและถูกล้อแซวในแก๊กของเรา จนมีคนที่เปรียบว่าขายหัวเราะเป็นเหมือนจดหมายเหตุประเทศไทย ที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจริง ๆ แล้ว เราสามารถเรียนประวัติศาสตร์ย่อม ๆ ได้ผ่านแก๊กขายหัวเราะเลยค่ะ”
และไม่ใช่แค่เรื่องเหตุการณ์สำคัญ ๆ เท่านั้น แต่วัฒนธรรม ค่านิยม ความคิด และความเชื่อของผู้คนในยุคต่างๆ ก็ยังสะท้อนอยู่ในบรรดาตัวการ์ตูนและลายเส้นที่เราคุ้นเคยทั้งหลายด้วย พิมพ์พิชายังเสริมว่า หลายแก๊กตลกที่ถูกเล่าซ้ำๆ ในขายหัวเราะ ที่เรียกกันว่า “แก๊กคลาสสิก” อย่างแก๊กโจรมุมตึก แก๊กล้อความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่วาดภาพให้ภรรยามักมีนิสัยชอบดุสามี หรือพฤติกรรมการท้าทายของสามีแบบ “พ่อบ้านใจกล้า” รวมไปถึงแก๊กติดเกาะ เหล่านี้ได้กลายเป็นภาพจำของผู้คนที่มีต่อการ์ตูนขายหัวเราะมายาวนาน
อาทิเช่น การที่ผู้คนตั้งชื่อเล่นให้เกาะกระดาด สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดตราด ว่า “เกาะขายหัวเราะ” เพราะตัวเกาะเป็นโขดหินโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำเพียงเล็กน้อย และมีต้นไม้ต้นหนึ่งโตอย่างโดดเดี่ยว หน้าตาคล้ายกับเกาะที่ปรากฏอยู่ในการ์ตูน ตัวอย่างเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า การ์ตูนขายหัวเราะได้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของหลายคน และมีส่วนช่วยสร้างความหมาย ประสบการณ์ และภาพจำหลายอย่างในสังคมไทย ไม่เพียงแต่สะท้อนเรื่องราวรอบ ๆ ตัวเพียงด้านเดียว
——
อะไรบ้างที่น่าขำ
เกาะร้าง โจรมุมตึก เทวดาประจำต้นไม้ ยมบาล หมอผี และหม้อแม่นาค ภรรยาขี้บ่น ฯลฯ แก๊กตลกหลายต่อหลายแก๊กที่ถูกนำมาใช้ซ้ำ ๆ ได้กลายเป็นภาพจำของผู้อ่านต่อการ์ตูนขายหัวเราะ โดยมีกลเม็ดของผู้เขียนคือการบิดรายละเอียดปลีกย่อยไปมา แต่ยังคงองค์ประกอบหลักของแก๊กที่ผู้อ่านสามารถเดาได้ว่า เปิดแล้วจะเจออะไรในขายหัวเราะและการ์ตูนในเครือแต่ละเล่ม
หลายครั้งแก๊กพื้นฐานเหล่านี้ก็จะถูกนำมาใช้ล้อเหตุการณ์ในสังคมในช่วงเวลานั้น ๆ หรือนำมาผูกเรื่องราวเข้ากับวัฒนธรรมและค่านิยมสังคมที่สะท้อนจากทัศนะของผู้เขียนในมุมมองที่ขบขัน พิมพ์พิชากล่าวว่า เป็นความเชื่อหนึ่งของการ์ตูนขายหัวเราะ คือการหาแง่งามในสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะในยามวิกฤต
“ขายหัวเราะเชื่อว่า อารมณ์ขันเป็นเรื่องของมุมมองค่ะ” พิมพ์พิชาว่า
“เราเชื่อว่าการมองโลกในแง่ดีการหัวเราะได้แม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากเป็นทักษะหนึ่งที่ช่วยให้ผู้คนต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆในชีวิตได้
“เสียงหัวเราะทำให้แต่ละคนจัดการปัญหาได้อย่างมีวุฒิภาวะซึ่งขายหัวเราะเองก็ภูมิใจเสมอที่เราได้มอบรอยยิ้มให้กับแฟนๆและที่สำคัญคือได้มอบพลังบวกซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากๆที่ทำให้ผู้คนได้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้สามารถพลิกเรื่องขมขื่นให้เป็นเรื่องขบขันได้และมีกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไปทุกวัน”
เหมือนที่เราได้เห็นนักเขียนนำเรื่องราวรอบ ๆ ตัว ที่ไม่ใช่เพียงเหตุการณ์ทั่ว ๆ ไป แต่รวมถึงปัญหา อุปสรรคในชีวิต ความไม่สวยงามในเมือง ความเครียด และการต่อสู้ดิ้นรนแบบต่าง ๆ ที่ผู้คนประสบร่วมกันมาเล่าเป็นเรื่องขำ หากนอกจากนั้นในแง่หนึ่งการ์ตูนตลกก็เป็นเครื่องมือสำคัญในหลายวัฒนธรรมที่มนุษย์เราใช้ปลดปล่อยตัวเองออกจากความเครียด ไปจนถึงล้อสิ่งที่กดทับ หรือสิ่งที่ผู้คนไม่สามารถควบคุมได้ ผ่อนคลายเรื่องน่าขมขื่นให้เบาบางลง ให้กลายเป็นสิ่งไร้สาระ หรือใช้ลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจบางอย่างลงเสมอ ๆ
สิ่งที่น่าสนใจคือในวิถีชีวิตรอบ ๆ บ้าน รอบ ๆ สวนของเรา มีเรื่องอะไรบ้างที่น่าหัวเราะ หรือเรา ๆ หัวเราะให้กับเรื่องอะไรบ้างในชีวิต คำถามนี้ขายหัวเราะ (และวารสารการ์ตูนขำขันทั้งหมดในเครือ) อาจมีคำตอบ